ไทยเร่งสกัดสินค้าจีน ภาคการผลิต กระทุ้ง‘พาณิชย์-อุตฯ’

ไทยเร่งสกัดสินค้าจีน ภาคการผลิต กระทุ้ง‘พาณิชย์-อุตฯ’

ภาครัฐเข้มมาตรการป้องกันสินค้านำเข้าไม่ได้มาตรฐาน เข้ามาทุ่มตลาดไทย กระทบกำลังการผลิตลดต่อเนื่อง 4 ไตรมาส “พาณิชย์” หวังเอดีป้องกันความเสียหายผู้ผลิตไทย สมอ.เร่งเพิ่ม มอก.รับมือสินค้านอกทะลัก ‘สินค้าจีน’ ครองอีคอมเมิร์ซไทยเบ็ดเสร็จ

ผลผลิตอุตสาหกรรมของไทยลดลงต่อเนื่อง โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมกลุ่มการผลิตเพื่อส่งออก (สัดส่วนการส่งออกเกิน 60%) ในไตรมาส 3 ปี 2566 ลดลงต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 7 ขณะที่ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมกลุ่มการผลิตเพื่อบริโภคภายในประเทศ (สัดส่วนส่งออกน้อยกว่า 30%) ลดลงต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 4

ทั้งนี้ภาคอุตสาหกรรมได้มีความกังวลต่อการใช้อัตรากำลังการผลิตและผลผลิตอุตสาหกรรมที่ลดลง โดยเฉพาะกำลังการผลิตสินค้าป้อนตลาดในประเทศ ซึ่งมีข้อเรียกร้องให้ภาครัฐเพิ่มความเข้มงวดของมาตรการที่ใช้กำกับดูแลสินค้านำเข้า

นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า สินค้าทั่วโลกไหลเข้ามาในประเทศหลายประเภท ไม่เฉพาะจีน ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ไม่มีอำนาจห้ามนำเข้า แต่หากผู้ประกอบการเห็นว่ากระทบหรือความเสียหายต่ออุตสาหกรรมก็ร้องเรียนได้ ซึ่งจะมีมาตรการดูแลโดยใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti-Dumping Measures : AD) ขึ้นมา

สำหรับมาตราการ AD เป็นมาตรการทางการค้าที่ประเทศผู้นำเข้าใช้เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมภายในที่ได้รับความเสียหาย หรือมีแนวโน้มที่จะได้รับความเสียหายจากการทุ่มตลาด เช่น สินค้าเหล็ก ที่ปัจจุบันมีการสินค้าเหล็กจากจีนเข้ามาไทยจำนวนมากและราคาถูกกว่าเหล็กที่ผลิตในไทย 

ทั้งนี้ ผู้ผลิตในไทยยื่นคำขอให้มีกรมการค้าต่างประเทศใช้มาตรการกับรายการสินค้าเหล็กได้ และหากคณะกรรมการพิจารณาการทุ่มตลาดและการอุดหนุน (ทตอ.) พิจารณาแล้วว่ามีการทุ่มตลาดเกิดขึ้นจริงจะมีการเรียกเก็บภาษี AD ทำให้ผู้นำเข้าต้องเสียภาษีแพงขึ้น

สำหรับการนำเข้าสินค้าดังกล่าว แต่ละมาตรการมีผลใช้แค่ชั่วคราวเท่านั้น และจะถูกทบทวนใหม่ในระยะเวลาไม่เกิน 5 ปีเพื่อพิจารณาว่าจะยุติหรือใช้ต่อไป ทั้งการใช้มาตรการเอดีส่วนใหญ่เป็นสินค้าเหล็ก 95% ขณะที่สินค้าตัวอื่นมีน้อย

รายงานข่าวจากกรมการค้าต่างประเทศ ระบุว่า สถานการณ์ใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดกับประเทศคู่ค้า โดยสินค้าที่ไทยใช้มาตราการAD จำนวน 50 รายการการ อยู่ในสถานะใช้มาตราการ AD 22 รายการ อาทิ เหล็กแผ่นรีดเย็นชุบหรือเคลือบด้วยโลหะเจือของอลูนิเนียมและสังกะสีแบบจุ่มร้อน ที่มีแหล่งกำเนิดจากจีน เกาหลีใต้และไต้หวันโดยอยู่ในสถานะใช้มาตรการ AD 

เหล็กแผ่นรีดร้อนเจือโบรอน ชนิดเป็นม้วนและไม่เป็นม้วน มีแหล่งกำเนิดจากจีน อยู่ในสถานะใช้มาตรการและอยู่ระหว่างทบทวน ,ยางในชนิดที่ใช้กับรถจักรยานยนต์ มีแหล่งกำเนิดจากจีน อยู่ในสถานะใช้มาตรการและอยู่ระหว่างทบทวน 

เหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดเป็นม้วนและไม่เป็นม้วนเจออัลลอย มีแหล่งกำเนิดจากจีน สถานะอยาระหว่างการไต่สวน ,หลอดและท่อทำด้วยเหล็กและเหล็กกล้า มีแหล่งกำเนินจากจีนและเกาหลีใต้มีสถานะใช้มาตราการ

ทั้งนี้ ในปี 2566 มี 3 กรณีที่ใช้มาตราการ AD ประกอบด้วย 1.เหล็กแผ่นรีดเย็นชุบหรือเคลือบด้วยโลหะเจือของอลูนิเนียมและสังกะสีแบบจุ่มร้อน จากจีน 2.เหล็กแผ่นรีดเย็นหรือเคลือบด้วยโลหะเจือของอลูนิเนียมและสังกะสีแบบจุ่มร้อน จากเกาหลีใต้ 3.เหล็กแผ่นรีดเย็นหรือเคลือบด้วยโลหะเจือของอลูนิเนียมและสังกะสีแบบจุ่มร้อน จากไต้หวัน

สมอ.เข้มงวดตรวจมาตรฐานสินค้า

นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้กำชับให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ยกระดับความเข้มข้นของ 8 มาตรการเชิงรุก ภายใต้ภารกิจ “Quick win” ในการตรวจติดตามการจำหน่ายสินค้าในท้องตลาดและช่องทางออนไลน์อย่างเข้มงวด เพื่อกวาดล้างสินค้าด้อยคุณภาพ

รวมทั้งหากไม่ได้มาตรฐานอาจเกิดอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ทั้งยังเพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดแก่กิจการอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจในประเทศ โดยเฉพาะสินค้าที่อยู่ในการควบคุมของ สมอ.ทั้งหมด 143 รายการ

นอกจากนี้ ได้สั่งการให้ สมอ.สร้างความตระหนักและดำเนินการอย่างเข้มงวดกับร้านค้าออนไลน์ในทุกแพลตฟอร์มที่มีการโฆษณาขายสินค้า รวมถึงการรีวิวขายสินค้า หรือโฆษณาโบรชัวร์ออนไลน์ ซึ่งถือเป็นกระบวนการหนึ่งในการขายสินค้าด้วยเช่นกัน ให้การโฆษณาสำหรับสินค้าควบคุมที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของประชาชน จะต้องมีเครื่องหมายมาตรฐาน มอก. และ QR Code ที่ตัวสินค้า เพื่อให้ประชาชนสามารถตรวจสอบได้ว่าสินค้าดังกล่าวมีคุณภาพตามมาตรฐาน ตั้งแต่ต้นทางไปจนถึงมือผู้บริโภค

หารือแพลตฟอร์มออนไลน์

นายวันชัย พนมชัย รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม รักษาราชการแทนเลขาธิการ (สมอ.) กล่าวว่า สมอ.ได้เชิญผู้จำหน่ายสินค้าแพลตฟอร์มออนไลน์กว่า 300 ราย เพื่อหาแนวทางในการควบคุมสินค้าที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของประชาชน เช่น ช้อปปี้ ลาซาด้า ติ๊กต๊อก เซ็นทรัลเทรดดิ้ง ไลน์คอมพานี บุญถาวร สยามโกลบอลเฮาส์ ออฟฟิศเมท ทเวนตี้โฟร์ช้อปปิ้ง ทรูจีเอส แอลจี พานาโซนิค ชาร์ป โตชิบา ยูนิลีเวอร์ ดูโฮม เฮเฟเล่ และอาร์เอส มอลล์

ทั้งนี้ จะให้ความสำคัญกับสินค้าจำพวกเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือน เช่น กระทะไฟฟ้า เตาปิ้งย่าง หม้ออบลมร้อน พัดลม ไดร์เป่าผม ที่หนีบผม ปลั๊กพ่วง รวมถึงยางรถยนต์ พาวเวอร์แบงค์ ของเล่น หมวกกันน็อก เหล็ก และวัสดุก่อสร้าง

สำหรับรายงานการดำเนินงานเชิงรุกตั้งแต่ 1 ต.ค.2566-2 ธ.ค.2566 พบว่าตรวจจับยึดและอายัดสินค้าจากผู้ประกอบการ 50 ราย คิดเป็นมูลค่า 74.49 ล้านบาท ประกอบด้วย 

1.ยางล้อและยานยนต์ เหล็กและวัสดุก่อสร้าง 20 ราย มูลค่า 56.15 ล้านบาท 

2.ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 20 ราย มูลค่า 17.43 ล้านบาท 

3.โภคภัณฑ์ เครื่องมือแพทย์ ยางและผลิตภัณฑ์ยาง สีและพลาสติก และเคมี 10 ราย มูลค่า 901,362 บาท

ทั้งนี้ สมอ.จะตรวจติดตามอย่างเข้มข้นตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2567 เป็นต้นไป หากพบว่าร้านค้าออนไลน์หรือแพลตฟอร์มรายใดยังไม่ปฏิบัติตาม จะดำเนินการตามกฎหมายทันที

แนะรัฐเร่งออกมาตรการสกัด

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า สินค้าราคาถูกจำนวนมากทะลักเข้ามาในปี 2566 เพราะเศรษฐกิจโลกที่ยังเปราะบางและกำลังซื้อยังไม่ฟื้นตัวทำให้ดีมานด์ในตลาดโลกไม่ขยายตัวมากนัก ขณะที่กำลังการผลิตยังเท่าเดิม ทำให้มีสินค้าที่ผลิตจำนวนมากจากทั่วโลกเข้ามาทุ่มตลาดในอาเซียนที่ยังพอมีกำลังซื้อรวมถึงไทย ซึ่งทำให้สินค้านำเข้าเหล่านี้มีราคาถูกกว่าสินค้าที่ผลิตในประเทศ

โดยเห็นได้ชัดในกลุ่มสินค้าเหล็ก เนื่องจากการก่อสร้างและความต้องการใช้ทั่วโลกลดลง ทำให้สินค้าเหล็กจากทั้งจีน ญี่ปุ่น และหลายประเทศในยุโรป เข้ามาทุ่มตลาดในไทยและส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมเหล็กในประเทศ ทำให้ปัจจุบันอุตสาหกรรมเหล็กมีกำลังการผลิตรวมราว 20% ต่ำกว่ากำลังการผลิตเฉลี่ยของทุกอุตสาหกรรมซึ่งอยู่ที่ 59%

ทั้งนี้ ภาครัฐจะต้องเร่งออกมาตรการในการปกป้องอุตสาหกรรมภายในประเทศอย่างเข้มงวด เช่น การออกมาตรฐานควบคุม และมาตรฐานความปลอดภัยอื่นๆ เพื่อรับมือการนำเข้าอย่างเสรี ซึ่งแต่ละประเทศก็มีมาตรการที่ต่างกัน โดยเป็นการชะลอให้สินค้าเหล่านี้เข้ามาได้น้อยลง หากภาครัฐไม่มีมาตรการรับมือที่ดีอีกทั้งเปิดทางสะดวกให้สินค้าต่างประเทศเข้ามาทุ่มตลาดได้ง่ายจะส่งผลกระทบอุตสาหกรรมการผลิตในประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

นอกจากนี้ อีก 20 กว่าอุตสาหกรรมที่เป็นสมาชิก ส.อ.ท.ได้ร้องเรียนความเดือดร้อนหลังพบสินค้าราคาถูกที่ไม่ได้คุณภาพมาตรฐานจากต่างประเทศทะลักเข้ามา ทั้งแบบถูกกฎหมาย ลักลอบนำเข้าและสำแดงเท็จ ซึ่งสินค้าเหล่านี้ราคาต่ำกว่าสินค้าที่ผลิตในประเทศ 10-20% อย่างเช่นกรณีหมูเถื่อนที่ไม่มีการตรวจสอบเข้ามาถล่มตลาดค้าปลีก

‘สินค้าจีน’กินรวบอีคอมเมิร์ซ

ประเทศไทย กลายเป็นจุดหมายสำคัญของการลงทุนจาก “จีน” หากเจาะลึกไปที่กลุ่มเทคโนโลยี อีคอมเมิร์ซ จะพบว่า จีน คือ ผู้เล่นรายใหญ่ และบางตลาดกลายเป็น “ผู้เล่นหลัก” ครองส่วนแบ่งการตลาดเกินครึ่งหรือมากกว่านั้น โดยเฉพาะกลุ่มใหญ่ทุนจีนอย่าง “อาลีบาบา” ยังไม่นับรวมในกลุ่ม “สมาร์ทโฟน หรือแกดเจ็ท” สัญชาติจีน ที่กำลังครองส่วนแบ่งตลาดในไทยมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ภาพรวมใหญ่ของอีคอมเมิร์ซไทย ที่หลายฝ่ายจับตามอง คือ “การทะลักเข้ามาของสินค้าจีน” ปัจจุบันกินสัดส่วนเกินครึ่ง โดยเฉพาะการที่ “รายใหญ่” อย่าง “อาลีบาบา” เจ้าของแบรนด์อีมาร์เก็ตเพลสรายใหญ่อย่าง “ลาซาด้า” แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซหลักในไทย เดินเครื่องคลังสินค้าขนาดใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในไทย และเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ยิ่งเป็นแต้มต่อให้ “สินค้าจีน” ครองพื้นที่สินค้าอุปโภคบริโภคในไทยอย่างเต็มที่

ใช้ช่องว่างไม่ต้องเสียภาษี

นายภาวุธ พงษ์วิทยภานุประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เพย์ โซลูชั่น จำกัด และผู้ก่อตั้ง TARAD.com ผู้คร่ำหวอดในวงการอีคอมเมิร์ซไทย วิเคราะห์ว่า สินค้าจีนยังคงบุกเข้าไทยกันอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากการเชื่อมต่อของระบบขนส่งจากจีนมาประเทศไทย “ง่าย” และสะดวกขึ้นเรื่อยๆ อีกทั้งยังมีการใช้กลไกของช่องว่างของการไม่ต้องเสียภาษีศุลกากรขาเข้า โดยการนำสินค้าไปวางไว้ในโกดังเขตปลอดอากร (Free Zone) ทำให้สินค้าจีนที่นำเข้ามาขายในไทย มีความได้เปรียบกว่าสินค้าในประเทศ หรือผู้ที่นำเข้าเสียภาษีอย่างถูกต้อง

แต่ก็ต้องชื่นชมภาครัฐของไทยที่มีการควบคุมติดตามสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน เช่น สินค้าที่ไม่มี มอก. ,อ.ย. และมาตรฐานต่างๆ ออกไปจากมาร์เก็ตเพลสทำให้สินค้าของจีนบางส่วน ที่ไม่ได้มาตรฐานไม่สามารถขายได้แต่สินค้าเหล่านี้ก็แอบไปขายในช่องทางออนไลน์อื่นที่รัฐควบคุมไม่ถึงแทน

“การมาของสินค้าจีนจะเริ่มเปลี่ยนรูปแบบ เป็นสินค้าที่มีแบรนด์ มีมาตรฐาน และทำถูกต้องมากขึ้น ซึ่งการมารูปแบบนี้จะเข้ามาแข่งขันกับลูกค้าคนไทยอย่างตรงไปตรงมา ซึ่งสินค้าจีนจะมีความได้เปรียบคือเรื่องราคา ดังนั้นผู้ประกอบการที่ขายสินค้าเหมือนกับสินค้าจริงต้องปรับตัว หรืออาจจะต้องปรับธุรกิจ เพื่อให้สอดคล้องกับรูปแบบของการแข่งขันการค้าที่รุนแรงเพิ่มมากขึ้น”

นายภาวุธ มองว่า หากธุรกิจไทยต้องแข่งขันกับสินค้าจีน การแข่งขันด้านราคาไม่ใช่ทางออก หากต้องปรับธุรกิจให้มีความได้เปรียบกว่า โดยการเพิ่มบริการหลังการขาย และการเพิ่มมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าที่คุณขายอยู่ เพื่อให้ได้เปรียบมากกว่าสินค้าจีน จุดที่ธุรกิจไทยได้เปรียบมากกว่าสินค้าจริงคือ ความใกล้ชิดกับลูกค้า และการให้บริการที่ครบวงจรตามที่ลูกค้าต้องการ

สัญญาณเตือนสินค้าจีนมากขึ้น

นายธนาวัฒน์ มาลาบุปผา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไพรซ์ซ่า จำกัด, ที่ปรึกษาและนายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย กล่าวกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า ประเด็นสินค้าจีน ไม่ใช่เรื่องใหม่เพราะที่ผ่านมาผู้ให้บริการแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซทุกราย นำเข้าสินค้าจากผู้ค้าจีนมาวางขายอยู่ก่อนแล้ว เพียงแค่ว่าขณะนี้กำลังเป็นกระแส

แต่นับเป็นสัญญาณเตือนอีกครั้งถึงการเข้ามาและวิธีการที่สามารถจะทำได้ ซึ่งแน่นอนว่ายิ่งจะทำให้สามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้เร็วมากขึ้น และคาดว่าจากนี้กระแสจะยิ่งแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งจะมี Tiktok ที่มีการไลฟ์ขายสินค้าจีนเป็นแรงกระตุ้นอีกทางหนึ่งด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้สินค้าจากจีนในตลาดอีคอมเมิร์ซไทย น่าจะมีสัดส่วนมากกว่า 80-90% และหลังจากนี้สถานการณ์การซื้อขายบนอีคอมเมิร์ซไทยน่าจะคึกคักมากขึ้นไปอีก