อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มไทยติดโผใช้"อินฟลูเอนเซอร์" มากที่สุด
การตลาดอินฟลูเอนเซอร์โลก รีวิวสินค้าและบริการ โตต่อเนื่องคาด ขณะที่ไทยใช้อินฟลูเอนเซอร์ ผ่านช่องทางเฟซบุ๊ก อันดับ 1 รองมาเป็นอินตราแกรม จับตา ติ๊กต๊อกมาแรง เผย อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มของไทยใช้อินฟลูเอนเซอร์สูงสุดเพื่อจูงใจซื้อสินค้า
มูลค่าการตลาดอินฟลูเอนเซอร์ทั่วโลกเติบโตอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2549 จนถึงปัจจุบัน และมีแนวโน้มเติบโตมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยข้อมูลว่า จากสำรวจ The State of Influencer Marketing 2023 โดย Influencer Marketing Hub เว็บไซต์ด้านการตลาดอินฟลูเอนเซอร์ชื่อดังของโลก พบว่าการตลาดอินฟลูเอนเซอร์ทั่วโลกเริ่มต้นในปี 2549 ด้วยมูลค่าตลาดเพียง 1,700 ล้านดอลลาร์ จนกระทั่งถึงปี 2565 มีมูลค่าสูงถึง 16,400 ล้านดอลลาร์ และคาดการณ์ว่าในปี 2566 จะเติบโตเพิ่มขึ้นถึง 28.67% จากปีก่อนหน้า หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 21,100 ล้านดอลลาร์
การเติบโตของตลาดอินฟลูเอนเซอร์มีความสำคัญต่อการทำการตลาดสินค้าและบริการในปัจจุบันอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากกลุ่มคนเหล่านี้มีอิทธิพลต่อความคิดและการตัดสินใจของผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมาย ขณะที่อิทธิพลดังกล่าวขึ้นอยู่กับจำนวนผู้ติดตามของอินฟลูเอนเซอร์
โดยมีการแบ่งอินฟลูเอนเซอร์เป็น 4 ประเภท ได้แก่ 1. นาโนอินฟลูเอนเซอร์ (Nano Influencer) มีผู้ติดตาม 1,000 – 10,000 คน 2. ไมโครอินฟลูเอนเซอร์ (Micro Influencer) มีผู้ติดตาม 10,000 – 100,000 คน 3. แมคโครอินฟลูเอนเซอร์ (Macro Influencer) มีผู้ติดตาม 100,000 – 1,000,000 คน และ 4. เมกะ/เซเลบริตี้อินฟลูเอนเซอร์ (Mega/ Celebrity Influencer) มีผู้ติดตาม มากกว่า 1,000,000 คนขึ้นไป
หากยอดผู้ติดตามมากก็ยิ่งมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าและบริการมากขึ้นด้วย สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภคในยุคนี้ โดยเฉพาะกลุ่มคน Gen Y และ Gen Z ส่วนใหญ่ที่มีพฤติกรรมการรับชมการรีวิวจากอินฟลูเอนเซอร์ก่อนตัดสินใจซื้อ เพราะเป็นการนำเสนอในรูปแบบการแชร์ประสบการณ์ตรงที่ได้รับจากการทดลองใช้สินค้า และบรรยายสรรพคุณอย่างละเอียด ซึ่งถือเป็นการตลาดแบบ ‘ปากต่อปาก’ เหมือนเพื่อนบอกต่อสิ่งดีๆ ให้แก่กัน ทำให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงสินค้าและบริการได้ง่ายกว่าการรับชมผ่านโฆษณาทั่วไป
เมื่อพิจารณาจากอุตสาหกรรมที่มีการใช้การตลาดอินฟลูเอนเซอร์มากที่สุดของประเทศไทยในปี2565 อันดับ 1 ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม คิดเป็นสัดส่วนถึง 39% ส่วนอันดับ 2 ได้แก่ แฟชั่นและความงาม 17.4% และอันดับ 3 ได้แก่ อุปกรณ์เสริม(Gadgets) และแบรนด์เครื่องมือสื่อสาร มีสัดส่วน10.6 % เท่ากัน
ขณะที่เมื่อพิจารณาด้านช่องทาง พบว่าเฟซบุ๊ก (Facebook) เป็นแพลตฟอร์มที่ได้รับความนิยมสูงสุด คิดเป็นสัดส่วน 35.3 %รองลงมา ได้แก่ อินสตาแกรม (Instagram) 24.2 % ยูทูบ(YouTube) 16.5% ติ๊กต๊อก (TikTok) 14.6 % และทวิตเตอร์ (Twitter) 9.4 % โดยในบรรดาแพลตฟอร์มเหล่านี้ ติ๊กต๊อกเป็นแพลตฟอร์มที่มีการเติบโตแบบก้าวกระโดดมากที่สุด โดยเฉพาะในกลุ่มอินฟลูเอนเซอร์ประเภท Nano Influencer และ Micro Influencer
“พูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กล่าวว่า จากข้อมูลดังกล่าว แสดงให้เห็นว่าการตลาดอินฟลูเอนเซอร์มีอิทธิพลต่ออุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มของไทยอย่างมาก ขณะเดียวกันการใช้ประโยชน์จากแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต่างๆ ในการส่งเสริมการตลาดอินฟลูเอนเซอร์ก็มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องอินฟลูเอนเซอร์จึงเป็นเครื่องมือการตลาดที่ผู้ประกอบการไทยควรเร่งใช้ประโยชน์
“การใช้อินฟลูเอนเซอร์รีวิวสินค้าและบริการผ่านโซเชียลมีเดียอาจไม่ใช่การตลาดรูปแบบใหม่ แต่เป็นสิ่งที่ภาคเกษตรกรรมของไทยสามารถนำไปประยุกต์ใช้ เพื่อโฆษณา สร้างการรับรู้ และประชาสัมพันธ์สินค้าให้เข้าถึงผู้บริโภคจำนวนมาก ซึ่งการใช้เครื่องมือการตลาดที่สอดคล้องกับกระแสนิยมและกลุ่มเป้าหมาย จะช่วยผลักดันให้สินค้าเกษตรไทยมีชื่อเสียง ได้รับการยอมรับ และเป็นที่รู้จักได้รวดเร็วขึ้น”นายพูนพงษ์ กล่าว
นอกจากนี้ยังสอดรับกับนโยบายพาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศและสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (ทูตพาณิชย์) ทั้ง 58 แห่งทั่วโลก โดยนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เมื่อวันที่ 3 พ.ย. 2566 ซึ่งมีเป้าหมายในการผลักดันให้ทูตพาณิชย์เป็นทัพหน้าร่วมกับพาณิชย์จังหวัดขับเคลื่อนการส่งออกของประเทศ โดยเฉพาะประเด็นที่มอบหมายทูตพาณิชย์และพาณิชย์จังหวัดค้นหาอินฟลูเอนเซอร์มารีวิวสินค้าและบริการของไทยผ่านสื่อโซเชียลมีเดียต่างๆ เพื่อเพิ่มช่องทางให้คนรู้จักและตัดสินใจซื้อสินค้าและบริการของไทยมากขึ้นด้วย เพื่อเพิ่มโอกาสในการส่งออกไปยังตลาดโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป