ราคาข้าวไทย ทำสถิติใหม่สูงสุดรอบ17ปี ห่วงเเรงกระแทก“ค่าเงิน-ผลผลิตเพิ่ม”
การส่งออกข้าวในช่วงเดือนม.ค.-ต.ค.2566 ปริมาณ 6,922,649 ตัน เพิ่มขึ้น 11.4% มูลค่า136,289.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 24.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีที่ผ่านมา ชี้ให้เห็นสถานการณ์ส่งออกข้าวไทยเริ่มสดใส สะท้อนผ่านราคาข้าวเปลือกที่ดีอย่างมีนัยสำคัญ
ปราโมทย์ เจริญศิลป์ นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย เปิดเผยว่า ในช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ราคาข้าวเปลือกของไทยปรับตัวสูงขึ้นทุกประเภท จากเฉลี่ยอยู่ที่ตันละ 8,000-9,500 บาท เพิ่มขึ้นเป็นตันละ 12,000 บาท สูงสุดในรอบ17 ปีเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกัน
จากการสอบถามไปยังโรงสี พบว่า เป็นผลมาจากราคาข้าวของเวียดนามในขณะนี้ที่สูงกว่าราคาข้าวของไทย ประมาณตันละ 70-90 ดอลลาร์ เนื่องจากผลผลิตในประเทศไม่เพียงพอกับความต้องการ ในขณะที่อินเดียยังมีนโนยบายงดส่งออกข้าว ประกอบกับมาตรการรักษาเสถียรภาพข้าวเปลือกของไทยที่ให้สหกรณ์เข้าไปรับซื้อข้าวในราคานำตลาด ทำให้ภาพรวมราคาข้าวเปลือกของไทยสูงขึ้น
“ทางโรงสีกว้านซื้อข้าวจากเกษตรกร เพื่อสต็อกไว้ขายให้กับผู้ส่งออกที่มีคำสั่งซื้อล่วงหน้า โดยเห็นแนวโน้มแล้วว่าหลังจากนี้ราคาข้าวของไทยจะยิ่งสูงขึ้น เนื่องจากเกษตรกรเก็บเกี่ยวไปแล้วกว่า 70 % เหลืออีก นิดหน่อยในภาคกลางที่ส่วนใหญ่เป็นข้าวขาว ดังนั้นจึงเป็นผลกับเกษตรกรที่ตั้งใจจะเก็บข้าวแห้ง จะทำให้ได้ราคาสูง”
อย่างไรก็ตามราคาข้าวที่ปรับสูงขึ้นดังกล่าว จูงใจให้เกษตรกรลงทุนทำนาปรังครั้งที่ 1 ซึ่งควรตัดสินใจอย่างรอบคอบ เพราะยังมีปัจจัยเสี่ยงเรื่องน้ำ
รายงานจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) แจ้งว่า สถานการณ์ผลผลิตข้าว เริ่มออกสู่ตลาดตั้งแต่เดือนก.ค. 2566 - พ.ค. 2567 โดยผลผลิตออกสู่ตลาดมากที่สุดในช่วงเดือนพ.ย. 2566 ปริมาณ 16.555 ล้านตันข้าวเปลือก หรือ 64.75% ของผลผลิตข้าวนาปีทั้งหมด โดยตั้งแต่ช่วงเดือนก.ค. – พ.ย. 2566 มีผลผลิตออกสู่ตลาดประมาณ 22.938 ล้านตันข้าวเปลือก หรือ 89.71% ของผลผลิตข้าวนาปีทั้งหมด คงเหลือผลผลิตที่คาดว่าจะออกสู่ตลาดอีกประมาณ 2.631 ล้านตันข้าวเปลือก หรือ 10.29% ของผลผลิตข้าวนาปีทั้งหมด
ส่วนข้าวนาปรังคาดการณ์ผลผลิตเริ่มออกสู่ตลาดตั้งแต่เดือนก.พ.- ต.ค. 2567 โดยคาดว่าผลผลิตจะออกสู่ตลาดมากที่สุดช่วงเดือนมี.ค.- เม.ย. 2567 ปริมาณรวม 4.260 ล้านตันข้าวเปลือก หรือ 67.08% ของผลผลิตข้าวนาปรังทั้งหมด
ทั้งนี้ข้าวเปลือกเจ้านาปีหอมมะลิที่เกษตรกรได้รับใน สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 13,246 บาท ราคาลดลงจากตันละ 13,594 บาท ในสัปดาห์ก่อน 2.56% ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 10,485 บาท ราคาลดลงจากตันละ 12,137 บาท ในสัปดาห์ก่อน 13.62%
ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ (ข้าวสาร)ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 1 (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 28,770 บาท ราคาลดลงจากตันละ 28,850 บาท ในสัปดาห์ก่อน0.28% ข้าวขาว 5% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 18,870 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 18,830 บาท ในสัปดาห์ก่อน 0.21%
ร.ต.ท.เจริญ เหล่าธรรมทัศน์นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า ราคาส่งออกข้าวขณะนี้มีความผันผวนสูงเช่นเดียวกันอัตราแลกเปลี่ยนของไทยที่ เปลี่ยนแปลงรายวัน ทำให้การโค้ดราคาขายทำได้ยาก โดยราคาข้าวช่วง 2 สัปดาห์ก่อนเพิ่มขึ้นไปสูงและตกลงมาค่อนข้างแรงก่อนจะปรับตัวสูงขึ้นในสัปดาห์ที่ผ่านมา
สาเหตุหลักๆที่ราคาข้าวปรับตัวสูงขึ้นมาจากอินเดียยังคงห้ามส่งออกข้าว ขณะที่เวียดนามเผชิญปัญหาปริมาณขายสูงกว่าผลผลิตที่มี และตลาดยังมีดีมานด์สูงเพื่อเติมสต๊อกในประเทศให้เต็ม
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้เป็นช่วงต้นฤดูที่ผลผลิตออกสู่ตลาดทำให้ปริมาณข้าวอยู่ในท้องตลาดน้อย โรงสีต้องแย่งซื้อข้าวจากชาวนาทำให้ราคาปรับสูงขึ้นแต่ช่วงหลังจากนี้ หรือ รวม ปลายธ.ค. ถึง ต้นม.ค. ผลผลิตจะออกสู่ตลาดมากขึ้นคาดว่าราคาข้าวอาจอ่อนตัวตัว แต่ต้องจับตามปััจจัยนอกประเทศต่อไปอีกว่าทิศทางตลาดจะเป็นอย่างไร เพราะราคาข้าวเวียดนามยังมีสัดส่วนที่ต่ำกว่าไทยอยู่มาก หากปริมาณผลผลิตเวียดนามดีพร้อมส่งออกตลาดก็พร้อมจะรับข้าวที่ราคาแข่งขันได้มากกว่า
“ราคาข้าวขณะนี้เป็นไปตาม ความรู้สึกของตลาดที่มีความต้องการเก็บของไว้ทั้งส่วนผู้ค้าที่ต้องเก็บข้าวในสต๊อกเพื่อรอขาย และผู้ซื้อประเทศปลางทางที่ต้องการเติมเต็มสต๊อกด้วย และช่วงนี้ข้าวยังออกมาในตลาดไม่มากจึงทำให้ราคามีแต่จะสูงขึ้นแต่จากนี้เมื่อช่วงปลายฤดูกาลแล้วราคาน่าจะอ่อนตัวตามปริมาณข้าวที่ออกสู่ตลาด”
ร.ต.ท.เจริญ กล่าวว่า สิ่งที่ต้องระมัดระวังมากกว่านี้สำหรับผู้ส่งออกคือ อัตราแลกเปลี่ยนซึ่งผันผวนมากทั้่งปริมาณและช่วงเวลา การโคว้ดราคาหนึ่งวันคาดการณ์ค่าเงินผิดไปนิดเดียวก็หมายถึงต้องขาดทุนได้ ขณะที่การทำประกันความเสี่ยงค่าเงิน (forward)ก็ทำได้ยากเพราะค่าเงินคาดเดาได้ยากมาก และการทำประกันก็เป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้นท่ามกลางการแข่งขันที่คู่แข่งมีราคาข้าวที่ต่ำกว่าไทย
ส่วนการส่งออกข้าวไทยในปี 2567 มองว่าลดลงจากปีนี้ อยู่ที่ 7.5 ล้านตัน เนื่องจากประเมินว่า ปริมาณข้าวจะออกสู่ตลาดโลกมากขึ้น โดยสิ้นปี 2566 ถึงม.ค. 2567 ข้าวเวียดนามเริ่มเก็บเกี่ยว ซึ่งสถานการณ์เอลนีโญมองว่าไม่ได้ร้ายแรงอย่างที่คิด