'พลังงาน' ถก กกพ.-สำนักงบฯ หาเงิน 'ลดค่าไฟ' งวด ม.ค.-เม.ย. เหลือ 4.20 บาท

'พลังงาน' ถก กกพ.-สำนักงบฯ หาเงิน 'ลดค่าไฟ' งวด ม.ค.-เม.ย. เหลือ 4.20 บาท

"พลังงาน" เตรียมหารือ "กกพ.-สำนักงบ" หาแนวทางปรับลดค่าไฟฟ้ารอบเดือนม.ค.–เม.ย. 67 แม้ราคาก๊าซธรรมชาติที่ยังคงผันผวนในระดับที่สูง คาดว่าจะลดค่าไฟฟ้าให้เหลือได้ประมาณ 4.20 บาทต่อหน่วย เร่งเคาะมาตรการเพื่อลดค่าไฟให้ทันภายในเดือนธ.ค. นี้

นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า จากที่สำนักงานกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้ประกาศผลการรับฟังความคิดเห็นค่า Ft หรือค่าไฟฟ้าผันแปรรอบเดือนมกราคม - เมษายน 2567 โดยมีมติเห็นชอบให้ปรับค่า Ft ที่ 89.55 สตางค์ต่อหน่วย ส่งผลให้ค่าไฟเฉลี่ยอยู่ที่ 4.68 บาทต่อหน่วย ซึ่งค่า Ft ที่ปรับเพิ่มขึ้นนี้สะท้อนถึงต้นทุนค่าเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้น และส่วนหนึ่งเป็นการคืนต้นทุนค่าเชื้อเพลิงที่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) รับภาระไว้บางส่วน เพื่อให้ กฟผ. มีสภาพคล่องในการดำเนินงานและชำระคืนเงินกู้เท่าที่จำเป็น
 
กระทรวงพลังงานขอชี้แจงว่า ค่าไฟฟ้าที่ปรับขึ้นในครั้งนี้ จะอยู่ในส่วนของค่า Ft ซึ่งเกิดจากการคำนวณต้นทุนค่าเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า ที่ผ่านมา ต้นทุนค่าเชื้อเพลิงหลักของค่าไฟฟ้าคือก๊าซธรรมชาติ ซึ่งราคามีความผันผวนอยู่ในระดับสูง เป็นผลมาจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน และในช่วงนี้ เป็นช่วงฤดูหนาวของกลุ่มประเทศตะวันตก ทำให้ความต้องการก๊าซธรรมชาติเพิ่มสูงขึ้น ราคาในตลาดโลกจึงปรับตัวสูงขึ้นตาม กอปรกับที่ผ่านมา ประเทศไทยอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านผู้รับสัมปทานผลิตก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย จึงทำให้การผลิตก๊าซธรรมชาติลดน้อยลง จำเป็นต้องนำเข้าจากต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น แต่คาดว่าจะสามารถกลับมาผลิตในภาวะปกติได้ในช่วงเดือนเม.ย. 2567

ค่าไฟฟ้าที่ทาง กกพ. ปรับเพิ่มขึ้น อยู่ในส่วนของค่า Ft หรือค่าไฟฟ้าผันแปร ซึ่งมีการปรับเปลี่ยนไปตามต้นทุนค่าเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้า หากย้อนดูค่า Ft ในอดีตก่อนเกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครนจะพบว่า ค่า Ft ของไทยติดลบมาโดยตลอด จนกระทั่งเกิดสงคราม ซึ่งรัสเซียเป็นผู้ส่งออกก๊าซธรรมชาติรายใหญ่ของโลก เมื่อไม่สามารถส่งออกก๊าซธรรมชาติได้ ทำให้ราคาก๊าซธรรมชาติทั่วโลกปรับตัวสูงขึ้น จึงส่งผลกระทบต่อค่า Ft ที่ผ่านมา กระทรวงพลังงาน ก็มีแผนปรับลดการใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า และเพิ่มพลังงานหมุนเวียนซึ่งเป็นพลังงานสะอาด แต่ด้วยพลังงานหมุนเวียนยังมีต้นทุนที่ค่อนข้างสูง ทั้งนี้ หากนำมาใช้มากเกินไปอาจจะยิ่งกระทบต่อค่าไฟฟ้ามากขึ้น

ทั้งนี้ หลังจากที่ กกพ. ประกาศค่า Ft รอบเดือนมกราคม - เมษายน 2567 หลายฝ่ายก็กังวลถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นทั้งกับภาคประชาชนและภาคเอกชน กระทรวงพลังงานจึงเตรียมหารือกับ กกพ. เพื่อให้พิจารณาการคำนวณค่า Ft ว่าจะมีส่วนใดบ้างที่สามารถปรับลดได้เพิ่มขึ้นบ้าง เบื้องต้นคาดว่าจะมีการปรับโครงสร้างราคาพลังงานให้มีความเป็นธรรมมากขึ้น มีการเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าจากแหล่งที่มีต้นทุนต่ำ  รวมทั้งจะหารือกับสำนักงบประมาณเพื่อของบกลางมาช่วยเหลือเพื่อลดค่าไฟฟ้าสำหรับกลุ่มเปราะบาง พร้อมทั้งการเพิ่มการใช้พลังงานสะอาด และรณรงค์การอนุรักษ์พลังงาน

"ผมขอยืนยันว่า กระทรวงพลังงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพยายามบริหารจัดการค่าไฟฟ้ามาโดยตลอด แต่ด้วยสถานการณ์ด้านราคาก๊าซธรรมชาติในตลาดโลกที่อยู่ในระดับสูง ก็จะพยายามทางหาลดให้ได้ ซึ่งเบื้องต้นคาดว่าจะลดค่าไฟฟ้าให้เหลือได้ประมาณ 4.20 บาทต่อหน่วย" นายประเสริฐ กล่าว