ร้องนายกฯ พร้อม 3 รัฐมนตรี 'พาณิชย์-พลังงาน-เกษตร' แก้ปมกลุ่มทุนทำน้ำมันแพง
ทนายความและตัวแทนผู้บริโภคและประชาชน ร้องนายกฯ พร้อมด้วย รัฐมนตรี "พาณิชย์-พลังงาน-เกษตร" เร่งแก้ปมกรณีกลุ่มทุนเอาเปรียบประชาชนทำน้ำมันแพงทั้งแผ่นดิน
วันนี้ (20 ธ.ค. 2566) นายชัชนัย ปานเพชร ทนายความและตัวแทนผู้บริโภคและประชาชนผู้ได้รับความเดือดร้อนจากการเอารัดเอาเปรียบของกลุ่มทุนและผู้ค้าน้ำมัน ได้ทำหนังสือถึง นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี, นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์, นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และ ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ทั้งนี้ เพื่อขอให้ตรวจสอบและแก้ไขปัญหาการเอารัดเอาเปรียบของผู้ค้าน้ำมันโดยเร่งด่วน เนื่องจากปัจจุบันประชาชนหลายกลุ่มมีความเดือดร้อนอย่างมาก จากการกำหนดโครงสร้างราคาพลังงานน้ำมันของประเทศที่บิดเบือนไม่สอดคล้องกับต้นทุนที่แท้จริง เป็นโครงสร้างราคาที่เอารัดเอาเปรียบผู้บริโภคโดยผู้ค้าน้ำมันรายใหญ่และกลุ่มทุน ทำให้ราคาพลังงานน้ำมันในประเทศสูงเกินที่ควรจะเป็น ประกอบด้วย
1. หลักการและวิธีการกำหนดราคาน้ำมันภายในประเทศ ที่มีหลักการคำนวณและแหล่งอ้างอิงข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง บิดเบือนไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริง ทำให้ตัวเลขต้นทุนไม่ใช่ต้นทุนที่แท้จริง เป็นแต่เพียงการกำหนดเพื่อเอื้อประโยชน์ตอบแทนการลงทุน ให้กับผู้ค้าน้ำมันและกลุ่มทุนขนาดใหญ่ของประเทศเพียงไม่กี่รายเท่านั้น เช่น พบว่าโรงกลั่นขนาดใหญ่ในประเทศมีเพียง 4-5 ราย ซึ่งเป็นกลุ่มทุนหรือผู้ถือหุ้นเดียวกัน
การกำหนดราคาต้นทุนอ้างอิงของโรงกลั่น กำหนดให้เสมือนกลั่นที่ประเทศสิงค์โปร ทั้งที่โรงกลั่นตั้งอยู่ที่จังหวัดชลบุรีและระยองในประเทศไทย เมื่อกลั่นเสร็จคิดราคาต้นทุนอ้างอิงที่สิงค์โปร์ มีค่าขนส่งจากสิงค์โปร์มาประเทศไทย คิดค่าประกันภัย คิดค่าสูญเสียของน้ำมันสำเร็จรูปเข้าไปเป็นต้นทุนด้วย ทั้งที่ต้นทุนเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นจริง จึงทำให้ต้นทุนน้ำมันในประเทศสูงขึ้น
ทั้งนี้ ถือเป็นการเอารัดเอาเปรียบประชาชนผู้บริโภคอย่างมาก หรือเป็นการเอื้อประโยชน์ที่ไม่ควรได้ให้แก่พวกพ้องและกลุ่มทุนบางกลุ่มเท่านั้น โดยไม่สนใจใยดีต่อความเดือดร้อนของพี่น้อง ประชาชนผู้บริโภคในประเทศแต่อย่างใด จึงเห็นควรกำหนดปรับโครงสร้างราคาน้ำมัน ให้มีความถูกต้อง สอดคล้องกับข้อเท็จจริงเหมาะสมและเป็นธรรม
2. เงินอุดหนุนกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งจะเห็นว่ามีสัดส่วนที่มากเกินไป หากดูจากโครงสร้างราคาน้ำมันจะพบว่า ผู้ค้าน้ำมันได้รับการอุดหนุนจากกองทุนน้ำมันฯ อัตราชดเชยสูงถึง 5.04 บาทต่อลิตร ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงมาก จำนวนเงินในส่วนนี้ควรต้องพิจารณาหรือปรับลดลง
3. จากตัวเลขค่าการตลาดในโครงสร้างราคาขายน้ำมันในปัจจุบัน พบว่าค่าการตลาดในน้ำมันแต่ละชนิดมีค่าแตกต่างกันไป และค่าการตลาดของน้ำมันดีเซลปัจจุบันประมาณ 2.87 บาทต่อลิตร สูงสุดคือค่าการตลาดของน้ำมัน GASOHOL 91 ประมาณ 4.06 บาทต่อลิตร ซึ่งเป็นสัดส่วนของค่าการตลาดที่สูงเกินจริง ในขณะที่ค่าการตลาดที่หมาะสมนั้นควรกำหนดไม่เกิน 2.00 บาทต่อลิตร
4. ส่วนลดราคาจากผู้ผลิตและจำหน่ายน้ำมันบี 100 และการประมูลราคาจากผู้ลิตและจำหน่ายเอทานอล ปัจจุบันผู้ค้าน้ำมันมาตรา 7 ทุกราย ได้บีบบังคับเอาจากผู้ผลิตน้ำมันบี 100 ต้องลดราคาขายให้จึงจะได้รับโควต้าการขาย ซึ่งปัจจุบันส่วนลดราคาน้ำมันบี 100 สูงมากกว่า 3.0 บาทต่อลิตร ทำให้ผู้ผลิตน้ำมันบี 100 ต้องขาดทุนจากการผลิตทันที
โดยผู้ที่ได้รับผลกระทบเดือดร้อนก็จะเป็นเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มของประเทศที่ต้องขายผลผลิตปาล์มน้ำมันในราคาที่ต่ำลง ในลักษณะเดียวกันผู้ผลิตและจำหน่ายเอทานอลก็ต้องประมูลราคาขายเอทานอล กับผู้ค้าน้ำมันมาตรา 7 เพื่อให้ได้โควต้าการขายทั้งที่ขาดทุนเช่นเดียวกัน สุดท้ายแล้วเกษตรกรผู้เป็นต้นน้ำของกระบนการผลิตก็จะได้รับความเดือดร้อน ดังนั้น มาตรการกำหนดส่วนลดราคาน้ำมันบี 100 และการประมูลราคาเอทานอลนี้ จึงควรยกเลิกทันทีเพราะถือเป็นการปล้นเอาส่วนลด แสวงหาประโยชน์ที่ไม่ควรได้ของผู้ค้าน้ำมันมาตรา 7 เป็นการเอารัดเอาเปรียบและไม่เป็นธรรมกับผู้ผลิต
โดยโครงสร้างราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ประกอบด้วย ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซล = ราคา ณ โรงกลั่น + ภาษีสรรพสามิต + ภาษีเทศบาล + กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง + กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน + ค่าการตลาด + ภาษีมูลค่าเพิ่มราคา ณ โรงกลั่น
ด้วยเพียงเหตุที่กล่าวมาข้างต้นนั้น ผู้ค้าน้ำมันมาตรา 7 ได้รับประโยชน์ที่มิควรได้ไปมากกว่า 7.9 บาทต่อลิตร (กองทุนน้ำมัน + ค่าการตลาด + ส่วนลดจากผู้ผลิตบี 100) ข้อมูล ณ วันที่ 1 พ.ย.
2566 ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของประชาชนผู้บริโภค และเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างใหญ่ของระบบ เป็นเหตุที่ทำให้ราคาขายปลีกพลังงานน้ำมันในประเทศสูงกว่าหลายประเทศในภูมิภาคเดียวกัน และผู้ที่ต้องรับบาปกรรมนี้คือประชาชน
จะเห็นได้ว่าปัญหานี้เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่สำคัญ และมีผลกระทบต่อประชาชนหลายกลุ่มเดือดร้อน โดยหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องได้แก่ กระทรวงพลังงาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงพาณิชย์ ต้องเข้ามากำกับดูแลอย่างใกล้ชิดและจริงจัง ไม่เช่นนั้นจะส่งผลทำให้โครงสร้างราคาสินค้าเกษตรของประเทศพังเสียหาย เกษตรกรทั้งผู้ปลูกปาล์มน้ำมัน ปลูกอ้อย ปลูกมันสำปะหลัง ซึ่งเป็นเกษตรกรระดับรากหญ้าของประเทศได้รับความเดือดร้อน ที่สุดอาจลุกฮือกันขึ้นมาต่อต้านรัฐบาลได้
จึงใคร่ขอให้ท่านพิจารณาดำเนินการตรวจสอบเพื่อแก้ไขปัญหา ที่กระทบกับประชาชนหลายกลุ่มหลายภาคส่วน และหรือสั่งการให้หน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับดูแล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าดำเนินการตรวจสอบหาข้อเท็จจริง พร้อมทั้งบูระณาการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนทุกๆกลุ่มต่อไป
ทั้งนี้ นายชัชนัย ปานเพชร ในฐานะตัวแทนผู้บริโภคและประชาชนผู้ได้รับความเดือดร้อนจากการเอารัดเอาเปรียบของกลุ่มทุนและผู้ค้าน้ำมัน จะได้ร้องเรียนต่อเลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค
เพื่อดำเนินการร้องเรียน และขอให้ดำเนินการตรวจสอบการเอารัดเอาเปรียบของกลุ่มทุนและผู้ค้าน้ำมันและดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ ต่อไป