“บัณฑิต”ชี้เศรษฐกิจไทยติดกับดักการเติบโตต่ำ
“บัณฑิต”ชี้เศรษฐกิจไทยติดกับดักการเติบโตต่ำ ทำขีดแข่บขันลด ขณะที่ รัฐบาลเดินนโยบายล้าหลังเศรษฐกิจ 7-8 เดือน แนะเปิดแรงจูงใจใหม่ลงทุนสร้างจีดีพียั่งยืน
นายบัณฑิต นิจถาวร ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาลและอดีตรองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยกล่าวในเสวนา Economic Furum by Krungthepturakij : Thailand Crisis ? ระบุว่า ตนมองเศรษฐกิจไทยติดอยู่ในกับดักการเติบโตในระดับต่ำ โดยแม้ว่า ขณะนี้ เศรษฐกิจจะอยู่ในช่วงของการฟื้นตัว แต่การฟื้นตัวอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งต่ำมาอย่างต่อเนื่อง กรณีที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประเมินจีดีพีปีนี้โต 2.4% ปีหน้าโตได้ 3.7% ก็ถือว่า เป็นอัตราการเติบโตที่ต่ำ โดยศักยภาพของเศรษฐกิจไทยควรเติบโตได้ที่ 4.5-5%ต่อปี
ดังนั้น จึงเป็นเรื่องที่น่าห่วงใย คำถามคือ เราจะทำได้ดีกว่านี้หรือไม่
ทั้งนี้ จากการที่เศรษฐกิจไทยติดกับดักการเติบโตในระดับต่ำ ทำให้ความได้เปรียบของประเทศไหลลงเรื่อยๆ จึงทำให้รัฐบาลต้องเน้นในสิ่งที่ขาดหายไป แต่ไม่ได้ให้ความสำคัญมากพอสมควรกับเรื่องความสามารถในการผลิตของประเทศ การสร้างแรงจูงใจใหม่ในการลงทุน ฉะนั้น รัฐบาลต้องหันกลับมาให้ความสำคัญในเรื่องของการลงทุนและการจ้างงานที่จะสร้างการเติบโตของเศรษฐกิจที่ยั่งยืน
“แพกเกจนโยบายของรัฐบาลมุ่งไปเรื่องการใช้จ่าย ถ้าดูในเรื่องการเติมเงินใช้จ่าย ทางแบงก์ชาติก็บอกว่า แม้เติมแล้วจีดีพีก็ได้แค่ 3%กว่า แต่ว่า เติมได้ครั้งเดียว แต่เรื่องของเศรษฐกิจเป็นเรื่องการโตที่ต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี การที่แบงก์ชาติมองเศรษฐกิจโตได้ต่อเนื่อง ก็ทำให้เกิดภาพที่สบายใจ แต่ในเรื่องความเสี่ยงที่รออยู่ข้างหน้า ทั้งปัญหาเศรษฐกิจโลกชะลอ การผลิตที่ต่ำในประเทศ แนวโน้มดอกเบี้ยสูง ธุรกิจจะแบกรับได้ไหม แรงปะทะจะมากขึ้น เรื่องนี้ ผมคิดว่า แบงก์ชาติพูดน้อยไปหน่อย“
นอกจากนี้ ในแง่การดำเนินนโยบายของรัฐบาลนั้น ตนมองว่า โมเมนตั้มการทำนโยบายยังย้อนหลังไปในภาวะเศรษฐกิจ 7-8 เดือนที่แล้ว แต่ขณะนี้ โลกได้เปลี่ยนไป ซึ่งมีความเสี่ยงที่มากขึ้น ฉะนั้น ชุดของนโยบายจึงไม่สอดคล้องรองรับกับภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน