ลดราคาภาคพลังงาน คะแนนเสียง 'รัฐบาล' แลกหนี้สาธารณะประเทศ
จากผลสำรวจ “เนชั่นโพล” ที่ร่วมกับ “สถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา” ระหว่างวันที่ 30 พ.ย.- 4 ธ.ค.2566เป็นการลงพื้นที่สำรวจ 100% พบว่าประชาชนพึงพอใจในผลงาน “รัฐบาลเศรษฐา” ช่วง 3 เดือน อันดับ 1 คือ การลดค่าพลังงาน ไฟฟ้า ก๊าซหุงต้ม และน้ำมัน 56.47%
จึงไม่น่าแปลกที่ทั้งตัวนายกฯ “เศรษฐา ทวีสิน” และ “พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค” รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ถึงมีทีท่าไม่พอใจในมติการเรียกเก็บค่าไฟฟ้างวดเดือนม.ค.-เม.ย. 2567 ที่ 4.68 บาทต่อหน่วย พร้อมชี้แจงผ่านสื่อและโซเชียลมีเดียว่าราคาที่ กกพ. ประกาศนั้น ยังไม่ใช่ราคาสุดท้าย เพราะรัฐบาลมีศักยภาพที่จะกดราคาให้ต่ำลงมาได้อีก
โดย รมว.พลังงาน รับปากว่าจะกดค่าไฟงวดดังกล่าวที่ระดับ 4.20 บาทตอหน่วย ในขณที่ นายกฯ ย้ำผ่านสื่อว่าสามารถลดลงมาที่ระดับ 4.10 บาทต่อหน่วยได้ไม่ยาก
ล่าสุด รมว. พลังงานประกาศผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวเมื่อวันที่ 7 ธ.ค. 2566 ว่า “เตรียมเสนอครม.ตรึงราคาค่าไฟฟ้า 3.99 สำหรับกลุ่มเปราะบาง/ตรึงราคาก๊าซหุงต้ม 423 ต่อถัง 15 กิโลกรัม”
รับคะแนนเสียง คะแนนใจ จากประชาชนไปเต็ม ๆ แต่อาจสร้างความขุ่นข้องหมองใจให้กับ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) รัฐวิสาหกิจภายใต้กำกับของรัฐบาลด้วยเช่นกัน
วงในพลังงาน ระบุว่า หากรัฐบาลเรียกเก็บค่าไฟฟ้าอยู่ที่ 4.20 บาทต่อหน่วย จะทำให้ภาระต้นทุนค่าเชื้อเพลิงที่ กฟผ. แบกรับแทนประชาชนจะเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 13,950 ล้านบาท
และหากต้องรับภาระเพิ่มอีก 10 สตางค์ จะทำให้เพิ่มภาระให้กฟผ.อีก 6,000 ล้านบาท เฉลี่ย 1 สตางค์ต่อ 600 ล้านบาท รวมกว่า 19,950 ล้านบาท เสมือนกฟผ. แทบจะไม่ได้รับเงินค้างรับตลอดระยะเวลาวิกฤติโควิดที่ผ่านมาราว 1.3 แสนล้านบาท จากที่เคยปรับลดลงมาเหลือที่ระดับ 95,777 ล้านบาท ก่อนหน้านี้
อีกทั้ง ที่ผ่านมา กฟผ. กู้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่องรวมกว่า 1.1 แสนล้านบาท หากต้องกู้เงินเพิ่มหนี้ก็จะสูงจนเกินไป กระทบต่ออันดับความน่าเชื่อถือ (Credit Rating) และกระทบต่อเพดานหนี้สาธารณะของประเทศขยับตัวสูงขึ้นด้วย
“นโยบายด้านพลังงานถือเป็นอีกนโยบายที่สร้างคะแนนนิยมจากประชาชนได้เป็นอย่างดี เพราะเป็นต้นทุนของทุกกลุ่มอุตสาหกรรม ดังนั้น จึงไม่แปลกที่รัฐบาลจะเลือกใช้วิธีที่ให้รัฐวิสาหกิจมาแบกรับภาระตรงนี้ เพราะทำได้แบบเร่งด่วนและทำได้ทันที แม้หลายฝ่ายจะไม่เห็นด้วย และเรียกร้องให้ปรับโครงสร้างพลังงานเพื่อแก้ปัญหาระยะยาว”
ดูเหมือนว่า นโยบายการปรับโครงสร้างพลังงานไม่ใช่ว่าจะเพิ่งมีการพูดถึง แต่มีมานานหลายรัฐบาล แต่ก็ยังไม่เห็นมีรัฐบาลไหนทำได้อย่างจริงจัง
ซึ่ง รมว. พลังงาน ก็ได้ออกตัวผ่านโซเชียลมีเดียว่า “ผมศึกษ หาข้อมูล ถกเถียง คิดวิเคราะห์ คืบหน้าไปมาก แต่ยังไม่สมบูรณ์ เพราะนี่คือการลงมือทำจริง ไม่เพียงแค่พูดแล้วเสกออกมา ขอให้มั่นใจ ผมเอาจริงแน่นอน”
ไม่เพียงแต่ข้าราชการ นักการเมือง หรือนักวิชาการ ที่จับตามอง ภาคเอกชนเองก็จับตารอดูทิศทางนโยบายภาคพลังงานฉบับใหม่ของ “รมว.พลังงาน” ด้วยเช่นกัน