“พันธุ์ข้าวเถื่อนเพื่อนบ้าน”บุกนาไทย “ธรรมนัส”จี้เอาผิด-แก้ปมผลผลิตต่ำ
“ธรรมนัส” สั่งกรมวิชาการเกษตร เร่งตรวจสอบชาวนาแห่ใช้พันธุ์ข้าวเพื่อนบ้านแก้ปมผลผลิตต่อไร่ข้าวไทยต่ำ จี้ “กรมการข้าว”รับรองพันธุ์ใหม่ให้ผลผลิตเกิน1,000 กก.ต่อไร่ หวังคงอัตลักษณ์ข้าวไทยเร่งแผนตลาดเติบโตต่อเนื่อง
ประเทศไทยมีเกษตรกรผู้ปลูกข้าว 4.68 ล้านครัวเรือน หรือประมาณ 17 ล้านคน และไทยส่งออกข้าวได้ 7.71 ล้านตัน มูลค่า 138,698 ล้านบาท นี่คือความสำคัญของภาคการผลิตสินค้าเกษตรที่ชื่อว่า “ข้าว”
ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยในการกล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “นโยบายรัฐกับอนาคตข้าวไทย" ในการประชุมเวทีข้าวไทย ประจำปี 2566 ภายใต้แนวคิด “อนาคตข้าวไทย : โอกาสและความท้าทาย” ว่า ได้สั่งการให้กรมวิชาการเกษตรและกรมการข้าว ตรวจสอบและทำความเข้าใจกับเกษตรกรหลังพบว่ามีการลักลอบให้นำพันธุ์ข้าวจากเพื่อนบ้านมาปลูกเนื่องจากได้ผลผลิตต่อไร่ที่สูง ขณะเดียวกันมีเอกชนบางกลุ่มส่งเสริมให้ชาวนาใช้พันธุ์ข้าวดังกล่าวโดยแลกกับการรับซื้อในราคาตลาดและยังพบการนำผลผลิตที่ได้ไปปะปนกับข้าวของไทยเพื่อส่งออก โดยอาจกระทบอัตลักษณ์และคุณภาพข้าวไทย
เร่งรับรองพันธุ์ข้าวให้ผลผลิตสูง
“เกษตรกรอยากให้กรมการข้าวรับรองพันธุ์ที่เขาใช้ปลูกอยู่ ซึ่งไม่สามารถทำได้เพราะไม่ใช่พันธุ์ข้าวของไทย แต่ผมได้ถามไปที่กรมการข้าวว่ามีพันธุ์ไทยที่ให้ผลผลิตต่อไร่ตั้งแต่ 1 ตันได้หรือไม่ ก็พบว่ามี จึงเร่งให้กรมการข้าวรับรองพันธุ์ออกมาให้เร็วขึ้นให้ทันต่อความต้องการของเกษตรกร ซึ่งต้นปี2567 นี้จะนำพันธุ์ข้าวดังกล่าวออกมาให้ทันฤดูกาลเพาะปลูกในปี 2567 แน่นอน”
อย่างไรก็ตาม การปลูกข้าวจะต้องปรับเปลี่ยนวิธีการ กระบวนการผลิต ความต้องการตลาด ความต้องการของผู้บริโภค
และสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนไป ซึ่งรัฐบาลให้ความสำคัญกับข้าวซึ่งเป็นสินค้าเกษตรหลักของประเทศไทย จึงมุ่งเน้นการพัฒนาความสามารถด้านการผลิตและการตลาดตลอดโซ่อุปทาน ได้แก่ การวิจัยและพัฒนา การนำเครื่องจักรกล เทคโนโลยี และนวัตกรรมสมัยใหม่มาใช้ในการผลิต เพื่อลดต้นทุนด้านการเกษตร ส่งเสริมการทำนาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รองรับการเปลี่ยนแปลงต่อสภาพภูมิอากาศ ลดการเผาตอซังในไร่นา ส่งเสริมให้เกษตรกรนำเศษวัสดุเหลือใช้ในไร่นามาใช้ประโชน์ สร้างมูลค่าเพิ่ม เช่นการผลิตปุ๋ย การนำไปเป็นอาหารสัตว์ และการนำไปใช้ในโรงไฟฟ้าชีวมวล ช่วยลดมลพิษทางอากาศ PM 2.5
นอกจากนี้ ต้องสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรและสถาบันเกษตรกรเพื่อให้เกษตรกรมีอำนาจในการต่อรองและเข้าถึงปัจจัยการผลิตและการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ข้าว สามารถพึ่งพาตนเองได้ สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิต และ เพิ่มประสิทธิภาพการจัดการโลจิสต์เพื่อการส่งออกข้าวไทย
แนะใช้พันธุ์นอกร่วมพัฒนาข้าวไทย
นายนิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวว่าทางแก้ไขเรื่องผลผลิตต่อไร่ของไทยตกต่ำนั้นต้องขยายฐานพันธุ์ข้าว โดยไทยต้องยอมรับพันธุ์ข้าวจากต่างประเทศมาใช้หรือมาต่อยอดปรับปรุงร่วมกับพันธุ์ข้าวของไทย เปลี่ยนไปจากปัจจุบันที่ ไทยจะปรับปรุงพันธุ์ข้าวของไทยเท่านั้น ซึ่งมีข้อด้อยคือให้ผลผลิตต่อไร่ต่ำ
ทั้งนี้ พันธุ์ข้าวที่น่าสนใจคือสายพันธุ์จาปอนิกา (Japonica rice) แม้จะมีเมล็ดสั้นกว่าหอมมะลิของไทย แต่ผลผลิตต่อไร่สูง เหนียว หากได้ความหอมของมะลิไทยด้วยจะเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคมากขึ้น
นายณัฏฐกิตติ์ ของทิพย์ อธิบดีกรมการข้าว กล่าวว่า ขณะนี้กรมฯมีสภาพคล่องไม่เพียงพอ สำหรับเตรียมเมล็ดพันธุ์คุณภาพดี สำหรับให้ชาวนาไว้เพาะปลูก จึงเตรียมเสนอของบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น วงเงิน 2,000 ล้านบาท เพื่อสมทบเข้ากองทุนหมุนเวียนเพื่อผลิตและขยายพันธุ์ข้าว ที่ปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 2,000 ล้านบาท สามารถผลิตเมล็ดพันธ์ข้าวได้ประมาณปีละ 1.05 แสนตัน
ชาวนาใช้พันธุ์ข้าวปีละ1.3 ล้านตัน
ทั้งนี้ในแต่ละปีชาวนาต้องการใช้เมล็ดพันธุ์เพื่อเพาะปลูกประมาณ 1.3 ล้านตัน ประมาณ 50% หรือประมาณ 7.5 แสนตัน ได้จากเมล็ดพันธุ์ของเอกชน ประมาณ 1 แสนตันได้จากกรมการข้าวผลิตเอง ปริมาณ 2 แสนตันได้จากศูนย์ข้าวชุมชน ที่เหลือจากเกษตรกรเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ใช้เองดังนั้นหากได้เงินมาเพิ่มอีก 2,000 ล้านบาท จะทำให้กรมการข้าวสามารถผลิตเมล็ดพันธุ์ได้ประมาณปีละ 2.10 แสนตัน
ขณะนี้ความต้องการข้าวพื้นนุ่มมีจำนวนมาก ส่งผลให้พ่อค้าข้าวไม่มีข้าวพื้นนุ่มเพียงพอที่จะขาย พ่อค้าข้าว โรงสี บางกลุ่มธุรกิจค้าเมล็ดพันธุ์ข้าว มีการนำเมล็ดข้าวต่างประเทศเข้ามาให้ชาวนาปลูก เพราะชาวนาส่วนใหญ่จะเช่าที่นา เข้าไม่ถึงแหล่งทุนพ่อค้าข้าว โรงสีก็จะไปขอการสนับสนุนเมล็ดพันธุ์ ปัจจัยการผลิต และยังให้เครดิตกับชาวนาก่อนเพื่อเป็นแรงจูงใจ เมื่อทำนาเก็บผลผลิตได้แล้วก็จะรับซื้อผลผลิตข้าวนั้นๆ
อย่างไรก็ตาม เพื่อปัญหาการระบาดของข้าวเวียดนามในไทย จำเป็นต้องบังคับใช้กฏหมายอย่างจริงจัง และกรมการข้าวจะเร่งพัฒนาพันธุ์ข้าวพื้นนุ่มอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เมล็ดพันธุ์ข้าวมีศักยภาพ ตอบสนองความต้องการของชาวนาและผู้บริโภค