กลุ่มปตท. ผนึก แพน-เอเชีย ดันขนส่ง 'กัมพูชา-ไทย-จีน'
กลุ่ม ปตท. จับมือ "แพน-เอเชีย" เดินหน้าธุรกิจขนส่งทางราง "กัมพูชา-ไทย-จีน" เพิ่มขีดศักยภาพหนุ่นไทยเป็นฮับภาคขนส่ง
นายชาญศักดิ์ ชื่นชม รองกรรมการผู้จัดการใหญ่วิศวกรรมและโครงสร้างพื้นฐาน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และ ประธานกรรมการ บริษัท โกลบอล มัลติโมดัล โลจิสติกส์ จำกัด (GML) กล่าวถึงความร่วมมือระหว่าง GML บริษัทในกลุ่มปตท. กับกลุ่มพันธมิตรด้านการขนส่งบริษัท แพน-เอเชีย ซิลค์โรด ( PAN ASIA ) และผู้ประกอบการฝั่งกัมพูชา เพื่อเตรียมขนส่งสินค้าระหว่างประเทศกัมพูชา - ไทย ว่า เนื่องจากเส้นทางนี้มีการเปิดใช้แต่หยุดชะงักไปตั้งแต่ปี 2564 กลุ่ม ปตท. จึงได้เข้ามาดูว่าเกิดปัญหาอะไร
ทั้งนี้ เมื่อได้ศึกษา ก็พบว่าเส้นทางนี้มีศักยภาพมาก เนื่องจากปัจจุบันการขนส่งสินค้าจากไทยไปกัมพูชาใช้เส้นทางทะเลและทางรถเป็นหลัก เมื่อถึงฤดูฝนก็ไม่สามารถที่จะขนส่งได้เนื่องจากสภาพถนนทางฝั่งประเทศกัมพูชา จึงเห็นว่าเส้นทางการขนส่งด้วยรถไฟน่าจะเพิ่มประสิทธิภาพได้มากขึ้น
นอกจากนี้ ท่านนายกรัฐมนตรี และทางรัฐบาลทราบปัญหาดีแล้ว จากการที่ท่านได้มอบหมายและสั่งงานให้หน่วยงานราชการดำเนินการให้เรียบร้อย ทั้งเรื่องการตรวจคนเข้าเมือง ศุลกากรต่าง ๆ ทางปตท. ก็มั่นใจว่าแนวทางที่เราปรับปรุงระบบการขนส่งทางราง จะเสริมให้จังหวัดสระแก้วมีศักยภาพมากขึ้น ปตท. เชื่อว่าการตัดสินใจของรัฐบาลมีความชัดเจน และเห็นปัญหาชัดเจน ซึ่งหากเส้นทางนี้ประสบความสำเร็จจะเป็นส่วนหนึ่งของโครงข่ายระบบรางที่จะเชื่อมโยงการขนส่งทั้งภูมิภาคโดยมีไทยเป็นศูนย์กลางการขนส่ง
"จากเป้าหมายของรัฐบาลมั่นใจว่าประเทศไทยทำได้ด้วยการบริหารจัดการระบบที่มีอยู่เดิมให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น เช่น การจราจรข้ามแม่น้ำโขงระยะสั้น และขยายการลงทุนเท่าที่จำเป็น ส่วนฝ่ายรัฐแก้ไขระเบียบข้อจำกัดต่าง ๆ และเอกชนก็จะเข้ามาในส่วนที่ทำได้ หากเกิดการร่วมมือกันก็แน่นอนว่าจะไปได้ไกล"
ด้านนาย จู ซีจวิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท แพน-เอเชีย ซิลค์โรด และอดีตผู้บริหารระดับสูงการขนส่งของประเทศจีน กล่าวว่า ปัจจุบัน การขนส่งของจากกัมพูชาไปจีนใช้เวลาเยอะมาก แต่ถ้าขนส่งทางนี้จะเหลือ 4-5 วัน
เราก็ไปทดลองเกือบทุนเส้นทางของเมืองจีน และเราจะเซ็นสัญญากับ 5 มณฑล ครอบคลุมจำนวนประชากร 500 ล้านคน ซึ่งสามารถใช้ระบบการขนส่งทางรถไฟขนสินค้าเกษตรจากเมืองไทย- จีน นอกจากนี้เราจะขนส่งสินค้า กัมพูชามาประเทศไทย และใช้ไทยเป็นศูนย์กลางส่งไปจีนมากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ การขนส่งโดยระบบรางดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางขนส่งระบบราง ไทย-ลาว-จีน โดยเส้นทางสินค้าจากกัมพูชาจะถูกส่งมายังประเทศไทย รวมไปถึงสินค้าจากทางมาเลเซียเช่นกัน ผ่านระบบขนส่งรางของไทยเข้าไปยังชายแดนลาวและสู่ประเทศจีนได้ ซึ่งในปัจจุบัน การขนส่งไทยจากจีนโดยส่วนใหญ่จะใช้การขนส่งทางเรือ โดยขนสินค้าไปยังท่าเรือฝั่งตะวันออกและใช้ขนส่งทางบกของจีนขยายสินค้า ส่วนการขนส่งจากไทย-ลาว ก็ยังไม่เต็มศักยภาพเช่นกัน ซึ่งเป็นส่วนที่ต้องดำเนินการต่อไป