‘การใช้จ่าย-ลงทุนรัฐ’ ฉุด GDP เหลือ 2.5%
เศรษฐกิจไทยวิกฤติจริงหรือไม่? หลังสภาพัฒน์เผยจีดีพีไตรมาส 3 เติบโต 1.5% ต่ำกว่าคาด ขณะที่ไส้ในการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนยังขยายตัวแกร่ง คุยกับ ดร.เชาว์ เก่งชน ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
เศรษฐกิจไทยวิกฤติจริงหรือไม่? หลังสภาพัฒน์เผยจีดีพีไตรมาส 3 เติบโต 1.5% ต่ำกว่าคาด ขณะที่ไส้ในการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนยังขยายตัวแกร่ง คุยกับดร.เชาว์ เก่งชน ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
เศรษฐกิจไทยไตรมาสที่ 3/2566 ขยายตัวต่ำกว่าคาดที่ 1.5% YoY ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ปรับมุมมองทั้งปี 2566 ลงมาอยู่ที่ 2.5%
เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3/2566 ขยายตัวต่ำกว่าคาดที่ 1.5% YoY ส่งผลให้รวม 9 เดือนแรกของปีเศรษฐกิจไทยขยายตัว 1.9% YoY ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2566 มาอยู่ที่ 2.5% YoY ลดลงจากที่ประมาณการไว้ก่อนหน้าที่ 3.0%
ทั้งนี้ ทิศทางเศรษฐกิจไทยในไตรมาสสุดท้ายของปี 2566 คาดว่าจะได้รับแรงขับเคลื่อนจากฤดูกาลท่องเที่ยวเป็นหลัก ขณะที่ มาตรการบรรเทาค่าครองชีพจากทางภาครัฐคงจะช่วยหนุนการบริโภคในประเทศให้ยังขยายตัวต่อเนื่อง อีกทั้ง การส่งออกไทยคาดว่าจะขยายตัวเป็นบวกตามฐานที่ต่ำในปีก่อนหน้า แม้จะยังเผชิญปัจจัยท้าทายจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก อย่างไรก็ตาม การใช้จ่ายและการลงทุนของภาครัฐคาดว่าจะยังเป็นปัจจัยฉุดรั้งการเติบโตของเศรษฐกิจไทยต่อไปตามการใช้จ่ายด้านสาธารณสุขที่ลดลง และความล่าช้าในการจัดทำงบประมาณปี 2567
สำหรับทิศทางเศรษฐกิจไทยในปี 2567 มีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวในอัตราที่เร่งขึ้นจากปี 2566 โดยมีการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยวเป็นปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญ แม้แรงส่งจะลดลงในปีหน้า นอกจากนี้ ภาคการส่งออกของไทยในปีหน้าก็คาดว่าจะกลับมาเติบโตได้ในแดนบวก โดยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยฐาน อีกทั้ง มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐซึ่งคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในปี 2567 ก็คงจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยหนุนการบริโภคภายในประเทศให้ยังขยายตัวได้ท่ามกลางค่าครองชีพและหนี้ครัวเรือนที่อยู่ระดับสูงที่กดดันกำลังซื้อของผู้บริโภค ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจะมีรายละเอียดประมาณการเศรษฐกิจปี 2567 ในงานแถลงข่าวประจำไตรมาสที่ 4 ปี 2566 ในวันอังคารที่ 12 ธันวาคม 2566 ต่อไป