แนะรัฐออกกฎ 'หนุน' พลังงานแห่งอนาคต!!

แนะรัฐออกกฎ 'หนุน' พลังงานแห่งอนาคต!!

วงเสวนา "CHANGE FOR CHANCE” ปรับ เปลี่ยน เพื่อไปต่อ สู่ยุคพลังงานแห่งอนาคต รวมแสดงความคิดเห็นการมีส่วนร่วมของของภาครัฐและเอกชนในการเปลี่ยนผ่านพลังงาน โดยตัวแทนภาครัฐยอมรับการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานของประเทศ เป็นความท้าทายอย่างมากในด้านการวางนโยบาย

นายสมชาย มีเสน รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท เนชั่น กรุ๊ป (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) กล่าวในงานเสวนา “Enable Everyone’s Engagement in Energy Transition”  หรือการมีส่วนร่วมของทุกคนในการเปลี่ยนผ่านพลังงาน ที่กลุ่ม ปตท. ร่วมกับ กลุ่มอุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยจัดขึ้น ในการสัมมนา “2023 The Annual Petroleum Outlook Forum” ภายใต้หัวข้อ “CHANGE FOR CHANCE” ปรับ เปลี่ยน เพื่อไปต่อ สู่ยุคพลังงานแห่งอนาคต

โดยมองว่า ปัญหาด้านพลังงาน และโลกร้อนที่เกิดขึ้น เป็นเรื่องของผู้มีฐานะ คือ นายทุน และภาครัฐ ที่ทำให้เกิดปัญหาโลกร้อน ซึ่งถือเป็นคนกลุ่มน้อย แต่กลับมีผลทำให้คนกลุ่มใหญ่ หรือ ภาคประชาชนทั้งหมด ได้รับผลกระทบไปด้วย

ซึ่งเชื่อว่า คนส่วนใหญ่ของประเทศ  ไม่ได้ให้ความสนใจต่อเรื่องดังกล่าวมากนัก เพราะชาวบ้าน คิดเพียงว่า เย็นนี้จะทานอะไร หรือจะมีเงินให้ลูกไปโรงเรียนหรือไม่ หรือคิดเพื่อความอยู่รอด ไม่มีเวลาเหลือพอไปคิดเรื่องของสิ่งแวดล้อม

โดยนายสมชาย ได้ยกกรณีตัวอย่างยอดขายรถ EV ในประเทศไทย ที่รัฐบาลออกมาตรการต่างๆมากมายเพื่อให้การสนับสนุน  จนทำให้ยอดขายรถ EV ในประเทศไทยมีที่สูง เพราะมีส่วนลดมาจูงใจการซื้อ  ซึ่งตนเองมองว่า ผู้ที่ให้ความสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อม ส่วนใหญ่เป็นผู้มีฐานะ ไม่ได้มีเงินเดือนเข้าเกณฑ์ขั้นต่ำ 70,000 บาท หรือมีเงินฝากในบัญชีเกิน 500,000 บาท ที่จะมีสิทธิได้รับเงินดิจิทัล 10,000 บาท ตามเกณฑ์ของรัฐบาล ส่วนคนที่มีรายได้น้อยส่วนหนึ่ง ก็ยังยอมที่จะขับรถคันเก่า แม้จะปล่อยก๊าซเรือนกระจกมาก ก็ไม่เป็นไร ขอแค่ให้มีรถใช้ทำมาหากิน หรือมีรถไปส่งลูกที่โรงเรียนก็พอ

นอกจากนี้ยังมองว่า “การกำหนดราคา” ของภาครัฐ จะเป็นตัวกำหนดทิศทางการเปลี่ยนแปลงด้านพลังงาน  ดังนั้นภาครัฐ ควรมีมาตรการสนับสนุน และตอบโจทย์ที่ประชาชนรับได้ เพราะ ราคา เป็นตัวกำหนดทุกอย่าง ทั้งการเปลี่ยนผ่าน และเกี่ยวข้องกับนโยบายทางการเมือง เพื่อรักษาฐานเสียงของนักการเมืองด้วย

พร้อมเห็นว่า ภาครัฐ และภาคเอกชน ต้องเอาจริงเอาจัง และบริหารให้เหมาะสม เพราะนโยบายทางการเมืองของภาครัฐ เช่น การกดราคา หรือการบิดเบือนราคา จะเปลี่ยนไปตามระบบการเมือง เช่น ราคาค่าไฟ จนอาจกระทบต่อภาคการผลิตได้ ดังนั้น ภาครัฐ จะต้องเอื้อให้ภาคเอกชนเดินได้ ไม่ใช่แค่ประชานิยม และภาคเอกชน ก็ไม่ควรแสวงหากำไรมากจนเกินไป แต่ควรสร้างความเข้าใจ ให้เกิดกับภาคประชาชนด้วย

 

ภาคอุตฯ ปรับตัวรับกติกาโลก

ด้าน นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ยอมรับว่า  ปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นปัญหาใหญ่ของโลก จนประเทศไทยมีการตั้งเป้าหมายภายในปี 2050 จะเป็นประเทศที่เป็นกลางทางคาร์บอน และในปี 2065 จะเป็น Net Zero

ซึ่งถือเป็นเป้าหมายที่ท้าทายของไทยที่จะต้องทำให้ได้ เพราะผลกระทบที่จะเกิดขึ้นที่ผ่านมานั้น ภาคอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบมากจากความท้าทายต่าง ๆ ทั้งการเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัล, ภูมิรัฐศาสตร์ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สังคมสูงอายุ การปรับขึ้นค่าแรง จนทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทุกด้าน และทำให้เสียความสามารถในการแข่งขัน

แต่ภาคอุตสาหกรรม ก็ได้ปรับตัวจากการใช้แรงงาน มาเป็นการใช้หุ่นยนต์ เพื่อให้เกิดกำไรสูงสุด และยังต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมด้วย โดยพึ่งพาแรงงานฝีมือให้มาก แต่ก็ไม่ได้เป็นการการันตีว่า การปรับตัวทั้งหมด จะทำให้อยู่รอดได้ และการเตรียมการเหล่านี้ เพื่อไปสู่อุตสาหกรรมธุรกิจในอนาคต

ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ยังยืนยันว่า สภาอุตสาหกรรม ให้ความสำคัญอย่างต่อเนื่องกับเรื่องของพลังงานและสิ่งแวดล้อม  แต่กังวลว่า ยังจะต้องมีการให้ความรู้ให้กับผู้ประกอบการมากขึ้น เพราะที่ผ่านมา ผู้ประกอบการให้ความสำคัญเพียงว่า จะผลิตอย่างไรให้ราคาถูก คุณภาพดี และเป็นไปตามแบบให้สามารถขายได้ แต่ไม่ทราบว่า กระบวนการนั้น มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซเท่าใด ดังนั้น จึงจะต้องมีการให้ความรู้ และเพื่อให้เป็นไปตามกติกาใหม่ของโลก

เพราะในอนาคตหากไม่มีการเปลี่ยนแปลง ก็อาจจะถูกกีดกันทางการค้าได้  ซึ่งประเทศไทย ยังต้องพึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก  จึงจำเป็นจะต้องพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส โดยความร่วมมือกับทุกภาคส่วน และมั่นใจว่า ในภูมิภาคนี้ ประเทศไทย ยังมีโอกาสอยู่

ขณะที่นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท
ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน กล่าวว่าวันนี้ประเทศไทยกำลังจะเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน ซึ่งนโยบายด้านพลังงานของประเทศเป็นความท้าทายมาก จากเดิมที่เราใช้พลังงานฟอสซิลมาตลอด แต่วันนี้เราถูกท้าทายด้วยเรื่องของสิ่งแวดล้อม ที่ต้องเป็นมิตรอย่างยั่งยืน มีความมั่นคงด้านพลังงานจัดหาอย่างเพียงพอต่อความต้องการ ราคาเหมาะสม ไม่เป็นภาระกับประชาชน

ซึ่งต้องยอมรับว่ามีความยากลำบากในการวางแผนนโยบายพลังงานของประเทศ แต่ก็มีความท้าทาย และมองเป็นโอกาส

โดยกรอบแผนพลังงานชาติตามที่ กพช.ได้พิจารณาเห็นชอบเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2564 มีเป้าหมายให้ไทยมุ่งสู่พลังงานสะอาด ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์

ปัจจุบันกระทรวงพลังงานได้วางแนวนโยบายและมาตรการเพื่อมุ่งสู่การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน ทั้งในเรื่องของไฟฟ้า น้ำมัน รวมถึงเทคโนโลยีพลังงานในอนาคต

โดยตั้งแต่ปีหน้าเป็นต้นไป ภาครัฐก็จะมีนโยบายกระตุ้นเรื่องของรถยนต์ไฟฟ้า ส่งเสริมผู้ผลิตจากต่างประเทศเข้ามาในเรื่องของแบตเตอรี่ และการส่งเสริมการใช้พลังงานไฮโดรเจนในภาคการผลิตไฟฟ้า อุตสาหกรรม และขนส่ง