‘เศรษฐา’ พา ‘Tesla’ทัวร์ไทย ดูความพร้อมตั้งโรงงาน - ร่วมเทศกาลลอยกระทง
"เศรษฐา" เปิดใจบทบาทนายกฯขับเคลื่อนบทบาทไทยบนเวทีโลก พร้อมดึงบริษัทยักษ์ใหญ่ลงทุนไทย เผยเบอร์ 2 เทสลาเตรียมเยือนไทย พาดูพื้นที่ความพร้อมตั้งโรงงานEV พร้อมพาร่วมเทศกาลลอยกระทงที่เชียงใหม่ สัมผัสประเพณีไทย ย้ำประเทศพร้อมรับคลื่นการลงทุนจากทั่วโลก
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ให้สัมภาษณ์พิเศษรายการ “เนชั่นอินไซต์” ในประเด็นเกี่ยวกับการดึงลงการลงทุนจากต่างชาติตอนหนึ่งว่าในระยะเวลาที่เป็นนายกรัฐมนตรีมาตั้งแต่วันที่ 11 ก.ย.2566 ได้ให้ความสำคัญกับบทบาทของประเทศไทยในเวทีโลก โดยเน้นที่การสานความสัมพันธ์กับต่างประเทศ เพราะการประชุมรอบนี้มีประเทศเข้าร่วมหารือกันหว่า 21 ประเทศที่เป็นชาติมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ ทั้ง ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ของจีน และ ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ ถือว่าเป็นการเดินทางไปเชื่อมสัมพันธไมตรีระหว่างผู้นำของทุกประเทศ ถือเป็นหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีที่จะต้องเดินทางไปเข้าร่วมการประชุม โดยการเดินทางไปครั้งนี้ ถือว่าเป็นการเดินทางไปสานความสัมพันธ์ต่อจากรัฐบาลที่แล้ว พร้อมทั้งนำเสนอเกี่ยวกับนโยบายเศรษฐกิจสำคัญ BCG โมเดล โดยรัฐบาลยืนยันเจตนารมณ์ในการขับเคลื่อนอย่างชัดเจน
“ผมได้เข้ามาสานต่อเจตนารมณ์ และทำให้เห็นจุดยืนของประเทศไทยมีความเป็นกลาง เราเป็นประเทศไม่ใหญ่ แต่มีความภาคภูมิใจในความเป็นประเทศไทย เข้าใจจุดแข็งของประเทศไทย โดยที่ผ่านมาได้เจอกับประธานาธิบดีโจ ไบเดน มาก่อนหน้านี้แล้วในช่วงการประชุมยูเอ็นจีเอ เมื่อเดือนกันยายน ที่ผ่านมา รวมทั้งเจอประธานาธิบดี สี จิ้นผิง เพื่อทำทวิภาคีแล้ว โดยการเดินทางไปครั้งนี้เราไม่ได้เป็นคู่แข่ง แต่เราทำตัวพอประมาณของเรา เพราะเราก็เป็นคู่ค้าของเขา อย่างนี้เขาก็สบายใจ โดยที่ไม่มีความรู้สึกว่าเราไปท้าทายตำแหน่งของเขา ทำให้เขาสบายใจที่จะคุยกับเรา และบรรยากาศต่าง ๆ ก็ดูเป็นมิตรอย่างยิ่ง”
เร่งเจรจาบริษัทยักษ์ใหญ่ดึงลงทุน
นอกจากนั้นในการทำงานของรัฐบาลให้ความสำคัญกับการการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งเชื่อว่าประเทศไทยประสบความสำเร็จในเรื่องนี้ได้อย่างแน่นอนโดยรัฐบาลได้เน้นการเจรจาการค้ากับผู้นำประเทศเศรษฐกิจหลัก และภาคธุรกิจที่สำคัญ โดยเฉพาะบริษัทใหญ่ของโลก เช่นอะเมซอน เว็บ เซอร์วิส (Amazon Web Services) หรือ “AWS” Microsoft และ Google รวมทั้งบริษัทที่เริ่มต้นการเจรจาก็อีกหลายบริษัท
เช่นเดียวกับหาช่องทางการเข้าไปสานสัมพันธ์กับบริษัทรายใหญ่ โดยยอมรับว่าตั้งแต่รัฐบาลใหม่เข้ามาทำงานผ่านไป 2 เดือนกว่า ก็ได้เดินทางไปต่างประเทศต่อเนื่อง ซึ่งนักธุรกิจทั่วโลกก็ได้รับรู้ว่าประเทศไทยเปิดต้อนรับนักธุรกิจแล้ว และยืนยันว่า ไม่มีเวลาไหนที่เหมาะสมจะเข้ามาลงทุนดีกว่าช่วงเวลานี้แล้ว
นายเศรษฐากล่าวด้วยว่าหนึ่งในบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านรถยนต์ไฟฟ้าของโลกคือบริษัท เทสลา (Tesla) บริษัทยานยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่ของสหรัฐอเมริกา มีความพร้อมเข้ามาลงทุนในประเทศไทยเป็นเงินลงทุนมากกว่า 5,000 ล้านดอลลาร์ ทั้งนี้ผู้บริหารระดับสูงที่เป็นผู้บริหารเบอร์ 2 ที่ดูแลเรื่องการลงทุนของ Tesla โดยตรงจะเข้ามาดูทำเลที่ตั้งของโรงงานในประเทศไทย และพร้อมเข้ามาลงทุนอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ไฟฟ้าประมาณ 3 ประเภทด้วยกัน
ทั้งนี้สิ่งสำคัญรัฐบาลไม่อยากให้การเข้ามาลงทุนในไทยนั้นก็ไม่ได้ต้องการแค่คุยด้านธุรกิจเพียงอย่างเดียว แต่ต้องการให้นักธุรกิจเห็นถึงประเพณีและวัฒนธรรมของไทยควบคู่ไปด้วย โดยจะเชิญให้เขาไปดูเทศกาลงานประเพณีเดือนยี่เป็ง ที่จังหวัดเชียงใหม่ด้วย เพื่อให้เขาเข้าใจเรื่องของวัฒนธรรมของไทย
“การดึงนักลงทุนต่างชาติเรื่องนี้ไม่ใช่แค่เรื่องธุรกิจ แต่เป็นส่วนเสริมที่สำคัญ เพราะไม่ใช่มาตรการทางภาษี หรือว่าพลังงานสะอาด การบริหารจัดการน้ำ หรือนิคมอุตสาหกรรม แต่เป็นเรื่องของคนของเขาเมื่อจะมาอยู่ที่นี่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการดูแลสุขภาพ โรงเรียนนานาชาติ วัฒนธรรมประเพณี ซึ่งเขาต้องซึมซาบและต้องมาใช้ชีวิตอยู่อย่างเป็นสุข เรื่องนี้ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ โดยประเทศไทยถือเป็นหมุดหมายสำคัญของบริษัท และเป็นศูนย์กลางของอาเซียนในด้านนี้ด้วย”
วางยุทธศาสตร์ลงทุนอุตฯเป้าหมาย
สำหรับยุทธศาสตร์ของรัฐบาลนั้น ได้ตั้งเป้าหมายสำคัญในการส่งเสริมอุตสาหกรรมสำคัญ ทั้ง ยานยนต์ฟ้า ดิจิทัล และเอไอ ซึ่งถือเป็นอุตสาหกรรมทันสมัย เพื่อให้คนไทยได้รับประโยชน์ในอนาคต โดยเชื่อว่า สภาพแวดล้อมของประเทศไทย รวมทั้งมาตรการทางด้านภาษี ผ่านการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8-15 ปี และพลังงานสะอาดที่เตรียมความพร้อมเอาไว้อย่างเต็มที่ จะเป็นจุดดึงดูดสำคัญให้นักลงทุนเข้ามาในประทศไทย และจุดแข็งที่สำคัญอีกอย่างของประเทศไทยปัจจุบันในสายตาของนักลงทุนทั่วโลกนั่นคือ ความมั่นคงทางด้านการเมือง
ตั้งเป้าสูงบทบาทเซลล์แมนประเทศ
ส่วนนโยบายนายกฯ ที่ตั้งใจว่าจะเป็นเซลล์แมนของประเทศไทยนั้น นายกฯ ยอมรับว่า เรื่องนี้รัฐบาลตั้งเป้าหมายไว้สูงและท้าทาย โดยจะเป็นเป้าหมายในการตั้งใจทำงานหนัก ซึ่งตอนนี้ยังเป็นช่วงของการเริ่มต้นและยังมีอีกหลายเรื่องต้องพยายามเร่งทำงานให้หนัก โดยตอนนี้ยังมีสิ่งที่รัฐบาลต้องเร่งแก้ไขหลายอย่าง เช่นการผลักดัน Ease of Doing Business ต้องง่าย สะดวก รวดเร็ว มีหลักนิติธรรมที่ชัดเจน และรัฐบาลเห็นว่าการแก้ปัญหาหลาย ๆ เรื่อง ณ ตอนนี้อะไรที่ทำได้ก่อนก็ต้องเร่งทำออกมา
ตัวอย่างที่สำคัญ นั่นคือ ปัจจุบันประเทศไทยกำลังเร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐานหลายประเภท ทั้งรถไฟทางคู่ และรถไฟความเร็วสูง โดยในส่วนของรถไฟความเร็วสูงนั้น ถือเป็นหนึ่งในเรื่องสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการทำการค้าระหว่างประเทศ แต่ที่ผ่านมาเกิดอุปสรรคบางอย่าง เช่น ช่วงรอยต่อระหว่างไทยไปสปป.ลาวนั้น ยังมีปัญหาการติดขัดในเรื่องของขั้นตอนขนถ่ายสินค้าผ่านแดน ทำให้เกิดอุปสรรคในการขนส่งสินค้าอย่างมาก จึงจำเป็นต้องแก้ไขแบบ ONE STOP SERVICE หรือ การให้บริการเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว มิฉะนั้นการขนส่งสินค้าไปยังประเทศปลายทางจะไม่เกิดประโยชน์แท้จริงแม้จะมีรถไฟความเร็วสูงเกิดขึ้นก็ตาม
“เชื่อว่าทุกรัฐบาลเห็นปัญหาเรื่องของการอำนวยความสะดวกให้ภาคธุรกิจ และพยายามแก้ไข ซึ่งรัฐบาลนี้ก็ไม่ต่างจากรัฐบาลอื่น แต่วิธีการแก้ไขของรัฐบาลอาจจะต่างจากรัฐบาลอื่น โดยอาจจะลองใช้การทดลองนำร่องการแก้ปัญหาก่อนที่ด่านหนองคาย ถ้าทำได้ก็ขยายไปที่อื่น โดยเฉพาะการลดขั้นตอนของเอกสารที่มีขั้นตอนมาก และทำให้การขนส่งสินค้าจากไทยไปจีนช้ามาก”
นายกฯ ยอมรับว่า ขณะนี้ได้มอบหมายทีมงานกลับมาโฟกัสและไล่งานต่าง ๆ ให้กระชับขึ้น และติดตามงานที่โฟกัสเอาไว้อย่างชัดเจน ซึ่งส่วนตัวเชื่อว่าข้าราชการไทยมีคุณภาพ และรักประเทศ อยากเห็นประเทศไทยพัฒนาต่อไปได้ ซึ่งบางเรื่องเมื่อนายกฯ มีความสนใจ ก็เชื่อว่าเขาจะมีกำลังใจในการขับเคลื่อนงานได้ ซึ่งที่ผ่านมายอมรับว่ารัฐบาลได้ทำงานในภาพกว้างก่อน เพื่อเก็บเกี่ยวข้องมูล ส่วนในเชิงลึกก็ค่อยมาลงในรายละเอียด โดยการตามงานทั้งหมดก็ได้มอบหมายทุกหน่วยงานช่วยกันโฟกัสเรื่องสำคัญ ๆ ของประเทศและผลักดันออกมาให้ได้โดยเร็ว