'ไออาร์ซี' ชี้ 9 จุดเสี่ยงเศรษฐกิจไทย ปี 67 ฟื้นยาก จับตา 'ทะเลแดงดิสรัปชัน'
“ไออาร์ซี” เปิด “9 จุดเสี่ยงเศรษฐกิจไทย ปี 2567” แม้ขยายตัวแต่ฟื้นยากปัจจัยลบเพียบ จับตา “ทะเลแดงดิสรัปชัน” บวกปัญหาภูมิรัฐศาสาตร์ป่วนต้นทุนขนส่งดันราคาน้ำมันระดับ 120-150 ดอลลาร์ มอง GDP ไทยปีหน้าโต 2.5% – 3.1% ส่งออกโตในรอบ 2 ปีอยู่ที่ 2.2% – 2.5% หวังนโยบายภาครัฐช่วยฟื้น
รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช นักวิชาการอิสระและผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ที่ปรึกษาอาวุโส บริษัท อินเทลลิเจนท์ รีเสิร์ช คอนซัลแตนท์ (IRC) กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยปี 2567 แม้จะฟื้นตัวโดยจะเติบโตอยู่ที่ 2.5% – 3.1% การส่งออกขยายตัวในรอบ 2 ปีซึ่งโตอยู่ที่ 2.2% – 2.5% แต่ยังมีปัจจัยเสี่ยงรุมเร้ามากมาย
สำหรับระดับความเสี่ยงตัวแปรเศรษฐกิจไทย ที่มีผลต่อ GDP ปี 2567 ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย เพราะศักยภาพการส่งออกยังไม่ดีในช่วง 2 ทศวรรษ เศรษฐกิจไทยถดถอย แม้ปี 2567 จะขยายตัวเพิ่มขึ้นแต่ก็ยังถือว่าไม่เต็มศักยภาพของ GDP ไทย
“การส่งออกปีนี้ติดลบ 1.8% มูลค่า 282,251 ล้านดอลลาร์ ปีหน้าปรับตัวดีขึ้นฟื้นตัวในรอบ 2 ปีแต่ยังมีความเสี่ยงสูงในตลาดโลก มูลค่าปีหน้าคาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 288,461-288,884 ล้านดอลลาร์ ซึ่งปัจจัยความเสี่ยงเศรษฐกิจไทยที่อาจไม่ขยายตัวเท่าที่ควรมาจาก 4 ปัจจัย คือ 1 การบริโภค 2. การลงทุน 3. การส่งออก 4. นักท่องเที่ยวจีน”
รศ.ดร.อัทธ์ กล่าวว่า สำหรับ 9 จุดเสี่ยงเศรษฐกิจและการส่งออกไทยปี 2567 ประกอบด้วย
1. เศรษฐกิจโลกชะลอตัว ซึ่งชะลอตัว ติดต่อกัน 3 ปี โดยปี 2567 กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF)ได้คาดการณ์เศรษฐกิจโลกจะโต 2.9% และ องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) คาดการณ์เศรษฐกิจโลกโต 2.7% โดยประเทศพัฒนาแล้วเศรษฐกิจโต 1.4% และตลาดใหม่และประเทศกำลังพัฒนาโต 4%
2. หนี้คนไทยมหาศาล ทำกำลังซื้อและเศรษฐกิจลดลง โดยมีหนี้ครัวเรือนรวมในระบบและนอกระบบ 19 ล้านล้านบาท เฉลี่ยต่อคนพบว่า มีรายได้ติดลบ 1,002 บาทต่อคนต่อเดือน เมื่อรวมกับหนี้เอกชนและหนี้สาธารณะจะทำให้คนไทยมีเงินติดลบ 29,573 บาทต่อคนต่อเดือน ส่งผลให้กำลังซื้อและเศรษฐกิจไทยลดลง อีกทั้ง ครัวเรือนไทยมีหนี้สูงสุดในอาเซียนถึง 91% ของ GDP
3. การปิดตัวของธุรกิจไทย ปีนี้เลิกกิจการเพิ่มขึ้นจากหลัก 1 พันราย เป็นรัะดับกว่า 2 พันราย ทั้งปีรวมกว่า 2 หมื่นราย ปีหน้าจะปิดเพิ่มขึ้นที่ 2,300-2,500 ราย
โดย 9 ธุรกิจไทยเสี่ยงปิดกิจการ ปี 2567 ได้แก่ ธุรกิจเหล็ก, ธุรกิจรถยนต์มือสอง, ธุรกิจผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ใช้น้ำมัน ทั้งมอเตอร์ไซค์และรถยนต์, ธุรกิจผลิตสายไฟฟ้าและกล่องกระดาษ, ธุรกิจอาหารแช่แข็งขายในตลาดสด โดยเฉพาะพ่อค้าแม่ค้าหมูแช่แข็ง ไก่แช่แข็ง ปลาแช่แข็ง) ธุรกิจค้าปลีกห้องแถวธุรกิจรับซื้อสินค้าเกษตร, ธุรกิจการเกษตรแบบล้าสมัย และธุรกิจสิ่งทอที่ใช้เส้นใยสังเคราะห์
4. สงครามภายใต้ความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์ กระทบการส่งออกไทย ราคาน้ำมัน การค้า และการขนส่งทางเรือ ทั้งสงครามอิสราเอลกับกลุ่มฮามาส ส่งผลให้การส่งออกไทยไปอิสราเอลม.ค.-ต.ค. 2566 ลดลง 1.5% โดยปี 2565 ไทยส่งออกไปอิสราเอล 0.3% เมื่อเทียบกับการส่งออกรวมของประเทศ
อย่างไรก็ตาม อาจจะกระทบประเทศรายล้อม ประกอบด้วย อียิปต์ เลบานอน จอร์แดน ซีเรีย ซึ่งไทยทำการค้ากับอียิปต์มากสุด แม้ยังไม่ขยายวงกว้าง จากข้อมูลตั้งแต่วันที่ 7ต.ค. 2566 ของการที่เริ่มสงครามการส่งออกไทยไปอิสราเอลลดลง 26.7% ดังนั้น หากขยายวงไป 4 ปรเทศรอบข้างคาดว่าส่งออกปี 2567 มูลค่าส่งออกจะลดลง 12.1% อยู่ที่รัะดับ 1,487-1,758 ล้านดอลลาร์ จากปี 2565 มีมูลค่า 2,308 ล้านดอลลาร์ ส่วนปี 2566 จะอยู่ที่ 1,847 ล้านดอลลาร์
“ตอนนี้สงครามสู้กันในเฟส 2 แล้ว นอกจากการค้าที่ลดลงไปแล้ว ราคาน้ำมันดิบปี 2567 หากขยายวงไปเฟส 3 ทั้งสงครามอิสราเอล ฮามาส เลบานอน ซีเรีย และอิหร่าน รวมถึงรัสเซีย-ยูเครน จะวิ่งไปที่ 120-150 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล โดยเฉลี่ยขณะนี้อยู่ที่ระดับ 80-95 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ภายใต้สงครามขยายวงเฟส 2 ที่ 95-120 ดอลลาร์ตอ่บาร์เรล”
นอกจากนี้ จากสถานการณ์โจรสลัดฮูตีโจมตีเรือพาณิชย์ขนส่งผ่านทะเลแดงและกระทบเส้นทางโลจิสติกส์ เกิดทะเลแดงดิสรัปชันต่อสินค้าไทย 9 หมื่นล้านบาท กินส่วนแบ่งการขนส่ง 12% ของการค้าโลก มูลค่า 2 ล้านล้านดอลลาร์ กระทบการขนส่งเรือสินค้า 1.8 หมื่นลำต่อปี ราคาน้ำมันปรับขึ้น 3-4 ดอลลาร์ ส่งผลให้ห่วงโซ่การผลิตสะดุด เพราะต้องเพิ่มเวลาขนส่ง 1-2 สัปดาห์ ค่าระวางเพิ่ม 10-15%
5. อัตราดอกเบี้ยผันผวน มีผลต่ออัตราแปลกเปลี่ยน ส่วนตัวมองมีทั้งขึ้นและลง ที่มาจากปัจจัยเงินเฟ้อในสหรัฐล่าสุด 3% เป้าหมาย 2% มีโอกาสที่คงหรือเพิ่ม และยังมีโอกาสปรับเพิ่มในไทยด้วย
6. ศักยภาพการสงออกและการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ต่ำ โดยสินค้าส่งออกไทยอยู่ในกลุ่มศักยภาพต่ำสุด และ FDI ไทย ยังคงติดหล่มอันดับ 5 ของอาเซียน เป็นรองจากสิงคโปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และเวียดนาม
7. พึ่งพิงเศรษฐกิจจีนมากเกินไป ปี 2567 ไทยพึ่งพาเศรษฐกิจจีน 16.2% ต่อ GDP เศรษฐกิจจีนปี 2567 ชะลอตัวอยูที่ 4.2 จาก 5% เหลือ 4.2% ทั้งนี้ ไทยส่งออกไปจีนมีอัตราเพิ่มและลดลงตลอดปีละราว 3 หมื่นกว่าล้านดอลลาร์ ซึ่งเวียดนามส่งออกไปจีนที่ 6 หมื่นล้านดอลลาร์ จำนวนนักท่องเที่ยวจีนก่อนเกิดโควิดอยู่ที่ 10 ล้านคน เม็ดเงิน 6 แสนล้านบาท ปีนี้ 3.5 ล้านคน ซึ่งปี 2567 จะยังไม่พีคอยู่ที่ 6 ล้านคน จาก 32 ล้านคน
8. เอลนีโญ่ โดยประเทศไทยเกิดภัยแล้งติดต่อกันตั้งแต่ปี 2565 ปริมาณน้ำ 2,000 มิลลิเมตร เหลือ 1400 มิลลิเมตร ปี 2567 จะเหลือ 1,300 มิลลิเมตร ส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าเกษตรไทย ปี 2567 มูลคา 26,234 ล้านดอลลาร์ (25,414 ถึง 26,781 ล้านดอลลาร์) หรือมูลค่าการส่งออกลดลง 4% (-2% ถึง -7%) กระทบการส่งออกรวม 8.8% - 9.3%
9. ต้นทุนการผลิตสูง ทั้งค่าแรง ค่าไฟ และราคาน้ำมันสูงเมื่อเทียบกับประเทศอาเซียน ดังนั้น การปรับขึ้นค่าจ้างกลุ่มเกษตรกรจะได้รับผลกระทบ อาทิ ยางพารา อ้อย ข้าวโพด ส่วนอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบคือ ผลิตไม้ เครื่องหนัง เคมีภัณฑ์ และสิ่งทอ เป็นต้น
“9 ปัจจัยเสียง ยังมีปัจจัยบวก คือค่าเงินบาทผันผวนอ่อนในระดับ 34-36 บาทต่อดอลลาร์ เงินเฟ้อไทยยังต่ำ และนโยบายภาครัฐมาช่วนสนับสนุน ส่วนการแจกเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท จะกระตุ้นเศรษฐกิจได้ 0.6-0.8% ส่วนนโยบายการส่งออก เดินหน้าขยาย FTA เร่งเปิดตลาดใหม่ มุ่งเน้นไปทางยุโรป และแถบอาหรับ แอฟริกาให้มากขึ้น ขับเคลื่อนเศรษฐกิจชายแดนจะส่งผลเศรษฐกิจไทยในทางบวกได้”