5 ปัจจัยเสี่ยง 'ส่งออก' ปี 67 l สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย
ดร.ชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) ระบุว่าภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยเดือนตุลาคม 2566 พบว่า การส่งออกมีมูลค่า 23,578.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัว 8.0% และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 841,366 ล้านบาท ขยายตัว 4.7%
ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 24,411.1 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 10.2% และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 881,124 ล้านบาท ขยายตัว 6.9% ส่งผลให้ดุลการค้าของประเทศไทยในเดือนตุลาคม 2566 ขาดดุลเท่ากับ 832.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเท่ากับ 39,758 ล้านบาท
ภาพรวมการค้าระหว่างประเทศของไทยในเดือนมกราคม – ตุลาคมของปี 2566 เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (YoY) พบว่า ไทยส่งออกรวมมูลค่า 236,648.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัว 2.7% และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 8,109,766 ล้านบาท หดตัว 2.6% (เมื่อหักทองคำ น้ำมัน และอาวุธยุทธปัจจัย พบว่าการส่งออกในช่วงมกราคม - ตุลาคม หดตัว 0.6%)
ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 243,313.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัว 4.6% และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 8,439,268 ล้านบาท หดตัว 4.7% ส่งผลให้ดุลการค้าของประเทศไทยในเดือนมกราคม - ตุลาคม 2566 ขาดดุลเท่ากับ 6,665.0 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 329,502 ล้านบาท
อนึ่ง สรท. คาดการณ์เป้าหมายการทำงานด้านการส่งออกรวมทั้งปี 2566 หดตัวที่ร้อยละ -1.5 ถึง 1 ขณะที่ปี 2567 คาดการณ์ส่งออกของไทยเติบโตที่ร้อยละ 1-2 (ณ เดือนธันวาคม 2566) โดยมีปัจจัยเสี่ยงที่เป็นอุปสรรคสำคัญในปี 2566 ได้แก่ 1) เศรษฐกิจทั่วโลกปี 2566 ในภาพรวมเติบโตได้น้อยกว่าที่คาดไว้และยังคงอยู่ในทิศทางชะลอตัว โดยเฉพาะเศรษฐกิจของประเทศหลัก 2) ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ จากภาวะสงครามที่ยืดเยื้อส่งผลให้ความต้องการสินค้าไม่แน่นอนและกระทบต่อการค้าและเศรษฐกิจโดยรวม 3) อัตราดอกเบี้ยทั่วโลกยังคงทรงตัวระดับสูง ส่งผลให้ชะลอตัวทางเศรษฐกิจถึงแม้อัตราดอกเบี้ยโดยรวมจะปรับลดลงบ้างแล้ว โดยคู่ค้าหลักยังคงมีอัตราดอกเบี้ยสูงเช่น สหรัฐ 4) ดัชนีภาคการผลิต (PMI) ยังคงทรงตัวและมีแนวโน้มหดตัวในบางตลาดสำคัญ ส่งผลให้ภาคการผลิตตึงตัว จากดัชนีภาคการผลิตเคลื่อนไหวใกล้เส้น base line โดยเฉพาะสหรัฐ ญี่ปุ่น เวียดนาม และ 5) ความกังวลเรื่องต้นทุนภาคการผลิตที่ยังมีความไม่แน่นอน อาทิ ค่าไฟฟ้าและค่าแรงขั้นต่ำ เป็นต้น
อนึ่ง สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทยมีข้อเสนอแนะสำคัญ ประกอบด้วย 1) บริหารจัดการลดต้นทุนการผลิตเพื่อรักษาความสามารถการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยในสถานการณ์เศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก โดยเฉพาะการบริหารต้นทุนพลังงาน ค่าไฟฟ้า อัตราดอกเบี้ย ค่าจ้างขั้นต่ำ ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม และ 2) เร่งรัดการจัดกิจกรรมส่งเสริมการส่งออกในตลาดเป้าหมายที่สำคัญ และเร่งการเจรจาการค้าเสรี (FTA) และความตกลงทางการค้าและความร่วมมือทางเศรษฐกิจรูปแบบอื่น อาทิ Mini FTA ทั้งนี้ เพื่อสร้างแต้มต่อและลดอุปสรรคในการเข้าถึงตลาดและแหล่งวัตถุดิบ ให้ผู้ประกอบการไทยสามารถนำเสนอสินค้าเข้าสู่ตลาดโลกและแสวงหาวัตถุดิบสำคัญได้มากขึ้น