‘เศรษฐา’ คิกออฟแก้หนี้นอกระบบ ตั้งศูนย์แก้หนี้ฯทั่วประเทศ - ลงทะเบียน 1 ธ.ค.

‘เศรษฐา’ คิกออฟแก้หนี้นอกระบบ ตั้งศูนย์แก้หนี้ฯทั่วประเทศ - ลงทะเบียน 1 ธ.ค.

รัฐบาลประกาศแก้หนี้เป็นวาระแห่งชาติ ยกกฎหมาย 8 ฉบับ เปิดโต๊ะเจรจาเจ้าหนี้ – ลูกหนี้ นายกฯคิกออฟ เปิดศูนย์แก้หนี้นอกระบบทั่วประเทศ เปิดให้ประชาชนลงทะเบียน 1 ธ.ค.นี้ ตั้งกลไกติดตามรายงานความคืบหน้าทุก 15 วัน หวังสางปัญหาหนี้เรื้อรัง

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่าวันนี้ (28 พ.ย.) ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล รัฐบาลจะประกาศแนวทางการแก้หนี้นอกระบบ โดยนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลังจะเป็นประธานในการแถลงข่าวการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ โดยรัฐบาลจะประกาศเป็นวาระแห่งชาติ ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ และสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)

โดยขั้นตอนภายหลังจากที่นายกรัฐมนตรีประกาศการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ แล้วจะให้มีการดำเนินการผ่านกลไกของกระทรวงมหาดไทย โดยกระทรวงมหาดไทยเปิดระบบลงทะเบียนให้ลูกหนี้ขอรับความช่วยเหลือเพื่อแก้ไขหนี้นอกระบบตั้งแต่ 1 ธ.ค. 66 เป็นต้นไป ควบคู่กับการเปิดให้ลงทะเบียนขอความช่วยเหลือแก้หนี้นอกระบบที่ศูนย์อำนวยการแก้ไขหนี้นอกระบบทั่วประเทศ

 

ทั้งนี้ ในการให้ความช่วยเหลือกระทรวงมหาดไทยจะใช้กลไกทางปกครองและอำนาจตามกฎหมายที่มีในการช่วยไกล่เกลี่ย หากกรณีใดอยู่นอกเหนืออำนาจฝ่ายปกครอง จะรวบรวมข้อมูลเพื่อส่งต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป  

ผู้สื่อข่าวรายงานว่ากระทรวงมหาดไทยได้มีหนังสือด่วนที่สุดไปยังกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และคณะกรรมการหมู่บ้าน (กม.) ให้เฝ้าระวังสอดส่องบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่มีพฤติการณ์ เช่น นายทุนปล่อยเงินกู้นอกระบบ การทวงถามหนี้ โดยการข่มขู่ ใช้ความรุนแรง ฯลฯ โดยให้รายงานศูนย์ดำรงธรรมอำเภอเพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

รวมทั้งต้องมีการกวดขันธุรกิจทวงถามหนี้ ได้ดำเนินการจดทะเบียนการประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ตามพระราชบัญญัติ 2558 ให้มาลงทะเบียนตามกฎหมายกำหนด

เพื่อให้การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบเป็นไปด้วยความเรียบร้อย มีประสิทธิภาพ ตามนโยบายรัฐบาลที่ได้กำหนดให้การแก้ไขหนี้นอกระบบเป็นวาระแห่งชาติ กระทรวงมหาดไทยได้ให้ทุกจังหวัด อำเภอ และสำนักงานเขต ดำเนินการตั้ง “ศูนย์อำนวยการแก้ไขหนี้นอกระบบ" พร้อมกับประชาสัมพันธ์ให้ลูกหนี้นอกระบบที่มีความประสงค์ขอรับการช่วยเหลือ หรือให้ทางราชการแก้ไขปัญหา

โดยประชาชนสามารถลงทะเบียนด้วยตนเองที่เว็บไซต์ https://debt.dopa.go.th หากไม่สามารถดำเนินการได้เองทางระบบออนไลน์ดังกล่าว หรือสามารถเดินทางไปลงทะเบียนด้วยตนเอง กรณีอยู่ในพื้นที่อำเภอให้ลงทะเบียน ณ ที่ว่าการอำเภอ และหากอยู่ในกรุงเทพมหานคร ให้ลงทะเบียนที่สำนักงานเขตทุกแห่ง หรือผ่านช่องทางสายด่วนศูนย์ดำรงธรรม 1567 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

ส่วนมาตรการปราบปรามกำหนดดังนี้

1.กรณีพบกลุ่มบุคคลที่มีพฤติการณ์เป็นนายทุนปล่อยเงินกู้นอกระบบ หรือการเรียกดอกเบี้ยเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ให้ดำเนินการตามพฤติการณ์ที่กระทำความผิด ตามกฎหมาย เช่น ประมวลกฎหมายอาญา กฎหมายว่าด้วยการทวงถามหนี้ กฎหมายว่าด้วยการห้ามเรียกดอกเบี้ย เกินอัตรา รวมถึงกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง มอบหมายภารกิจให้ชุดปฏิบัติการพิเศษฝ่ายปกครองจังหวัด และชุดปฏิบัติการพิเศษฝ่ายปกครองอำเภอเป็นผู้ดำเนินการ

2.การบังคับใช้กฎหมายในการปราบปรามผู้ที่กระทำความผิดตามกฎหมาย ให้ประสานการปฏิบัติกับทุกหน่วยงานในพื้นที่ ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว และเป็นธรรม

สำหรับการรายงานผลให้จังหวัด/อำเภอที่ดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องร้องเรียนหรือดำเนินคดีเกี่ยวกับ ปัญหาหนี้นอกระบบ รายงานผลการดำเนินงานให้กรมการปกครองทราบทุกวันที่ 15 ของเดือน ผ่านระบบ การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบของกรมการปกครอง โดยเริ่มรายงานครั้งแรกในวันที่ 15 ธันวาคม 2566

กระทรวงมหาดไทยได้มีหนังสือแจ้งให้จังหวัด/อำเภอ จัดตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขปัญหา หนี้นอกระบบในระดับจังหวัดและอำเภอ และดำเนินการรับลงทะเบียนลูกหนี้นอกระบบ ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2566 ให้ลงทะเบียนด้วยตนเอง หรือลงทะเบียน ณ ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด ที่ว่าการอำเภอ และสำนักงานเขตทุกแห่ง รวมทั้งเร่งรัดให้ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดและศูนย์ดำรงธรรมอำเภอดำเนินการให้ความช่วยเหลือกับลูกหนี้นอกระบบ ที่ได้แจ้งเรื่องร้องเรียนไว้แล้ว โดยให้ดำเนินการแก้ไขปัญหาให้กับผู้ร้องให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว มาตรการช่วยเหลือ การรับลงทะเบียนลูกหนี้นอกระบบ กำหนดให้ลูกหนี้นอกระบบสามารถ ลงทะเบียนผ่านคิวอาร์โค้ด (QR Code) ตามที่กระทรวงมหาดไทยประชาสัมพันธ์

กรณีลูกหนี้นอกระบบที่ไม่สามารถดำเนินการเองได้ ในส่วนภูมิภาคให้ติดต่อที่ว่าการอำเภอ สำหรับกรุงเทพมหานครติดต่อสำนักงานเขต

ในการรับลงทะเบียนลูกหนี้นอกระบบที่มีความประสงค์รับการช่วยเหลือหรือให้ทางราชการดำเนินการแก้ไขปัญหา โดยกรมการปกครองจะดำเนินการให้ความช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนให้กับลูกหนี้นอกระบบ ที่ลงทะเบียนตามอำนาจหน้าที่ของกรมการปกครอง สำหรับรายชื่อลูกหนี้นอกระบบที่ไม่ได้รับการช่วยเหลือ จะรวบรวมนำข้อมูลให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนดมาตรการช่วยเหลือต่อไป และกำหนดระยะเวลาในการดำเนินการ ดังนี้

กระทรวงมหาดไทยมอบหมายให้อำเภอใช้กลไกการไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาททางแพ่งตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534  และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 61/1 และมาตรา 61/2 และพระราชกฤษฎีกากำหนดทุนทรัพย์การไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาททางแพ่งอื่น พ.ศ. 2565 ในการไกล่เกลี่ยหนี้นอกระบบ ส่วนในพื้นที่ กทม.ให้สำนักงานเขตทุกแห่งเป็นหน่วยรับลงทะเบียนลูกหนี้นอกระบบด้วย  

โดยกระทรวงมหาดไทยจะมีการประชุมมอบนโยบายการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบในวันศุกร์ที่ 8 ธันวาคม  ณ อิมแพ็ค อารีน่าเมืองทองธานี อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี

สำหรับข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการแก้หนี้นอกระบบได้แก่

  • พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534  และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 61/1 และมาตรา 61/2
  • พระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558
  •  พระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2560
  •  พระราชบัญญัติการเล่นแชร์ พ.ศ. 2534
  •  พระราชกำหนดการกู้ยืมเงินอันเป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527  
  • พระราชกฤษฎีกากำหนดทุนทรัพย์การไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาททางแพ่งอื่น พ.ศ. 2565
  • คำสั่งกระทรวงมหาดไทย ที่ ๒๗๓๙/๒๕๖๖ ลงวันที่ ๒๒ กันยายน ๒๕๖๖ เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการป้องกันและปราบปรามผู้มีอิทธิพล