“กุ้งไทย”เร่งทวงคืนส่งออกตลาดหสรัฐ มุ่งแก้ 4โรครุมปี67ชี้ผลผลิต2.9แสนตัน
สมาคมกุ้งไทย ชี้ปี 66 ผลผลิตกุ้งทรงตัว 2.8 แสนตัน เป้าปีหน้า 2.9 แสนตัน ขณะแนวโน้มตลาดสหรัฐฟื้นหลัง4ประเทศผู้ผลิตถูกฟ้องทุ่มตลาดร้องรัฐ เร่งแก้ปัญหา 4 โรครุม เพิ่มอัตรารอด ลดต้นทุน ส่งเสริมตลาดภายใน
นายเอกพจน์ ยอดพินิจ นายกสมาคมกุ้งไทย เปิดเผยว่า สถานการณ์กุ้งของไทย ปี 2566 ผลผลิตกุ้งเลี้ยงโดยรวม อยู่ที่ 2.8 แสนตัน เท่ากับปีที่ผ่านมา เนื่องจากราคากุ้งตกต่ำ สวนทางต้นทุนที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้เกษตรกรบางส่วนชะลอการลงกุ้ง เพื่อรอดูสถานการณ์ รวมถึงปัญหาโรคและสภาพอากาศแปรปรวน พร้อมแนะเกษตรกรลดต้นทุน เพิ่มผลิตภาพการผลิต และส่งเสริมการตลาดภายในให้เข้มแข็ง เตรียมรับมือผลกระทบราคากุ้งตกต่ำทั่วโลก
ทั้งนี้ ผลผลิตกุ้งดังกล่าว แยกเป็นจากภาคใต้ตอนบน 33% จากภาคตะวันออก 25 % ภาคใต้ตอนล่างฝั่งอันดามัน 20% จากภาคกลาง 12 % ภาคใต้ตอนล่างฝั่งอ่าวไทย 10% ส่วนผลผลิตกุ้งทั่วโลกคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 5.07 ล้านตัน ลดลง 1% โดยจีนผลิตกุ้งได้เพิ่มขึ้นมาก เอกวาดอร์ เพิ่มขึ้นเล็กน้อย ต่ำกว่าที่คาด ขณะที่ประเทศทางเอเชีย ได้แก่ เวียดนาม อินเดีย อินโดนีเซียผลิตกุ้งลดลงทุกประเทศ คาดปี2567 ผลผลิตกุ้งโลกจะลดลงประมาณ 2%
ส่วนการส่งออกกุ้งเดือน ม.ค. – ต.ค. ปีนี้อยู่ที่ปริมาณ 109,663 ตัน มูลค่า 36,284 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2565 ที่ส่งออกปริมาณ 120,310 ตัน มูลค่า 42,341 ล้านบาท ปริมาณลดลง 9 %ส่วนมูลค่าลดลง 14 %
“เกษตรกรจำเป็นต้องปรับตัว ด้วยการลดต้นทุนให้ได้ ทั้งต้นทุนทางตรงและต้นทุนแฝง ที่เกิดจากความเสียหายจากโรค เพิ่มผลิตภาพการผลิต เพื่อให้สามารถแข่งขันได้ รวมถึงสร้างตลาดภายในให้เข้มแข็ง เพื่อเตรียมรับผลกระทบจากราคากุ้งตกต่ำในปีหน้า "
โดยภาครัฐและเอกชนต้องร่วมมือกันอย่างจริงจัง ในการพัฒนาระบบโลจิสติกส์เพื่อกระจายสินค้าที่คงคุณภาพความสดของกุ้งไทยไปถึงผู้บริโภค ทั้งชาวไทยและนักท่องเที่ยวคาดการณ์ผลผลิตปีหน้าเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ประมาณ 2.9 แสนตัน
นอกจากนี้ ปี 2567 กุ้งไทยมีโอกาสส่งออกไปสหรัฐมากขึ้น หลังประเทศผู้ผลิตกุ้งรายใหญ่ของโลก ทั้ง เอกวาดอร์ อินเดีย อินโดนีเซีย และเวียดนาม ถูกสหรัฐ เรียกสอบสวนการทุ่มตลาด (Anti-Dumping Duty : AD) การอุดหนุนการส่งออก (Countervailing Duty : CVD) เพื่อเรียกเก็บภาษีตอบโต้ คาดว่าจะมีผลิตในปีหน้า สถานการณ์ดังกล่าวจะก่อให้เกิดความเสี่ยงกับผู้นำเข้าของสหรัฐฯ ขณะที่ทั้ง 4 ประเทศข้างต้น ส่งออกไปยังตลาดอื่นทดแทน อาทิ จีน และญี่ปุ่น เพื่อลดความเสี่ยง ทำให้สหรัฐ หันมานำเข้ากุ้งจากไทยที่เป็นผู้ผลิตชั้นนำและผลิตกุ้งคุณภาพสูงมากขึ้น
โดยสมาคมผู้เลี้ยงกุ้งไทย ได้ส่งเสริมเกษตรกรจังหวัดสุราษฎร์ธานี นำร่องยกระดับการเลี้ยงกุ้งไทยสู่มาตรฐานสูงสุด คือ Aquaculture Stewardship Council (ASC) ซึ่งเป็นมาตรฐานที่สหรัฐ ใช้เป็นข้อกำหนดในการนำเข้ากุ้งจากต่างประเทศ
ทั้งนี้สมาคมกุ้งฯ ได้เรียกร้องให้รัฐบาลไทยเร่งเจรจากับสหภาพยุโรป (EU) ในการคืนสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) ให้กับสินค้ากุ้ง เนื่องจากปัจจุบันไทยส่งออกกุ้งไป EU ได้เพียง 900 ตันต่อปีเท่านั้น จากที่เคยส่งออกได้ 6หมื่นตันต่อปี ขณะเดียวกัน ยังขอให้สนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเพื่อแก้ปัญหาโรคระบาดในกุ้ง เช่น โรคกุ้งตายด่วน หรือกลุ่มอาการตายด่วน (Shrimp Early Mortality Syndrome : EMS) อาการขี้ขาว (White Feces Syndrome WFS) โรคตัวแดงดวงขาว (White Spot Disease : WSD) และโรคหัวเหลือง (Yellow-head Virus : YHV) เป็นต้น
“อุตสาหกรรมกุ้งไทยกำลังเผชิญกับ Perfect Strom ประกอบด้วยปัญหา Over Supply (การบริโภคต่ำ) ต้นทุนการผลิตสูง ราคากุ้งตกต่ำ และโรคกุ้ง สมาคมฯและเกษตรกรจะทำหนังสือขอให้รัฐบาลยกวาระเหล่านี้เป็นวาระแห่งชาติ ต้องจัดการแก้ไขอย่างเร่งด่วน ทวงคืนแชมป์ส่งออกกุ้งโลกกลับมาให้ได้”