“ฉางอัน”บุกพาณิชย์โชว์ศักยภาพอีวี “ภูมิธรรม”ขอหนุนคน-โนว์ฮาวในไทย
“ภูมิธรรม” หารือประธานฉางอัน ออโตโมบิล ดึงหนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าไทยทั้งระบบ หวังร่วมสร้างคนถ่ายทอดองค์ความรู้ ขณะเจโทร ขอบคุณไทยหนุนอุตฯยานยนต์ญี่ปั่นโตต่อเรื่องแม้ดัชนีแนวโน้มเศรษฐกิจร่วมเหตุส่งออกดิ่ง
นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการหารือกับนายจรู ฮวาหลง ประธานบริษัทฉางอัน ออโตโมบิล และคณะ ที่กระทรวงพาณิชย์วานนี้( 27 พ.ย.2566) ว่า กระทรวงพาณิชย์ชื่นชมในการเติบโตและความสำเร็จของฉางอัน ออโตโมบิล ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทยานยนต์ยักษ์ใหญ่ของจีน ที่มีความเชี่ยวชาญในกระบวนการทำงานด้านต่าง ๆ
ทั้งการวิจัยและพัฒนารถยนต์ รวมถึงทุกขั้นตอนในการทดสอบและตรวจสอบคุณภาพรถยนต์ รวมถึงได้ก่อตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนา 10 แห่ง ในกว่า 6 ประเทศ ในจีน อิตาลี ญี่ปุ่น อังกฤษ สหรัฐ และเยอรมนี พร้อมร่วมมือกับแบรนด์รถยนต์ชื่อดังของโลกหลายแบรนด์ เช่น Ford / Mazda / Suzuki และ Peugeot เป็นต้น
“แสดงความยินดีที่โครงการลงทุนของฉางอัน ออโตโมบิล ได้รับการอนุมัติจาก BOI: คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน เมื่อเดือนต.ค. 2566 ที่ผ่านมา นับเป็นการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศครั้งสำคัญของไทยในปี 2566 และเป็นโครงการลงทุนครั้งใหญ่โครงการแรกนอกประเทศจีนของฉางอัน ออโตโมบิล”
สำหรับเป้าหมายการลงทุนว่าด้วยการผลิตและการพัฒนาในภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง อาทิ เทคโนโลยี สิ่งแวดล้อม ทรัพยากรมนุษย์ ห่วงโซ่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า โดยบริษัทจะพัฒนาโรงงานผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อีสเทิร์น ซีบอร์ด 4 จังหวัดระยอง บนพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) คาดว่าจะสร้างรายได้กว่า 24,000 ล้านบาท และเกิดการจ้างงานกว่า 2,600 อัตรา
กางแผนลงทุนพัฒนาทั้งห่วงโซ่อุปทาน
แบ่งเป็นการลงทุนในไทยเพื่อผลิตรถยนต์ไฟฟ้า EV (Electric Vehicleคือยานพาหนะที่ขับเคลื่อนโดยมอเตอร์ไฟฟ้า), PHEV(รถยนต์ไฟฟ้าแบบปลั๊กอินที่ใช้พลังงานจากมอเตอร์ไฟฟ้าทำงานร่วมกับเครื่องยนต์สันดาปภายใน), REEV (ยานยนต์แบบผสมขยายระยะ)และแบตเตอรี่ เป็นการรวมหน่วยงานวิจัยและพัฒนา การผลิต การสนับสนุนชิ้นส่วน การจำหน่าย และการจัดส่งเอาไว้ในที่เดียวกัน
" การลงทุนดังกล่าวจะช่วยสนับสนุนห่วงโซ่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของไทย เป็นประโยชน์ทั้งด้านเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ดีของทั้ง 2 ประเทศ ตลอดจนสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการรักษาสิ่งแวดล้อมร่วมกัน และเป็นการสร้างงาน สร้างรายได้ให้คนไทย ให้ไทยเป็นฐานการผลิตต่อไป ถ้ามีสิ่งใดที่รัฐบาล และกระทรวงพาณิชย์ช่วยสนับสนุน เพื่อการเจริญเติบโตของทั้ง 2 ประเทศได้ก็ยินดี”
นายภูมิธรรม กล่าวอีกว่า ได้เสนอแนะให้บริษัทพิจารณาใน 3 เรื่อง 1.สนับสนุนการพัฒนาและวิจัย การผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์ยานยนต์ที่เป็น OEM (Original Equipment Manufacturer) 2.ส่งเสริมการยกระดับความเชื่อมโยงของอุตสาหกรรมต้นน้ำถึงปลายน้ำ (Supply Chain Management) และ3.ส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรด้านวิศวกรรมยานยนต์ไทย ให้แรงงานไทยที่มีศักยภาพได้เรียนรู้ถ่ายทอดเทคโนโลยีซึ่งจะเป็นประโยชน์กับ 2 ประเทศ
ผลิตทุกขั้นตอนในไทยปีละ1 แสนตัน
โดยฉางอันมีเป้าหมายการลงทุนในไทย ประกอบด้วยบริษัทที่ดูแลการจำหน่าย โรงงานผลิตในประเทศ และผลิตชิ้นส่วนในประเทศ ที่ครอบคลุมทุกขั้นตอนการผลิต ตั้งแต่งานตัวถัง งานพ่นสี งานประกอบชิ้นส่วนเทคโนโลยีต่าง ๆ งานตรวจสอบคุณภาพอย่างละเอียด จนกลายเป็นรถยนต์ที่สมบูรณ์แบบ โดยวางกำลังการผลิตในระยะแรก 100,000 คันต่อปี เพื่อรองรับตลาดในประเทศ และส่งออกไปยังอาเซียน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อังกฤษ และแอฟริกาใต้
รายงานข่าวแจ้วว่า เมื่อ24 พ.ย.2566 นายคุโรดะ จุน ประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น ณ กรุงเทพฯ (Japan External Trade Organization - JETRO Bangkok) เข้าเยี่ยมคารวะนายภูมิธรรม เพื่อหารือเกี่ยวกับรายงานผลการสำรวจแนวโน้มทางเศรษฐกิจของบริษัทร่วมทุนญี่ปุ่นในไทย ว่าค่าดัชนีแนวโน้มเศรษฐกิจ (DI) ในช่วงครึ่งหลังของปี พ.ศ. 2566 ได้ปรับตัวลดลงเนื่องด้วยปัจจัยต่าง ๆ อาทิ อุปสงค์การส่งออกที่อ่อนแอ ราคาวัตถุดิบที่สูงขึ้น และการเปลี่ยนงานบ่อยครั้งของพนักงานในองค์กร เป็นต้น พร้อมทั้งเน้นย้ำถึงความเชื่อมั่นต่อการลงทุนในประเทศไทยของบริษัทญี่ปุ่นที่มีมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะด้านการผลิตของอุตสาหกรรมยานยนต์
ขอบคุณไทยไม่ทิ้งอุตฯยานยนต์ญี่ปุ่น
ส่วนประเด็นหารืออื่นๆ ได้แก่ สถานการณ์และทิศทางการค้าโลกเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งการปรับปรุงสภาพแวดล้อมสำหรับการค้าและการลงทุน อาทิ โครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง การสื่อสาร เทคโนโลยีดิจิทัล กฎระเบียบ พลังงานสีเขียว และการพัฒนาที่ยั่งยืนล้วนเป็นระเบียบโลกใหม่ที่ทุกฝ่ายเห็นพ้อง ซึ่งรัฐบาลไทยตระหนักดี รวมทั้งเตรียมพร้อมรับมืออย่างต่อเนื่อง และดำเนินการสร้างระบบแวดล้อม (Ecosystem) ให้สอดรับกับสถานการณ์ เปลี่ยนแปลงสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล เพื่อดึงดูดการค้าการลงทุน สร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันให้ประเทศไทย เพื่อให้ไทยเป็นฐานในภูมิภาค
โดยในตอนท้ายนายภูมิธรรมกล่าวขอบคุณ JETRO และหอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ (JCC) สำหรับข้อมูลการสำรวจ และการแลกเปลี่ยนข้อเสนอแนะ ส่วนเจโทรได้กล่าวขอบคุณรัฐบาลที่ได้ให้การสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ของญี่ปุ่นมาอย่างต่อเนื่อง และพร้อมร่วมเดินหน้าความร่วมมือ และแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เป็นประโยชน์อย่างใกล้ชิดกับรัฐบาลต่อไป