3 แนวทาง ปิดสัญญา ‘บีทีเอส’ 30 ปี จับตาประมูลใหม่ สัมปทานสายสีเขียว

3 แนวทาง ปิดสัญญา ‘บีทีเอส’ 30 ปี จับตาประมูลใหม่ สัมปทานสายสีเขียว

เปิด 3 แนวทาง สางปัญหาหนี้ กทม.แลกสัมปทาน "รถไฟฟ้าสายสีเขียว" ปิดดีลเจรจาตามคำสั่ง คสช. พร้อมจับตาปี 2567 เริ่มกระบวนการเจรจาสัมปทานใหม่

การเจรจาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวนับเป็นเรื่องที่ดำเนินการมายาวนาน ตั้งแต่ 11 เม.ย.2562 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้มีคำสั่งตามมาตรา 44 ที่ 3/2562 เรื่อง การดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว เพื่อให้การเดินรถเป็นไปอย่างต่อเนื่องเป็นโครงข่ายเดียวกัน (Through Operation)

พร้อมสั่งการให้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นชุดหนึ่ง เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์การแบ่งปันผลประโยชน์จากค่าโดยสาร เจรจากับผู้รับสัมปทานรายเดิม และจัดทำร่างสัญญาร่วมลงทุน พร้อมทั้งแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินเป็นการโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว

นำมาสู่สำหรับการเจรจาระหว่างกรุงเทพมหานคร (กทม.) กระทรวงมหาดไทยกับเอกชนผู้รับสัมปทาน คือ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) เพื่อต่อสัญญาสัมปทานสายสีเขียวอีก 30 ปี แลกกับภาระหนี้ของ กทม.กว่า 7 หมื่นล้านบาท รวมทั้งมีข้อกำหนดอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวทั้งสายหลักและส่วนต่อขยายไม่เกิน 65 บาท

อย่างไรก็ดีการเจรจาตามคำสั่ง คสช.ปัจจุบันยังไม่เป็นผล ท่ามกลางการบริหารสัญญารถไฟฟ้าสายสีเขียวที่เอกชนดำเนินการอยู่ ในส่วนของสายหลัก ช่วงหมอชิต -อ่อนนุช และช่วงสถานีสนามกีฬาแห่งชาติ - สะพานตากสิน ซึ่งเริ่มต้นเดินรถตั้งแต่วันที่ 4 ธ.ค. 2542 สัญญากำลังจะสิ้นสุดระยะเวลา 30 ปี ในวันที่ 4 ธ.ค. 2572

แหล่งข่าวระบุว่า ขณะนี้ กทม. กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงคมนาคม ได้หารือถึงแนวทางแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับภาระหนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียว รวมไปถึงการกำหนดราคาค่าโดยสารช่วงส่วนต่อขยายของโครงการดังกล่าว เพื่อให้ทุกฝ่ายได้รับผลกระทบกับเรื่องนี้น้อยที่สุด และไม่เป็นภาระต่อค่าครองชีพของประชาชนเพิ่มเติม

โดยขณะนี้มี 3 แนวทางที่จะแก้ไขปัญหารถไฟฟ้าสายสีเขียว ประกอบด้วย

1. รัฐเคลียร์หนี้ค่างานโยธา

กทม.อยู่ระหว่างยื่นเสนอกระทรวงมหาดไทย เพื่อพิจารณาขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ขอรับการสนับสนุนงานโยธาส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงแบริ่ง - สมุทรปราการ และช่วงหมอชิต – สะพานใหม่ - คูคต เพื่อลดภาระต้นทุนทางการเงินของ กทม.

2. ใช้เงินสะสมจ่ายขาดชำระค่าจ้างเดินรถ

กทม.อยู่ระหว่างเสนอกระทรวงมหาดไทยเพื่อพิจารณาขอใช้เงินสะสมจ่ายขาดที่มีอยู่ราว 5 หมื่นล้านบาท มาชำระค่าจ้างการติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณ (E&M) ของรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 2 ครบกำหนดชำระประมาณ 2.3 หมื่นล้านบาท

3. จัดเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยาย 2

กทม.อยู่ระหว่างดำเนินการตามขั้นตอนเพื่อขอออกประกาศจัดเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงแบริ่ง - สมุทรปราการ และช่วงหมอชิต – สะพานใหม่ - คูคต อัตรา 15 บาทตลอดสาย ในช่วงกลางเดือน ม.ค.2567

แหล่งข่าวกล่าวด้วยว่า หาก กทม.สามารถดำเนินการแก้ไขปัญหาภาระหนี้สินในโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวตามที่ระบุข้างต้น ประกอบกับมีการเริ่มจัดเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยาย 2 ในอัตรา 15 บาทตลอดสาย จะส่งผลให้การพิจารณาแลกสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวกับภาระหนี้ที่ กทม.มีกับเอกชน ไม่ตรงตามเงื่อนไขที่ คสช.ระบุไว้

เนื่องจากภาระหนี้สินจะลดลงอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับเมื่อโครงการส่วนต่อขยายเริ่มจัดเก็บค่าโดยสารในอัตรา 15 บาทตลอดสาย ซึ่งหากรวมกับราคาค่าโดยสารในสายหลักช่วงหมอชิต -อ่อนนุช และช่วงสถานีสนามกีฬาแห่งชาติ - สะพานตากสิน ที่มีสูงสุดประมาณ 47 บาท ก็จะพบว่าอัตราเฉลี่ยค่าโดยสารของการเดินทางจะสูงสุดราว 62 บาท ไม่ต่างไปจากเงื่อนไขแลกสัมปทานเพื่อทำราคาค่าโดยสาร 65 บาทตลอดสาย

ดังนั้นอาจไม่มีความจำเป็นในการเจรจาขยายสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว เพื่อแลกกับหนี้สินของ กทม.และเพื่อประโยชน์ต่อการทำราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวทั้งระบบให้อยู่ที่ 65 บาทตลอดสาย ประกอบกับในปี 2567 สัญญาสัมปทานบริหารรถไฟฟ้าสายสีเขียวสายหลักจะมีอายุเหลือราว 5 ปี ซึ่งเข้าเงื่อนไขให้สามารถเจรจาสัญญาสัมปทานใหม่