คนไทยแห่เที่ยวในประเทศ l ผลสำรวจกระทรวงพาณิชย์

พูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผอ.สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เปิดเผยผลสำรวจ ความคิดเห็นของประชาชน พ.ย. 66 เกี่ยวกับแผนการท่องเที่ยวในประเทศ ช่วงเดือน พ.ย. - ธ.ค. 66 ซึ่งเป็นฤดูกาลท่องเที่ยวและเทศกาลเฉลิมฉลอง และเป็นการสำรวจต่อเนื่องจากเดือน พ.ย. 65

สำหรับผลการสำรวจพบว่า ประชาชนมีแผนท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยภาคเหนือ ยังเป็นจุดหมายที่ครองใจประชาชนอันดับหนึ่ง และคาดว่าจะใช้จ่ายไม่เกิน 10,000 บาท/คน/ทริป โดยมีรายละเอียดผลการสำรวจ

1. แผนการท่องเที่ยว ในภาพรวม พบว่า มีผู้ตอบร้อยละ 32.19 ที่มีแผนการท่องเที่ยวในช่วงเดือนพฤศจิกายน – ธันวาคม 2566 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากการสำรวจในปี 2565 (ร้อยละ 30.28) เมื่อพิจารณารายอาชีพ ระดับรายได้ และรายภาค พบว่า ผู้ที่มีแนวโน้มว่าจะท่องเที่ยวส่วนใหญ่ เป็นพนักงานของรัฐ (ร้อยละ 43.10) พนักงานบริษัท (ร้อยละ 41.85) นักศึกษา (ร้อยละ 40.25) โดยมีรายได้ 30,000 บาท/เดือนขึ้นไป แบ่งเป็น รายได้มากกว่า 50,000 บาท/เดือน (ร้อยละ 47.37) 
และระหว่าง 30,001-50,000 บาท/เดือน (ร้อยละ 43.07) โดยกลุ่มผู้อาศัยในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีแผนท่องเที่ยว
ในสัดส่วนที่มากกว่าครึ่ง (ร้อยละ 52.91) ส่วนหนึ่งคาดว่าอาจเป็นเพราะกำลังซื้อที่สูงตามระดับรายได้ของครัวเรือนที่สูงกว่าภาคอื่น ๆ  

2. สถานที่ท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยม ในภาพรวม ภาคเหนือ (ร้อยละ 42.55) ยังคงเป็นจุดหมายที่ได้รับความนิยมสูงเช่นเดียวกับการสำรวจในปี 2565 อาจเนื่องด้วยเป็นช่วงที่อากาศหนาวเย็นสบาย มีภูมิทัศน์ที่สวยงาม และแหล่งท่องเที่ยวน่าสนใจ รองลงมาคือ ภาคกลาง (ร้อยละ 15.72) และภาคใต้ (ร้อยละ 15.32) เมื่อพิจารณารายอาชีพ และระดับรายได้ 
พบว่าภาคเหนือยังคงได้รับความนิยมเป็นอันดับแรกในทุกกลุ่มอาชีพและระดับรายได้ 

3. แผนการใช้จ่าย ในภาพรวม ผู้ตอบร้อยละ 42.07 คาดว่าจะใช้จ่ายระหว่าง 5,001 – 10,000 บาท/คน/ทริป เพื่อเป็นค่าเดินทาง อาหาร และที่พัก เช่นเดียวกับการสำรวจในปี 2565 แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า ผู้ตอบที่จะใช้จ่ายมากกว่า 10,000 บาท/คน/ทริป มีสัดส่วนร้อยละ 33.22 สูงกว่าผลการสำรวจในปี 2565 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 26.47 สะท้อนถึงการจับจ่ายใช้สอยการท่องเที่ยวในประเทศไทยเพิ่มขึ้น สำหรับการพิจารณารายอาชีพ ระดับรายได้ และภูมิภาค พบว่า ระดับค่าใช้จ่าย และกลุ่มสินค้าและบริการที่จะใช้จ่ายสอดคล้องกับภาพรวม มีเพียงผู้ตอบในอาชีพผู้ประกอบการ ที่จะใช้จ่ายระหว่าง 
10,001 – 30,000 บาท/คน/ทริป (ร้อยละ 42.29) นักศึกษา ที่จะใช้จ่ายไม่เกิน 5,000 บาท/คน/ทริป (ร้อยละ 44.93) 
และผู้มีรายได้มากกว่า 30,000 บาท/เดือน ที่จะใช้จ่ายระหว่าง 10,001 – 30,000 บาท/คน/ทริป แบ่งเป็น ระหว่าง 30,001-50,000 บาท/เดือน (ร้อยละ 45.40) มากกว่า 50,000 บาท/เดือน (ร้อยละ 41.67)

 

4. ข้อกังวลระหว่างการท่องเที่ยว ในภาพรวม 3 อันดับแรก คือ การจราจร (ร้อยละ 57.97) ระดับราคาสินค้าและบริการที่อาจสูงขึ้นกว่าปกติ (ร้อยละ 46.71) และความแออัดของสถานที่ท่องเที่ยว (ร้อยละ 46.24) 

นายพูนพงษ์ กล่าวถึงผลการสำรวจครั้งนี้ว่า การท่องเที่ยวในประเทศช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปี 2566 มีแนวโน้มคึกคัก โดยเฉพาะในภาคเหนือ และการท่องเที่ยวภายในภูมิลำเนาทั้งในภาคเหนือ ภาคใต้ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบกับภาครัฐมีมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวต่างประเทศ ดังนั้น หน่วยงานและสถานประกอบการที่เกี่ยวข้องควรเตรียมความพร้อมในการอำนวยความสะดวก ให้สามารถรองรับจำนวนประชาชนไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้นกว่าปีก่อน