‘ไฟฟ้าสะอาด’ อาวุธใหม่ ไทยใช้ดึง‘การลงทุน’จากต่างประเทศ
สัปดาห์ทีผ่านมามีความเคลื่อนไหวที่สำคัญเกี่ยกับการกำหนดนโยบายพลังงาน โดยเฉพาะเรื่องทิศทางของ “ไฟฟ้าสะอาด” ของประเทศไทย
“เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง กล่าวระหว่างการปาฐกถาพิเศษงาน “sustainability forum 2024” ที่จัดโดย “กรุงเทพธุรกิจ” ว่าเรื่องของไฟฟ้าพลังงานสะอาดเป็นจุดขายใหม่ของประเทศไทยที่จะใช้ในการดึงดูดการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศ หรือ “FDI” ให้เข้ามายังประเทศไทย
นายกรัฐมนตรีเล่าว่าจากการที่ได้ไปเจรจากับบริษัทขนาดใหญ่ รวมทั้งในการหารือกับผู้นำในเวทีต่างๆ ทั้งในสหรัฐฯ จีน และ ซาอุดีอาระเบีย ต่างพูดถึงเรื่องความต้องพลังงานสะอาดที่เพิ่มขึ้น และมีบริษัทหลายรายที่สอบถามว่าหากมาลงทุนในประเทศไทย เราสามารถซัพพอร์ตไฟฟ้าสะอาดให้เขาได้หรือไม่ เพราะแต่ละบริษัทมีเป้าหมายในการลดคาร์บอนที่ชัดเจน
นายกรัฐมนตรีบอกด้วยว่าไทยเราจะต้องเดินหน้าเรื่องไฟฟ้าสะอาดอย่างจริงจัง โดยจะมีการปรับแผนกำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP) ที่ปัจจุบันมีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนอยู่ที่ 28% จะเพิ่มขึ้นเป็นไม่น้อยกว่า 50% ของกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งหมดภายในปี 2030 หรือในอีก 5 ปีข้างหน้า โดยแผน PDP ฉบับใหม่นี้จะประกาศใช้ในช่วงต้นปี 2567
ปัจจุบันข้อเรียกร้องของนักลงทุน บริษัทข้ามชาติ ขนาดใหญ่โดยเฉพาะที่ลงทุนในอุตสาหกรรมไฮเทค ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจดาต้าเซนเตอร์ สมาร์ทอิเล็กทรอนิกส์ โรงงานผลิตรถ EV หรือโรงงานผลิตไมโครชิประดับโลกที่เราอยากดึงเข้ามาตั้งฐานการผลิตในบ้านเรา ความต้องการที่เกี่ยวกับไฟฟ้าในวันนี้ไม่ได้ต้องการเพียงแค่ไฟฟ้าเสถียร ไฟไม่ตก ไม่ดับอีกต่อไป หากแต่ต้องการไฟฟ้าสะอาดที่พิสูจน์ได้ 100% ว่ามาจากแหล่งผลิตที่ไม่ได้ปล่อยคาร์บอนขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ
โชคดีที่ในเรื่องนี้ประเทศไทยได้เตรียมความพร้อมไว้มากกว่าประเทศอื่นๆในภูมิภาค นฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) บอกว่า “ไฟฟ้าสีเขียว” ที่ไม่ปล่อยคาร์บอนถือเป็น “อาวุธใหม่” ที่ประเทศไทยจะใช้ในการดึงการลงทุน
ภายในปี 2030 ประเทศไทยนั้นจะมีไฟฟ้าที่เป็นพลังงานสะอาด 100% หรือ “RE100” มากถึง 12,000 กิกะวัตต์ (Gwh) โดยคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)กำลังจะประกาศกลไกที่เรียกว่า “Utility Green Tariff” หรือ UGT ซึ่งเป็นกลไกใหม่ที่จะป้อนพลังงานให้กับภาคอุตสาหกรรม โดยจะเป็นพลังงานสะอาดที่สามารถตรวจสอบย้อนหลัง (Testable) ได้ว่าไฟฟ้าสะอาดที่มาใช้ในการผลิตนั้นใครเป็นผู้ผลิต มาจากแหล่งใด ทำให้มั่นใจว่าไม่ได้มีการปลอดการปล่อยคาร์บอน 100%
การปรับเปลี่ยนการผลิตไฟฟ้าโดยเพิ่มสัดส่วน “RE100” ของประเทศไทย และการเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนเป็น 50% ถือว่าอยู่ในช่วงสำคัญที่นานาชาติกำลัง หันหลังให้กับ “เชื้อเพลิงฟอสซิล”
ตามข้อมูลของทบวงพลังงานระหว่างประเทศ (EIA) บอกว่าปริมาณการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลจะถึงจุดสูงสุดในปี 2030 และเริ่มลดลง ขณะที่การใช้พลังงานสะอาดจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆอย่างมีนัยสำคัญ และหลายบริษัทประกาศแผนสู่ “ซีโร่คาร์บอน” อย่างเป็นทางการแล้ว
....ดังนั้นเมื่อมีเป้าหมายที่ชัดเจนแล้ว ต่อไปทุกภาคส่วนก็ต้องเดินหน้าปฏิบัติให้เป็นรูปธรรม เพื่อให้ อาวุธใหม่ในการดึงการลงทุนของไทยนั้น ใช้ได้ผล และมีประสิทธิภาพ เป็นเครื่องมือในดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศได้อย่างแท้จริง