นายกฯ ตรวจมอเตอร์เวย์โคราช จบ 4 ปมมหากาพย์โปรเจกต์ล่าช้า
“เศรษฐา”ตรวจมอเตอร์เวย์โคราช-บางปะอิน เร่งความคืบหน้าโปรเจกต์ยักษ์ ก่อนเปิดให้ประชาชนใช้ช่วงสีคิ้ว-โคราชปีใหม่นี้ เปิด4 สาเหตุโครงการล่าช้ากว่าแผน
นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และคณะ มีกำหนดเดินทางไป จ.นครราชสีมา เพื่อตรวจติดตามความคืบหน้าโครงการก่อสร้าง Motorways บางปะอิน - นครราชสีมา และความพร้อมช่วง สีคิ้ว - นครราชสีมา ที่จะเปิดให้บริการประชาชนช่วง สีคิ้ว - นครราชสีมา
โดยคณะลงพื้นที่ ณ ทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 6 (M6) ตอน 34 อุโมงค์คลองไผ่ ต.คลองไผ่ อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา เพื่อฟังการบรรยายสรุปภาพรวมการก่อสร้างและผลการดำเนินการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 6 (M6) และความพร้อมการเปิดให้บริการประชาชน ช่วงสีคิ้ว - นครราชสีมา ในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2567 แบบเต็มรูปแบบจากทางเข้า - ออก M6 ตอน 24 ต.หนองสาหร่าย อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา จนถึง ทางเข้า - ออก M6 ตอน 40 ที่ กม.195+943 ตัดกับทางหลวงหมายเลข 204 ที่ กม.3+230 และรับฟังบรรยายสรุปภาพรวมการก่อสร้างอุโมงค์คลองไผ่ บริเวณเรือนจำคลองไผ่
“ที่ผ่านมากรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม ได้เปิดให้ใช้ทางทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 6 (M6) ชั่วคราวสำหรับเทศกาลปีใหม่และเทศกาลสงกรานต์บริเวณช่วง อ.ปากช่อง - อ.สีคิ้ว - อ.ขามทะเลสอ ระยะทาง 64 กม. ให้บริการกับประชาชนไปแล้ว"
ดังนั้น ในตอนนี้กรมทางหลวงได้เร่งรัดการก่อสร้างและพิจารณาความพร้อมทุกด้านในการเพิ่มระยะทางของเส้นทางอีก 16 กม. และขณะนี้ กรมทางหลวงโดยสำนักงานทางหลวงที่ 10 (นครราชสีมา) ได้เตรียมความพร้อมเปิดการใช้ทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 6 บางปะอิน - นครราชสีมา มอเตอร์เวย์ M6 ระยะทาง 80 กม. ช่วงระหว่าง อ.ปากช่อง - อ.สีคิ้ว - อ.ขามทะเลสอ - ทางเลี่ยงเมืองนครราชสีมา จ.นครราชสีมา โดยจะเปิดทั้งสองทิศทางการจราจร ทั้งขาไปขากลับพร้อมกันตลอด 24 ชั่วโมง ในปลายเดือน ธ.ค. 2566 เพื่อรองรับการเดินทางช่วงเทศกาลปีใหม่ 2567 และอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนในการเดินทางสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนืออีกด้วย
สำหรับโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 6 (มอเตอร์เวย์) สายบางปะอิน-สระบุรี-นครราชสีมา เพิ่มเติมจำนวน 12 ตอน วงเงิน 4,970 ล้านบาท นับเป็นอีกหนึ่งมหากาพย์โครงการลงทุนภาครัฐที่ผิดไปจากแผน ล่าช้าจากเป้าหมายเดิมที่จะแล้วเสร็จในปี 2563 แต่ผลจากการออกแบบโครงการที่ไม่อัพเดตให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ส่งผลให้รัฐต้องเสียงบประมาณเพิ่มเติมในการออกแบบ การก่อสร้าง และที่สำคัญประชาชนเสียโอกาสจากการใช้บริการล่าช้าออกไป
อีกทั้งโครงการมอเตอร์สายนี้ ยังเป็นอีกหนึ่งโครงการที่วนเวียนผลักดันเข้า ครม.เพื่อพิจารณาขอความเห็นชอบในเรื่องต่างๆ มาแล้วรวม 10 ครั้ง เช่น 14 ก.ค.2558 ครม.มีมติอนุมัติให้กรมทางหลวงดำเนินโครงการในวงเงินลงทุน 84,600 ล้านบาท ต่อมา 8 มี.ค.2559 ครม.มีมติเห็นชอบการปรับแผนดำเนินโครงการ จากเดิมใช้แหล่งเงินกู้ปรับเป็นให้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2559 – 2563 วงเงินรวม 76,600 ล้านบาท กระทั่ง เดือน พ.ย.2565 มีแผนก่อสร้างรวม 89.67% ผลงานก่อสร้างรวม 87.67% ล่าช้ากว่าแผน 2% สำหรับค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน วงเงิน 6,630 ล้านบาท ได้ดำเนินการจ่ายครบถ้วนแล้ว
ส่วนสาเหตุของการก่อสร้างที่ยังไม่แล้วเสร็จนั้น และเป็นเหตุให้กรมทางหลวงต้องเสนอ ครม.เพื่อขออนุมัติเพิ่มวงเงินก่อสร้าง เนื่องจากติดปัญหาอุปสรรคใน 4 ประเด็น ได้แก่
1. สภาพพื้นที่ในสนามที่ทำการก่อสร้างได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
2. ปรับปรุงรูปแบบทางวิศวกรรมให้สอดคล้องกับสภาพทางกายภาพของพื้นที่ในปัจจุบัน
3. ปรับรูปแบบให้เหมาะสมสอดคล้องกับโครงสร้างสาธารณูปโภค หรือความจำเป็นของหน่วยงานที่โครงการฯ ตัดผ่าน
4. ปรับรูปแบบการก่อสร้างเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อข้อร้องเรียนของประชาชนในพื้นที่ และให้สอดคล้องกับโครงข่ายถนนที่ประชาชนใช้ทางในปัจจุบัน จึงจำเป็นต้องแก้ไขแบบก่อสร้าง ส่งผลให้ค่างานก่อสร้างเพิ่มขึ้น