นักเศรษฐศาสตร์ห่วงเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้า
ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล และอดีตรองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ดร.บัณฑิต นิจถาวร กล่าวในงานเสวนา Economic Forum by Krungthepturakij : Thailand Crisis? ระบุ ตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจของธนาคารแห่งประเทศไทย ปีนี้ลงเหลือโต 2.4%
ปีนี้ลงเหลือโต 2.4% ขณะที่ปีหน้าคาดว่าจะขยายตัวได้ 3.2% หากรวมผลของโครงการดิจิทัลวอลเล็ต คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2567 จะขยายตัวได้ 3.8% ภาพที่มองคือ เศรษฐกิจไทยอยู่ในช่วงการฟื้นตัวขยายตัวดีขึ้นเรื่อยๆ โดยมีปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญมาจากการบริโภคภายในประเทศ การส่งออกที่เริ่มดีขึ้น และการท่องเที่ยว ซึ่งการฟื้นตัวเป็นการเดินทางเข้าสู่ระดับที่เป็นศักยภาพของประเทศ
สิ่งที่เป็นข้อห่วงใยคือ อัตราการเติบโตน่าจะมากกว่านี้ หลังจากเศรษฐกิจไทยเติบโตในอัตราที่ต่ำมานาน ซึ่งจีดีพีปีนี้ 2.4% ถือว่าต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ จะทำอย่างไรให้พ้นกับดักของการขยายตัวในอัตราที่ต่ำมานานกว่า 10 ปี จีดีพีในอาเซียนเฉลี่ยโต 4.5% หากดูตามศักยภาพของประเทศไทยอยู่ที่ 5% ยังมีโอกาสที่ขยับได้มากกว่าปัจจุบัน ต้องให้ความสำคัญกับ supply side มากขึ้น ซึ่งสิ่งที่ประเทศไทยขาดคือ ความสามารถในการผลิต การลงทุนภาคธุรกิจ การสร้างแรงจูงใจในการลงทุน ซึ่งไม่เห็นในนโยบายรัฐบาลที่เน้นเรื่องการใช้จ่าย
นักเศรษฐศาสตร์ และที่ปรึกษาสถาบันวิจัยภัทร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ระบุ วิกฤติเศรษฐกิจของไทยคือ การฟื้นตัวช้าอย่างมาก เทียบกับทั่วโลกหลังจากสถานการณ์โควิดที่ฟื้นกลับมาอย่างรวดเร็ว เศรษฐกิจไทยโตช้าจากการส่งออกที่โตช้าลง การลงทุนที่โตอย่างกระท่อนกระแท่นไม่น่าไว้ใจ ประเทศไทยกำลังมีปัญหาเรื่องงบดุลเพราะหนี้เยอะ
รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มงาน Economic Intelligence Center (EIC) และรองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานกลยุทธ์องค์กร ธนาคารไทยพาณิชย์ สมประวิณ มันประเสริฐ ระบุ เศรษฐกิจไทยไม่ได้ป่วยแต่อ่อนแอ อยู่ภายใต้ความเปราะบาง และความไม่แน่นอนที่มากขึ้นทั้งการค้า ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ รวมถึงภาคการเงิน ความไม่แน่นอนมีในทุกมิติ และเพิ่มขึ้นในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ดังนั้น ความไม่แน่นอนผนวกกับความเปราะบางจึงมีความเสี่ยงมากขึ้น
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์