เปิดผลตอบแทน ‘คิงเพาเวอร์’ ลุ้นยกเลิก ‘ดิวตี้ฟรี’ กระทบสัญญา
เปิดผลตอบแทน “คิงเพาเวอร์” เสนอจ่ายบริหารพื้นที่ดิวตี้ฟรีและกิจกรรมเชิงพาณิชย์ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ 2.12 หมื่นล้านบาท แลกสัมปทาน 10 ปี ขณะที่ ทอท.ลุ้นนโยบายรัฐบาล จ่อยกเลิกดิวตี้ฟรีขาเข้า หวั่นกระทบรายได้
การบริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์ภายในท่าอากาศยาน นับเป็นอีกหนึ่งรายได้ของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท.โดยล่าสุดเมื่อปี 2563 ทอท.ได้เปิดประมูลจัดหาเอกชนร่วมลงทุนในสัญญาสัมปทานกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.),สัญญาสัมปทานกิจการบริหารจัดการกิจกรรมเชิงพาณิชย์ภายในอาคารผู้โดยสาร ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ รวมไปถึงสัญญาสัมปทานกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร ณ ท่าอากาศยานภูเก็ต,เชียงใหม่ และหาดใหญ่
โดยหากเจาะลึกเฉพาะรายได้จากสัญญาสัมปทานบริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์ในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จำนวน 2 สัญญา พบว่าเอกชนผู้ยื่นข้อเสนอผลตอบแทนสูงสุด ได้มีสัญญาจะเสนอผลประโยชน์ตอบแทนรายปีให้กับ ทอท.รวมมากกว่า 2.12 หมื่นล้านบาท ประกอบด้วย
สัญญาประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร หรือดิวตี้ฟรี ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ กำหนดอายุสัญญา 10 ปี 6 เดือน ระหว่างวันที่ 28 ก.ย. 2563 ถึงวันที่ 31 มี.ค. 2574
- บริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด เป็นผู้ได้รับสิทธิ เสนอค่าผลประโยชน์ตอบแทนปีละ 15,419,000,000 บาท
สัญญาประกอบกิจการบริหารจัดการกิจกรรมเชิงพาณิชย์ภายในอาคารผู้โดยสาร ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ กำหนดอายุสัญญา 10 ปี 6 เดือน ระหว่างวันที่ 28 ก.ย. 2563 ถึงวันที่ 31 มี.ค. 2574
- บริษัท คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ จำกัด เป็นผู้ได้รับสิทธิ เสนอค่าผลประโยชน์ตอบแทนปีละ 5,798,000,000 บาท
ทั้งนี้ ข้อเสนอค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำรายปี (Minimum Guarantee) ทอท. จะปรับค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำรายปีให้สอดคล้องกับอัตราเงินเพ้อที่อ้างอิงจากกระทรวงพาณิชย์ และการเติบโตของจำนวนผู้โดยสาร (ระหว่างประเทศ) ของทุกๆ ปี ตลอดอายุสัญญาด้วย
อย่างไรก็ดี ขณะนี้คงต้องจับตาดูนโยบายรัฐบาล ซึ่งอาจมีผลต่อสัญญาบริหารพื้นที่ดิวตี้ฟรีฉบับนี้ สืบเนื่องจากล่าสุด กระทรวงการคลังได้เสนอมาตรการส่งเสริมประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวและการใช้จ่าย เพื่อผลักดันเศรษฐกิจและเพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยว โดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 28 พ.ย.2566 เห็นชอบมาตรการดังกล่าว ดังนี้
1.มาตรการภาษีและการเงินเพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศและการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติในไทย โดยเฉพาะสินค้าที่นักท่องเที่ยวนิยมซื้อในระหว่างการท่องเที่ยวในไทย เช่น น้ำหอม เสื้อผ้า กระเป๋า เพื่อให้สินค้าไทยเป็นที่รู้จักและที่นิยมอย่างกว้างขวาง
2.การปรับปรุงโครงสร้างและอัตราภาษีสรรพสามิต เพื่อให้สินค้าและบริการบางประเภทมีราคาจูงใจในการบริโภคของนักท่องเที่ยวเมื่อเทียบประเทศอื่นที่เป็นกลุ่มเป้าหมายของการท่องเที่ยว และทำให้ค่าใช้จ่ายท่องเที่ยวต่อหัวของนักท่องเที่ยวเพิ่มสูงขึ้น
3.การยกเลิกจัดตั้งคลังสินค้าทัณฑ์บนที่ได้รับอนุญาตให้จัดตั้งเป็นพื้นที่แสดงและขายของ (ร้าน Duty Free ขาเข้า) เพื่อให้นักท่องเที่ยวต่างชาติหรือคนไทยที่เดินทางกลับเข้ามาในประเทศเกิดการจับจ่ายซื้อของในประเทศแทนที่จะซื้อสินค้าจากในร้าน Duty Free ขาเข้า
4.การผ่อนปรนเวลาเปิดปิด เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายต่อวันของนักท่องเที่ยวต่างชาติ และเพิ่มรายได้ให้แก่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่เกี่ยวข้อง เช่น สถานบันเทิง ร้านอาหาร ผู้ให้บริการขนส่ง
5.การยกเว้นการตรวจลงตราฯเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจด้วยการส่งเสริมการเดินทางเข้าในประเทศไทยของนักท่องเที่ยวต่างชาติ
นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จํากัด (มหาชน) หรือ ทอท.กล่าวว่า แนวคิดการยกเลิกร้านดิวตี้ฟรี ขาเข้า ในสนามบิน เพื่อให้นักท่องเที่ยวต่างชาติ หรือคนไทยที่เดินทางกลับเข้ามาในประเทศเกิดการจับจ่ายซื้อของในประเทศแทนที่จะซื้อสินค้าจากในร้านดิวตี้ฟรีขาเข้านั้น ยังเป็นเพียงข้อเสนอของกระทรวงการคลัง โดย ครม.มีคำสั่งให้กระทรวงการคลังกลับไปทำการศึกษารายละเอียด เปรียบเทียบความคุ้มค่า โดยยังไม่ได้สั่งการมายัง ทอท.เพื่อให้ดำเนินการในเรื่องนี้
อย่างไรก็ดี ทอท.ในฐานะผู้บริหารพื้นที่ร้านดิวตี้ฟรีดังกล่าว มองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องรอผลการศึกษาให้รอบคอบก่อน เพราะการพัฒนาร้านดิวตี้ฟรีขาเข้าในสนามบินเพื่อรองรับบริการผู้โดยสาร และทุกสนามบินทั่วโลกก็มีการพัฒนาพื้นที่ในลักษณะนี้ แต่หากรัฐบาลมองว่าพื้นที่ร้านดิวตี้ฟรีขาเข้าจะกระทบต่อโอกาสการจับจ่ายใช้สอยในประเทศ ก็คงต้องศึกษาด้วยว่าหากไม่มีดิวตี้ฟรีขาเข้าที่สนามบินไทย นักท่องเที่ยวจะซื้อสินค้าจากดิวตี้ฟรีขาออกที่สนามบินต้นทางมาหรือไม่ ซึ่งจะเป็นการสร้างโอกาสให้กับสนามบินอื่น ต้องเปรียบเทียบความคุ้มค่าให้รอบคอบ
ขณะที่การยกเลิกพื้นที่ดิวตี้ฟรีขาเข้าในสนามบินทั้ง 6 แห่งของ ทอท.นั้น จะกระทบต่อสัญญาสัมปทานที่เอกชนดำเนินการอยู่ โดยเฉพาะส่วนแบ่งรายได้ ผลตอบแทนที่เอกชนผู้ชนะการประมูลได้เสนอไว้กับ ทอท.เนื่องจากเป็นการคำนวณจากพื้นที่เชิงพาณิชย์ที่ได้รับไป แต่หากท้ายที่สุดพื้นที่บริหารปรับลดลง ก็ต้องเจรจาร่วมกับเอกชนเพื่อคำนวณพื้นที่ และผลตอบแทน ส่วนแบ่งรายได้อีกครั้งซึ่งแน่นอนว่าเมื่อพื้นที่บริหารลดลง ส่วนผลตอบแทนและแบ่งรายได้ก็ต้องปรับลดลง