ดึงสายเดินเรือลงทุน 'แลนด์บริดจ์' คมนาคมเล็งเปิดประมูลปี 68
คมนาคมชู “แลนด์บริดจ์” ศูนย์กลางการขนส่งทางเรือของโลก หลังพบดีมานด์ส่งออกเชื่อมเอเชีย-ยุโรป-แอฟริกา พุ่งต่อเนื่อง เปิดประมูลปี 2569 มั่นใจนักลงทุนและธุรกิจสายการเดินเรือตอบรับดี เตรียมประมูลปี 2568 “ปานปรีย์” เผยนายกฯ เร่งโรดโชว์แลนด์บริดจ์
“ฐานเศรษฐกิจ” งานสัมมนา GO THAILAND 2024 GREEN ECONOMY LANDBRIDGE โอกาสทอง ? โดยในช่วง Landbridge : โอกาสและความท้าทาย ได้มีการนำเสนอแนวทางการผลักดันโครงการแลนด์บริดจ์ที่จะเป็นจุดขายใหม่ของประเทศไทย
นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า แลนด์บริดจ์เป็นโครงการที่ศึกษาและดำเนินการมานาน ซึ่งปี 2565 มีปริมาณขนส่งสินค้าทั่วโลก 37.7 ล้านล้านดอลลาร์ มีปริมาณขนส่งสินค้าในเอเชีย 40% และยุโรป 38% คิดเป็นการนำเข้าสินค้า 19 ล้านล้านดอลลาร์ และการส่งออกสินค้า 18.7 ล้านล้านดอลลาร์
ขณะที่เส้นทางการเดินเรือทั่วโลกมีหลายเส้นทาง อาทิ ช่องแคบฮอมูส คลองสุเอส คลองปานามา และช่องแคบมะละกาที่อยู่ใกล้ไทย และมีปริมาณการขนส่งสินค้าผ่านไทยเข้าช่องแคบมะลากาจำนวนมาก โดยเฉพาะสินค้าด้านพลังงาน เช่น น้ำมันที่ผลิตจากตะวันออกกลาง มีอัตราการขนส่ง 16 ล้านบาร์เรลต่อวัน อีกทั้งมีโรงงานผลิตที่อยู่ในจีนตอนใต้ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้และไต้หวัน ซึ่งสอดรับตลาดส่วนใหญ่ที่อยู่เอเชียกลาง เอเชีย ยุโรปและแอฟริกา
นอกจากนี้ ยังพบว่ามีประเทศที่ผลิตน้ำมันเพื่อส่งออกผ่านช่องแคบมะละกาหลายประเทศ ดังนี้ 1.สหรัฐ 2.ซาอุดิอาระเบีย 3.รัสเซีย 4.แคนาดา 5.จีน 6.สหรัฐอาหรับเอมิเรต และ 7.อิหร่าน ส่งผลให้มีปริมาณเรือขนส่งสินค้าผ่านช่องแคบมะละกาอยู่ที่ 85,000 ลำต่อปี โดยในปี 2573 รองรับปริมาณเรือขนส่งสินค้าสูงสุดที่ 122,000 ลำต่อปี ทำให้ช่องแคบมะลากาเป็นจุดที่สำคัญต่อการขนส่งสินค้าทางทะเลโลกและมีอิทธิพลต่อภูมิภาค
นายชยธรรม์ กล่าวว่า ขณะนี้การจราจรทางเรือติดขัดขึ้นจึงเป็นปัจจัยกระตุ้นโครงการแลนด์บริดจ์ให้น่าสนใจขึ้น ขณะเดียวกันไทยมีจุดแข็ง คือ ตำแหน่งที่ตั้งที่อยู่ระหว่างกลางของเส้นทางการเดินเรือโลกที่มีความหนาแน่นมากแห่งหนึ่งของโลก ทั้งเส้นทางเรือขนส่งน้ำมันและตู้สินค้า ทำให้แลนด์บริดจ์ คือคำตอบในเรื่องนี้ เป็นศูนย์กลางการคมนาคมทางน้ำของโลก
“ปัจจุบันโครงการแลนด์บริดจ์อยู่ระหว่างศึกษาความเหมาะสมรูปแบบธุรกิจ (Business Model) ทั้งการออกแบบเบื้องต้นท่าเรือ รถไฟ และศึกษา EHIA ท่าเรือและ EIA ทางรถไฟ ซึ่งกุญแจสำคัญที่จะทำให้โครงการแลนด์บริดจ์สำเร็จ ไม่ได้อยู่ที่ระยะเวลาการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน แต่อยู่ที่ Business Model”
ทั้งนี้ กลุ่มนักลงทุนที่มีศักยภาพจะเป็นสายเดินเรือ ซึ่งในปัจจุบันสายเดินเรือได้รวมกลุ่ม 3 กลุ่มใหญ่ ส่วนแบ่งตลาด 84.6% ของตลาดขนส่งตู้คอนเทนเนอร์โลก ดังนี้
1.กลุ่ม 2M ส่วนแบ่งการตลาด 35.6% ประกอบด้วย MAERSK และ msc
2.กลุ่ม Ocean Alliance ส่วนแบ่งการตลาด 30.3% ประกอบด้วย COSCO SHIPPING , OOCL , EVERGREEN และ CMA CGM
3.กลุ่ม The Alliance ส่วนแบ่งการตลาด 18.7% ประกอบด้วย Hapag-Lloyd , YANG MING และ ONE
วางแผนเปิดประมูลปี 2569
ทั้งนี้ สิ่งสำคัญของโครงการแลนด์บริดจ์ คือ การเชิญชวนนักลงทุนต่างชาติมาร่วมลงทุน โดยให้เอกชนเป็นผู้ลงทุนรับสัญญาสัมปทาน 50 ปี ซึ่งในช่วงที่ผ่านมารัฐบาลได้เริ่มโรดโชว์ในต่างประเทศบ้างแล้ว และได้รับการตอบรับที่ดีทั้งจากนักลงทุนและสายการเดินเรือ ส่วนขั้นตอนดำเนินการหลังจากนี้ คาดว่าโรดโชว์จะแล้วเสร็จภายในไตรมาสที่ 1 ปี 2567
หลังจากนั้นจะดำเนินการเสนอร่าง พ.ร.บ.เขตพิเศษภาคใต้ (SEC) ต่อสำนักงาน SEC ภายในไตรมาสที่ 4 ปี 2567 และดำเนินการออกประกาศเชิญชวนนักลงทุนภายในไตรมาสที่ 4 ปี 2568 พร้อมเปิดประมูลได้ภายในไตรมาสที่ 2 ปี 2569 ส่วนการเวนคืนที่ดินจะดำเนินการได้ภายในไตรมาสที่ 4 ปี 2569 คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างภายในปี 2569 โดยจะเปิดให้บริการได้ภายในปี 2573
รัฐบาลเร่งโรดโชว์แลนด์บริดจ์
นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ Thai Economic Outlook Navigating Growth and Challenge ว่า การเดินทางเยือนต่างประเทศของนายกรัฐมนตรีได้ย้ำศักยภาพเศรษฐกิจไทย ดึงดูดการลงทุนสร้างการรับรู้โครงการแลนด์บริดจ์ ซึ่งเอกชนหลายประเทศให้การตอบรับที่ดีและเร่งทำความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ)
ทั้งนี้ การขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยดำเนินเพียงลำพังไม่ได้ แต่ต้องผลักดันร่วมกับประเทศเพื่อนบ้านด้วย รวมถึงซอฟต์พาวเวอร์ก็มีส่วนสร้างความเข้มแข็งและเพิ่มขีดความสามารถให้กับไทย
“ปีหน้าโลกเปลี่ยนแปลงเร็วจึงต้องเตรียมพร้อมทั้งเชิงรับและเชิงรุก การต่างประเทศเป็นเรื่องใกล้ตัวกว่าที่หลายคนคิดและต้องช่วยกัน เพื่อเดินหน้าและรับมือความท้าทายอย่างมีภูมิคุ้มกัน” นายปานปรีย์ กล่าว
หวั่นการเมืองโลกแบ่งขั้วรุนแรงขึ้น
ขณะนี้การเมืองโลกอยู่สภาวะแบ่งขั้วและน่าวิตกกังวลโดยเฉพาะการแข่งขันระหว่างจีนและสหรัฐ สงครามยูเครน และความขัดแย้งในตะวันออกกลาง ยิ่งทำให้การแบ่งขั้วโลกรุนแรงมากขึ้นเกิดนโยบายแบบพร้อมชน และการกีดดันรูปแบบต่างๆ มากขึ้น ทำให้เกิดการแข่งขันภูมิรัฐศาสตร์ ภูมิเศรษฐศาสตร์ และภูมิเทคโนโลยี แต่ความท้าทายดังกล่าวอาจนำไปสู่โอกาสความร่วมมือได้ไทยจึงต้องอยู่ให้เป็น มีจุดยืนและเป้าหมาย เพื่อบริหารความเสี่ยงใช้ประโยชน์จากโอกาสที่เกิดขึ้นและพร้อมรับการแข่งขันที่เข้มข้น
สำหรับปัญหาสภาพภูมิอากาศ รัฐบาลมองว่าพลังงานสีเขียวและเน็ตซีโร่เป็นเรื่องที่ทั่วโลกให้ความสำคัญแม้การเดินหน้าหาฉันทามติบางประเด็นยังติดขัด เช่น การลดใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล แต่ข้อกังวลด้านนี้ก็ช่วยผลักดันให้แต่ละประเทศต้องปฏิบัติเพื่อทำการค้ากับประเทศอื่น
รวมทั้งไทยต้องแสดงท่าทีมั่งมุ่นในการมีส่วนร่วมดำเนินการด้านสภาพอากาศต้องสนับสนุนอุตสาหกรรมลดปล่อยก๊าซคาร์บอน และเน้นพลังงานสะอาดแม้การเปลี่ยนผ่านสีเขียวต้องใช้เวลาแต่ผู้ประกอบหลายรายเดินหน้าไปบ้างแล้ว ด้วยแนวทางพัฒนาขององค์กรอย่างยั่งยืน (อีเอสจี)
ทั้งนี้ความท้าทายด้านเทคโนโลยีดิสรัปชัน มาจากการแข่งขันของขั้วอำนาจ ที่นำไปสู่การแข่งขันเทคฯขั้นสูง เพราะช่วยเพิ่มพูนอำนาจของประเทศ ดังนั้น การกำหนดตำแหน่งของประเทศเกี่ยวกับเทคฯจึงเป็นเรื่องสำคัญ ไทยต้องต่อยอด พัฒนา ประยุกต์เทคโนโลยี เพื่อเป็นผู้นำตลาดเช่นพัฒนาแพ็คเกจเซมิคอนดักเตอร์แทนการพัฒนาเซมิคอนดักเตอร์เอง นอกจากนี้หลายประเทศเริ่มพูดคุยเรื่องธรรมาภิบาลสำหรับเอไอมากขึ้น เนื่องจากเอไอได้เปลี่ยนวิถีการทำงานและการใช้ชีวิต
“บีโอไอ” ชูจุดแข็งการลงทุนสีเขียว
นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวบรรยายพิเศษหัวข้อ “นโยบายลงทุนไทย ภายใต้บริบทใหม่” ว่า การเดินทางไปโรดโชว์ต่างประเทศร่วมกับคณะนายกรัฐมนตรีสะท้อนให้เห็นว่าบริษัทชั้นนำของโลกพูดถึงเป้าหมายการบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนเป็นเรื่องหลักขององค์กร ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนสีเขียว การใช้พลังงานสะอาด และการลดปล่อยคาร์บอน
ทั้งนี้ รัฐบาลหลายประเทศทั่วโลกต่างให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ โดยมีการออกกฎระเบียบเพื่อผลักดันเรื่องเหล่านี้ อาทิ European Green Deal ในยุโรปเพื่อผลักดันเป้าหมายเน็ตซีโร่ในปี 2050 รวมทั้งมาตรการคาร์บอนข้ามพรมแดน (CBAM) การส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้า Inflation Reduction Act ของสหรัฐ Green New Deal ของเกาหลีใต้ และ Green Growth Strategies ของญี่ปุ่น
“เมื่อมองกลับมาที่ไทยเองเรามีจุดแข็งหลายด้านที่สอดคล้องกับเทรนด์นี้ จึงมีศักยภาพที่จะเป็นแหล่งรองรับการลงทุนของอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ไม่ว่าจะเป็นด้านโครงสร้างพื้นฐาน ซัพพลายเชน บุคคลากร นโยบายที่สนับสนุนการลงทุนสีเขียว รวมทั้งความพร้อมของพลังงานสะอาด”
นายนฤตม์ กล่าวว่า กระทรวงพลังงานและคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กำลังเร่งผลักดันเรื่อง Utility Green Tariff (UGT) ซึ่งจะเป็นกลไกที่จะป้อนพลังงานสะอาดให้กับภาคอุตสาหกรรม โดยสามารถตรวจสอบย้อนกลับไปถึงผู้ผลิตได้อย่างชัดเจน ทั้งยังเป็นแหล่งพลังงานสะอาดที่ผ่านการรับรอง ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นที่ต้องการอย่างมากสำหรับบริษัทที่จะเข้ามาลงทุน
นอกจากนี้ บีโอไอยังเดินหน้าในการกำหนดทิศทางการลงทุนเชิงรุกในช่วง 4 ปีข้างหน้า ซึ่งการลงทุนเพื่อเปลี่ยนผ่านสู่เทคโนโลยีสีเขียวก็เป็น เป้าหลักทั้งในด้านอุตสาหกรรมเป้าหมายและในเชิงนโยบาย
รวมทั้งที่ผ่านมามีคำขอรับการส่งเสริมกับบีโอไอกิจการกลุ่ม BCG อาทิ ไบโอเทค พลาสติกชีวภาพ ผลิตไฟฟ้าและเชื้อเพลิงจากวัสดุทางการเกษตร พบว่าตั้งแต่ปี 2558-ก.ย.2566 มากกว่า 3,759 โครงการ คิดเป็นเงินลงทุน 782,367 ล้านบาท
“อีวี” จุดเปลี่ยนสู่เศรษฐกิจสีเขียว
นอกจากนี้ อุตสาหกรรมยานยนต์ที่เป็นอุตสาหกรรมหลักของประเทศจะเป็นกุญแจสำคัญในการเปลี่ยนผ่านไทยไปสู่เศรษฐกิจสีเขียวได้ ซึ่งรัฐบาลก็ได้ดำเนินนโยบายที่ชัดเจนและครอบคลุมในการส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมในประเทศและส่งเสริมการลงทุนใหม่ให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของภูมิภาค
ล่าสุดคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติมาตรการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า ระยะที่ 2 (EV3.5) ซึ่งจะมีผลตั้งแต่ปี 2567-2570 สนับสนุนให้ดีมานด์รถอีวีในประเทศเติบโตต่อเนื่อง เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย 30@30 หรือ มีการผลิตรถ ZEV 30% ของรถยนต์ทั้งหมดที่ผลิตในประเทศ
ขณะเดียวกันบอร์ดอีวีก็ยังมีโจทย์ที่ต้องเร่งขับเคลื่อนในระยะต่อไป อาทิ เรื่องการกำหนดค่าไฟที่เหมานสมสำหรับสถานีชาร์จ มาตรการสนับสนุนกลุ่มรถอีวีเชิงพาณิชย์ รวมถึงมาตรการสนับสนุนลงทุนแบตเตอรี่ระดับเซลล์ในประเทศ