คลังเตรียมหารือนายกฯยกเครื่องคปภ.ปิดช่องโหว่ธุรกิจประกันภัย

คลังเตรียมหารือนายกฯยกเครื่องคปภ.ปิดช่องโหว่ธุรกิจประกันภัย

คลังหารือนายกฯเตรียมยกเครื่องกฎหมายคปภ.หวังปิดช่องโหว่กำกับธุรกิจประกันภัย เรียกความเชื่อมั่นและคุ้มครองผู้บริโภค เผยรัฐบาลเตรียมจัดสรรงบ 3-4 พันล้านเพื่อสมทบเข้ากองทุนวินาศภัย ขณะที่ ภาระหนี้สินกองทุนจะพุ่งเกือบแสนล้านบาท

กรณีปัญหาที่เกิดขึ้นกับบริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด และรวมถึง บริษัทประกันภัยหลายแห่ง ประสบปัญหาไม่สามารถจ่ายเคลมให้กับผู้เอาประกันได้ 

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า ทางกระทรวงการคลังไม่ได้นิ่งนอนใจ โดยเร็วๆนี้ ตนจะขอหารือกับนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังถึงแนวทางการกำกับดูแลธุรกิจประกันทั้งประกันชีวิตและประกันวินาศภัย พร้อมหาทบทวนบทบาทของสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.)​ว่า จะปรับแก้ไขแนวทางการกำกับให้สอดคล้องและทันสถานการณ์  มีช่องโหว่ และประเด็นใด ที่ต้องการให้รัฐบาลเข้าไปช่วยเหลือแก้ไขปัญหา เพื่อให้การส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย และคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชนที่ทำประกันเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

ผมไม่ได้กำกับดูแลคปภ.โดยตรง แต่รับทราบปัญหาที่เกิดขึ้นกับธุรกิจประกัน จึงจะนำปัญหาของธุรกิจประกันไปหารือกับนายกรัฐมนตรี เพื่อให้มีข้อสั่งการในการดำเนินการ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนผู้ทำประกันทั้งระบบ”

เขากล่าวว่า จากมูลหนี้ที่ผู้เอาประกันภัยเคลมประกันภัยโควิดหรือที่เรียกว่า ประกัน เจอ จ่าย จบ เป็นจำนวนมาก จนกระทั่งบริษัทประกันภัย ไม่สามารถจ่ายสินไหมชดเชยได้ และถูกถอนใบอนุญาตในที่สุด ซึ่งภาระที่เกิดขึ้นในปัจจุบันกว่า 6 หมื่นล้านบาท โดยยังไม่รวมภาระที่จะเกิดขึ้นในอนาคตจากบริษัทสินมั่นคงอีกจำนวนหนึ่งนั้น กองทุนประกันวินาศภัย ที่อยู่ภายใต้ คปภ.คงไม่สามารถรับภาระได้ทั้งหมด เนื่องจาก เงินกองทุนมีจำกัด ซึ่งที่สุดแล้ว รัฐบาลก็ต้องนำงบประมาณเข้ามาช่วยสมทบ

ทั้งนี้ กองทุนประกันวินาศภัยจะมีรายได้จาก 2 ส่วน คือ 1.การจ่ายเงินเข้ากองทุนปีละ 0.5% ของเบี้ยประกันภัยที่ได้รับของสมาชิกกองทุน ซึ่งเป็นบริษัทประกันภัยในประเทศ ซึ่งเงินจำนวนนี้อยู่ที่ประมาณ 600-700 ล้านบาท และ 2.งบประมาณจากภาครัฐที่สมทบเข้ามา ซึ่งเป็นไปตามกฎหมาย โดยในปีงบประมาณ 2567 รัฐบาลสมทบให้ 3-4 พันล้านบาท

“ด้วยเม็ดเงินดังกล่าว ยังไม่เพียงพอที่จะชำระหนี้ดังกล่าวได้ทั้งหมดในระยะเวลาอันสั้น ดังนั้น กลไกภาครัฐ อาจจะต้องเข้าไปรับภาระดังกล่าว ผ่านงบประมาณ แต่อาจเป็นการรับภาระได้ส่วนหนึ่งเท่านั้น เพราะเราไม่สามารถสมทบเข้ากองทุนได้ถึง 5-6 หมื่นล้านบาท” นายจุลพันธ์ กล่าวและว่า ทั้งนี้ คปภ.ได้เสนอทางออกด้วยการเสนอแก้ไขกฎหมาย เพิ่มเงินสมทบกองทุนเป็น 2.50% จากเดิม 0.5% แต่ยังไม่ได้รับการพิจารณา

สำหรับกรณีบริษัทสินมั่นคงที่แผนฟื้นฟูกิจการไม่ผ่านความเห็นชอบจากบอร์ดผู้ถือหุ้น และปัจจุบัน คปภ.ได้เข้าไปควบคุมการจ่ายเงินของบริษัทสินมั่นคงและสั่งให้หยุดรับประกันภัยรายใหม่นั้น หากบริษัทไม่สามารถผ่านแผนฟื้นฟูได้ ก็จะต้องเข้าสู่กระบวนการตามกฎหมาย ซึ่งที่สุดแล้ว ก็คือ การเพิกถอนใบอนุญาต ปัจจุบัน บริษัทสินมั่นคงประกันภัย มีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สินอยู่ 3 หมื่นล้านบาท โดยมีค่าสินไหมที่ค้างชำระ 5 แสนราย คิดเป็นวงเงิน 3.2 หมื่นล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นการเคลมประกันโครงการเจอ จ่าย จบ 3.5 แสนราย เป็นวงเงิน 3 หมื่นล้านบาท  ปัจจุบันบริษัทมีกรมธรรม์ประกันภัยที่ยังมีผลบังตับใช้อยู่ 1.87 ล้านกรมธรรม์

อย่างไรก็ตาม นายจุลพันธ์ กล่าวว่า แม้ว่า รัฐบาลจะสามารถอัดฉีดเงินเข้ากองทุนประกันวินาศภัย 5 หมื่นล้านบาททันที แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า การจ่ายเคลมประกันภัยจะสามารถทำได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจาก จะต้องมีการตรวจสอบความถูกต้องของการเคลมประกันภัย ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาพอสมควร