เศรษฐา สั่งรื้อยุทธศาสตร์ชาติ20ปี เพิ่มมิติ ภูมิรัฐศาสตร์-AI - พลังงานสะอาด

เศรษฐา สั่งรื้อยุทธศาสตร์ชาติ20ปี เพิ่มมิติ ภูมิรัฐศาสตร์-AI - พลังงานสะอาด

“เศรษฐา”นั่งหัวโต๊ะประชุมบอร์ดยุทธศาสตร์ชาติ สั่ง สศช.ปรับปรุงยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ให้ทันบริบทการใหม่ ทั้งปัญญาประดิษฐ์ ภูมิรัฐศาสตร์ พลังงานสะอาด หวังเพิ่มช่องทางให้คนรุ่นใหม่มีส่วนร่วมขับเคลื่อนประเทศ พร้อมเห็นชอบแผนขับเคลื่อนปี 2568 กว่า 309 โครงการ

ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (2561-2580) เป็นแผนการพัฒนาประเทศที่กำหนดกรอบและแนวทางการพัฒนาให้หน่วยงานรัฐต้องทำตาม โดยมีเป้าหมายเมื่อสิ้นแผนจะทำให้ไทยพ้นจาก Middle Income Trap เข้าสู่ประเทศพัฒนาแล้วและมีรายได้เฉลี่ยคนละ 13,000 ดอลลาร์/ปี

การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติจะมีการปรับปรุงได้ โดยในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้จัดทำยุทธศาสตร์ชาติเฉพาะกิจปี 2564-2565 บนสถานการณ์โควิด-19 โดยมีเป้าหมาย “ล้มแล้วลุกไว" (Resilience) ซึ่งให้ความสำคัญกับ Economic Transformation , สร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจฐานราก , Future Growth , การพัฒนาศักยภาพและคุณภาพชีวิต และการฟื้นฟูและพัฒนาประเทศ

รัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน ได้ประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 27 ธ.ค.2566 ร่วมกับนายวันมูหะหมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร , นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรีมีข้อสั่งการในที่ประชุมเพื่อให้ยุทธศาสตร์ชาติเป็นเครื่องมือพัฒนาได้เป็นรูปธรรม สอดคล้องบริบทการพัฒนาที่เปลี่ยนรวดเร็วในปัจจุบัน อาทิ เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) , Cloud computing  , พลังงานสะอาด และภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งปัจจัยดังกล่าวมีผลต่อการเคลื่อนย้ายแรงงานคุณภาพ

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีให้คณะกรรมการฯ ร่วมหารูปแบบดำเนินงานและการขับเคลื่อนประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติที่เหมาะสม โดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ควรทบทวนปรับปรุงยุทธศาสตร์ชาติให้ทันบริบทการพัฒนาโลกสม่ำเสมอ  เพื่อให้ยุทธศาสตร์ชาติเป็นกรอบแนวทางการพัฒนาประเทศที่ยืดหยุ่น ทันสมัยและมีประสิทธิภาพ 

หวังคนรุ่นใหม่ร่วมขับเคลื่อนประเทศ

รวมทั้งเพื่อให้ประชากรรุ่นใหม่ที่จะเป็นกำลังการพัฒนาประเทศที่สำคัญได้เป็นส่วนร่วมในการขับเคลื่อนประเทศ

สำหรับยุทธศาสตร์เป็นการวางกรอบโครงยุทธศาสตร์ที่ให้รัฐบาลและคนทั้งประเทศรับรู้และทำงานในทิศทางประเทศไทยในอนาคต ซึ่งต้องการให้เป็นแนวทางเดียวกัน โดยนายกรัฐมนตรีเห็นว่าการมียุทธศาสตร์เป็นเรื่องดี แต่ไม่เชื่อการวางแผนแล้วล็อกตัวเองไว้นานเกินไป ซึ่งไม่มีใครวางแผนนานถึง 20 ปี เพราะแม้กระทั่ง 5 ปียังทำได้ยาก เพราะโลกเปลี่ยนเร็วขึ้นจากเทคโนโลยีสมัยใหม่ 

ทั้งนี้ เมื่อ 6-10 เดือนที่แล้ว อาจไม่เคยได้ยิน Chat GPT หรือ Artificial Intelligence หรือพลังงานสะอาดรูปแบบใหม่ที่จะกำหนดทิศทางโลก โดยพลังงานสะอาดพบว่าเมื่อไปเจรจากับต่างประเทศจะเป็นเรื่องแรกที่ยกมาหารือ และเรื่องเหล่านี้เป็นจุดเริ่มต้นของ War of talent ที่ทุกบริษัท ทุกรัฐบาล ทุกประเทศทั่วโลกดึงผู้มีความสามารถไปทำงาน และเป็นเรื่องของภูมิรัฐศาสตร์ที่ไทยต้องปรับยุทธศาสตร์ให้เหมาะสมแต่ละช่วงเวลา

รวมทั้งนายกรัฐมนตรีต้องการให้ยุทธศาสตร์คล่องตัวจึงให้ทบทวนและมีความยืดหยุ่นตามสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของโลก โดยต้องการให้พิจารณารูปแบบการดำเนินงานที่เหมาะสมที่จะให้ยุทธศาสตร์เกิดประโยชน์ได้จริง รวมถึงสอดคล้องสถานการณ์โลก

นอกจากนี้ต้องไม่ปิดกั้นอนาคตของประเทศเพื่อให้การพัฒนาของลูกหลานในอีก 20 ปีข้างหน้าไม่ถูกผูกมัดด้วยความคิดของคนรุ่นปัจจุบัน เพื่อให้มีโอกาสปรับเข้ากับคนรุ่นใหม่ที่จะเติบโตขึ้น และให้มีโอกาสเลือกทิศทางการวางยุทธศาสตร์และก้าวไปพร้อมกับสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลง

ต่ออายุสำนักงาน ป.ย.ป.อีก 1 ปี

 ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ มีมติเห็นชอบ 4 เรื่อง และมีมติรับทราบ 3 เรื่อง สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้

1.รับทราบผลการประเมินความคุ้มค่าการปฏิบัติภารกิจของสำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (สำนักงาน ป.ย.ป.) เพื่อให้คงปฏิบัติหน้าที่ที่รัฐบาลมอบหมายต่อ 1 ปี โดยให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) และสำนักงานข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ร่วมทบทวนและปรับปรุงอำนาจหน้าที่สำนักงาน ป.ย.ป.ให้สอดคล้องกับภารกิจ และประเมินความคุ้มค่าของสำนักงาน ป.ย.ป.

 2.เห็นชอบ (ร่าง) โครงการเพื่อขับเคลื่อนการบรรลุเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ชาติประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568 จำนวน 309 โครงการ โดยมอบหมายให้ สศช.นำเสนอผลการพิจารณาเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาสั่งการ 

รวมทั้งเห็นชอบแนวทางการขับเคลื่อนโครงการสำคัญตามที่ สศช.เสนอ โดยทุกหน่วยงานควรเร่งสร้างบุคลากรผู้ที่ถ่ายทอดองค์ความรู้ในการจัดทำโครงการ (ครู ก.) เพื่อถ่ายทอดกระบวนการ หลักการ และขั้นตอนการทำโครงการสำคัญที่นำไปสู่การจัดทำโครงการแบบคานงัดที่ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศ

เพิ่มหน่วยงานเจ้าภาพขับเคลื่อน

 3.เห็นชอบการปรับเปลี่ยนหน่วยงานเจ้าภาพขับเคลื่อนแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติเพิ่มเติม เพื่อให้เหมาะสมระหว่างเนื้อหาแผนแม่บทฯ กับภารกิจหน้าที่หน่วยงานมากขึ้น โดยมอบหมาย สศช.นำผลการพิจารณาเสนอ ครม.เพื่อพิจารณาสั่งการ โดยหน่วยงานเจ้าภาพทุกระดับต้องเร่งประสานและบูรณาการการดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานร่วมขับเคลื่อน

4.เห็นชอบการจัดทำคำสั่งกลไกการดำเนินการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อให้การดำเนินการพัฒนาคนทุกช่วงวัยและการแก้ไขปัญหาความยากจนเป็นไปอย่างบูรณาการมีประสิทธิภาพต่อเนื่อง เป็นประโยชน์สูงสุดและมีความยั่งยืนในการพัฒนา 

รวมทั้งมอบหมายทุกหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องเร่งจัดส่งข้อมูลที่เชื่อมโยงด้วยเลขบัตรประชาชน 13 หลักให้ สศช.เพื่อที่ สศช.จะประมวลผลหากลุ่มคนเป้าหมายประจำปี 2567 นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ มีมติรับทราบ 3 เรื่อง ดังนี้

1.รับทราบความก้าวหน้าการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ชาติของ สศช.ในฐานะสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติร่วมกับทุกหน่วยงานของรัฐในห้วง 5 ปีแรก (2561-2565) ของยุทธศาสตร์ชาติ รวมทั้งแนวทางขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติห้วงที่ 2 (2566-2570) ตามกรอบหลักการบริหารงานคุณภาพ (PDCA) ที่มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการเพื่อให้ไปในทิศทางเดียวกัน และนำไปสู่การพุ่งเป้าการดำเนินงานได้

เร่งสรรหากรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

2.รับทราบแนวทางการสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ โดย สศช.ในฐานะสำนักงานเลขานุการ จะดำเนินการสรรหาผู้ที่มีคุณสมบัติเหมาะสม และเสนอรายชื่อต่อนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการยุทธศาสตร์ชาติเพื่อเห็นชอบการแต่งตั้ง

รวมทั้งแนวทางการแต่งตั้งคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ โดยเป็นการแต่งตั้งขึ้นใหม่ 1 คณะ ประกอบด้วยผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ หรือประสบการณ์ที่ครอบคลุมยุทธศาสตร์ชาติทั้ง 6 ด้าน จำนวน ไม่เกิน 15 คน และให้สำนักงานฯ ในฐานะสำนักงานเลขานุการ ดำเนินการสรรหารายชื่อผู้ทรงคุณวุฒิที่มีคุณสมบัติ และเสนอคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติตามขั้นตอนต่อไป

 3.รับทราบผลการประเมินผลสัมฤทธิ์ พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2560 และ พ.ร.บ.แผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ พ.ศ.2560 ซึ่งเป็นการดำเนินการตามขั้นตอน พ.ร.บ.หลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ.2562 ที่กำหนดให้หน่วยงานผู้รับผิดชอบกฎหมายดำเนินการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายเมื่อครบ 5 ปี 

ทั้งนี้ให้ พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ.2560 ยังมีผลบังคับใช้ต่อไป และ สศช.ในฐานะผู้รับผิดชอบกฎหมายดำเนินการยกเลิก พ.ร.บ.แผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ พ.ศ.2560 ภายในกรอบระยะเวลาที่กำหนด และให้หน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องร่วมสนับสนุนการดำเนินการดังกล่าวอย่างบูรณาการ