ส่องรถไฟทางคู่สายใต้ ‘นครปฐม - หัวหิน’ ทยอยเปิดใช้ 15 ธ.ค.นี้
การรถไฟฯ เตรียมทยอยเปิดทางคู่สายใต้ ช่วงนครปฐม – หัวหิน 15 ธ.ค.นี้ หลังงานก่อสร้างแล้วเสร็จ 97% มั่นใจเป็นกุญแจสำคัญช่วยเปิดโอกาสทางเศรษฐกิจ เชื่อมโยงการเจริญเติบโตสู่ภูมิภาค
โครงการรถไฟทางคู่สายใต้ เป็นหนึ่งในโปรเจกต์เร่งด่วนที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ดำเนินการต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2560 เพื่อสร้างโครงข่ายระบบขนส่งทางราง อำนวยความสะดวกในการเดินทางของประชาชน ตลอดจนการขนส่งสินค้าเชื่อมภูมิภาคและประเทศเพื่อนบ้าน เป็นจุดเริ่มต้นของการพลิกโฉมการคมนาคมขนส่งระบบรางของประเทศครั้งสำคัญ ให้กลายเป็นศูนย์กลางด้านคมนาคมของภูมิภาคอาเซียน
โดยในวันที่ 15 ธ.ค.นี้ การรถไฟฯ เตรียมเปิดใช้ทางคู่ช่วงนครปฐม – หัวหิน ซึ่งเป็นโครงการรถไฟทางคู่สายสำคัญ ของเส้นทางรถไฟสายใต้ ปัจจุบันภาพรวมการดำเนินงานการก่อสร้างงานโยธามีความคืบหน้ากว่า 97% โดยมีแผนทยอยเปิดใช้ออกเป็น 2 ช่วง คือ
ช่วงแรก ระหว่างสถานีบ้านคูบัว จังหวัดราชบุรี ถึงสถานีสะพลี จังหวัดชุมพร รวมระยะทาง 348 กิโลเมตร จะเปิดให้บริการ 15 ธ.ค.นี้
ช่วงที่สอง ระหว่างสถานีนครปฐม – บ้านคูบัว มีแผนที่จะเปิดใช้ทางคู่ประมาณช่วงเดือน เม.ย. 2567
ขณะที่งานสะพานกลับรถ (U-Turn)/สะพานข้ามทางรถไฟ (Overpass) ได้มีการเปิดใช้งานและยกเลิกทางข้ามเสมอระดับทางรถไฟ จำนวน 24 แห่งจากทั้งหมด 30 แห่ง ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาการเกิดอุบัติเหตุบริเวณจุดตัดเสมอระดับทางรถไฟ-รถยนต์ให้กับพี่น้องประชาชนได้อีกทางหนึ่งด้วย
นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าการดำเนินโครงการเปิดเดินรถไฟทางคู่สายใต้ ช่วงนครปฐม – หัวหิน โดยระบุว่า ปัจจุบันภาพรวมการดำเนินงานการก่อสร้างงานโยธามีความคืบหน้ากว่า 97% คาดว่าจะเปิดให้บริการตลอดสายได้ภายในปี 2567
เมื่อเปิดให้บริการแล้ว จะช่วยลดระยะเวลาเดินทางของประชาชนลงได้ 25-30% เช่น กรุงเทพฯ-หัวหิน จากเดิมใช้เวลาเดินทาง 4 ชั่วโมง เหลือเพียง 3 ชั่วโมง
โดยการพัฒนาโครงการรถไฟทางคู่สายใต้ ซึ่งนับเป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยเปิดโอกาสทางเศรษฐกิจ เชื่อมโยงการเจริญเติบโตสู่ภูมิภาค ตลอดจนช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทย และเป็นการพลิกโฉมการคมนาคมขนส่งระบบราง ผลักดันให้ไทยกลายเป็นศูนย์กลางด้านคมนาคมของภูมิภาคตามเป้าหมายในอนาคตอันใกล้นี้
สำหรับโครงการรถไฟทางคู่ ช่วงนครปฐม-หัวหิน มีระยะทางรวม 169 กิโลเมตร มีจำนวน 28 สถานี วงเงินก่อสร้าง 20,145 ล้านบาท โดยโครงการแบ่งงานก่อสร้างออกเป็น 2 สัญญา ประกอบด้วย
- สัญญาที่ 1 ช่วงนครปฐม-หนองปลาไหล ระยะทาง 93 กิโลเมตร ค่าก่อสร้าง 8,198 ล้านบาท มี บจก.เอ.เอส.แอสโซซิเอท เอนยิเนียริ่ง (1964) เป็นผู้รับจ้าง คืบหน้า 97.208%
- สัญญาที่ 2 ช่วงหนองปลาไหล-หัวหิน ระยะทาง 76 กิโลเมตร ค่าก่อสร้าง 7,520 ล้านบาท มี บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น เป็นผู้ก่อสร้าง คืบหน้า 98.243%
โดยโครงการทางคู่สายนี้ก่อสร้างทางรถไฟใหม่เพิ่ม 1 ทาง ขนานไปกับทางรถไฟเดิม เขตทางกว้าง 60 เมตรเส้นทางวิ่งไปตามแนวเส้นทางรถไฟเดิมตลอดสายทาง ซึ่งแนวเส้นทางมีจุดเริ่มต้นที่สถานีรถไฟนครปฐม ส่วนจุดสิ้นสุดอยู่ที่สถานีรถไฟหนองแก โดยเริ่มต้นที่ กม.47+700 (บริเวณสถานีนครปฐม) แนวเส้นทางมุ่งไปทางทิศตะวันตกถึงชุมทางหนองปลาดุก
จากนั้นแนวเส้นทางเลี้ยวซ้ายลงสู่ภาคใต้ ผ่านจังหวัดราชบุรี เพชรบุรี สิ้นสุดที่ กม. 217+700 (เลยสถานีหัวหินไปประมาณ 4 กิโลเมตร) โดยบริเวณสถานีช่วง กม.211+582.900 ถึง กม.215+872.900 ระยะทาง 4.290 กิโลเมตร เป็นทางวิ่งยกระดับ ระบบรางเป็นทางกว้าง 1 เมตร (Meter Gauge)
โดยพื้นที่ให้บริการจะผ่าน 4 จังหวัด ได้แก่ 1.นครปฐม (อ.เมืองนครปฐม) 2.ราชบุรี(อ.บ้านโป่ง อ.โพธาราม อ.เมือง อ.ปากท่อ) 3.เพชรบุรี(อ.เขาย้อย อ.เมือง อ.ท่ายาง อ.ชะอำ) และ 4.ประจวบคีรีขันธ์(อ.หัวหิน) โดยตามผลการศึกษาด้านการวิเคราะห์ความเหมาะสมของโครงการด้านเศรษฐกิจ พบว่าโครงการมีความเหมาะสมทางเศรษฐกิจในการลงทุนมูลค่าปัจจุบัน 1.43 ล้านบาท อัตราส่วนผลประโยชน์ต่อต้นทุน 1.96% มีอัตราส่วนผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ (EIRR) 23.41%