ปี 67 ผลไม้ไทย“เหนื่อย”เจอคู่แข่งแย่งส่วนแบ่งตลาด“ตลาดจีน”
จับตา“ตลาดผลไม้จีน” ปี 67 เดือด โดยเฉพาะ”ทุเรียน หลังจีนไฟเขียวให้เวียดนาม-ฟิลิปินส์ นำเข้าทุเรียนได้ "พาณิชย์"แนะเจาะตลาดใหม่ ลดการพึ่งพาตลาดจีนเพียงตลาดเดียว
"ผลไม้ไทย" ถือเป็นสินค้าส่งออกอันดับต้นๆของไทย โดยในปี 2565 ไทยส่งออกผลไม้ไปตลาดโลกกว่า 2.94 ล้านตัน สร้างมูลค่าการส่งออก 1.72 แสนล้านบาท โดยผลไม้สดเป็นสินค้าเกษตรที่มีศักยภาพในการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและรายได้ให้กับประเทศอย่างต่อเนื่อง จึงต้องให้ความสำคัญทั้งตลาดภายในประเทศและตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะตลาดต่างประเทศ ที่ผลไม้บางชนิดมีการพึ่งพาตลาดส่งออกในสัดส่วนสูง เช่น ทุเรียน ลำไย และมังคุด มีสัดส่วนการส่งออกสูงถึง 80 – 90 % ของปริมาณผลผลิตทั้งหมด
สำหรับช่วง 10 เดือนแรกของปี 2566 (ม.ค.-ต.ค.) ไทยส่งออกผลไม้สดปริมาณรวม 1,747,957 ตัน ขยายตัว 12.7 % เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยผลไม้ที่มีปริมาณการส่งออกสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1. ทุเรียน 965,284 ตัน 2. ลำไย 274,064 ตัน 3. มังคุด 245,049 ตัน 4. มะม่วง 104,154 ตัน และ 5. สับปะรด 36,618 ตัน ตามลำดับ
เมื่อคิดเป็นมูลค่า พบว่า ไทยส่งออกผลไม้สดเป็นมูลค่ารวม 5,065.9 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 31.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ผลไม้ที่มีมูลค่าการส่งออกสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1. ทุเรียน 3,998.3 ล้านดอลลาร์ 2. มังคุด 494.1 ล้านดอลลาร์ 3. ลำไย 312.2 ล้านดอลลาร์ 4 มะม่วง 86.4 ล้านดอลลาร์ และ 5. ส้มโอ 31.9 ล้านดอลลาร์
โดยตลาดส่งออกหลักของไทยอันดับ 1 ได้แก่ ตลาดจีน มีมูลค่าส่งออกรวม 4,639 ล้านดอลลาร์ มีสัดส่วน 91.6 % ของมูลค่าการส่งออกผลไม้สดของไทย รองลงมา คือ รองลงมา คือ มาเลเซีย 2.0% ฮ่องกง1.6% อินโดนีเซีย 1.0% และเกาหลีใต้ 0.8%
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จีนจะเป็นในผู้นำเข้าผลไม้รายใหญ่ของโลก และความต้องการนำเข้าผลไม้สดของจีนมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง แต่ไทยยังต้องเผชิญความท้าทายท่ามกลางการแข่งขันในตลาดจีน โดยเฉพาะกับเวียดนาม ที่พบว่าในปี 2565 จีนมีอัตราการนำเข้าผลไม้ทั้งหมดจากเวียดนามเติบโตกว่า 41 % ขณะที่การนำเข้าจากไทยหดตัว 4 % ซึ่งผลไม้สำคัญ คือ ทุเรียน โดยในปี 2565 จีนมีมูลค่าการนำเข้าทุเรียนสดจากไทย คิดเป็นสัดส่วน 95 % และนำเข้าจากเวียดนาม 5 % จากเดิมที่ไทยเคยครองส่วนแบ่งตลาดทุเรียนในจีนทั้งหมด
“นภินทร ศรีสรรพางค์” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2566 (ม.ค.-ต.ค. จีนมีมูลค่าการนำเข้าทุเรียนสดจากไทย คิดเป็นสัดส่วน 70% และนำเข้าจากเวียดนามเพิ่มเป็น 30 % จะเห็นได้ว่าหลังจากที่จีนเริ่มอนุญาตการนำเข้าทุเรียนจากเวียดนาม ก็ทำให้โครงสร้างส่วนแบ่งตลาดทุเรียนในจีนเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งทุเรียนเวียดนามมีข้อได้เปรียบด้านฤดูกาลเก็บเกี่ยวที่ยาวนานกว่า ทำให้สามารถตอบสนองความต้องการของตลาดจีนได้ในช่วงนอกฤดูกาลผลิตของไทย นอกจากนี้ เวียดนามยังมีความได้เปรียบด้านภูมิศาสตร์ที่มีพรมแดนติดกับจีนทำให้การขนส่งใช้ระยะเวลาสั้นและมีต้นทุนต่ำกว่า
ไม่เพียงเท่านั้น ทุเรียนของไทยในตลาดจีนยังต้องรับมือกับผู้เล่นหน้าใหม่อย่างฟิลิปปินส์ ที่จีนเพิ่งอนุญาตให้นำเข้าทุเรียนได้เป็นประเทศที่ 3 เมื่อเดือนมกราคม 2566 และมาเลเซียที่ได้ยื่นขออนุมัติการส่งออกทุเรียนเข้าสู่ตลาดจีนแล้ว ซึ่งคาดว่าจะได้รับการอนุมัติการส่งออกทุเรียนเข้าจีนในโอกาสครบรอบ 50 ปีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการฑูตมาเลเซีย – จีนในปีหน้านี้ รวมทั้งมาเลเซียด้วย นอกจากนี้ประเทศจีนยังสามารถผลิตทุเรียนได้อีกด้วย
“ผลไม้สดของไทยพึ่งพาการส่งออกไปยังตลาดจีนเป็นหลัก ดังนั้น ต้องเร่งเจาะตลาดส่งออกศักยภาพใหม่ๆ เพื่อลดความเสี่ยงในการพึ่งพาตลาดส่งออกหลักเพียงตลาดเดียว ขณะเดียวกัน ก็ต้องรักษาส่วนแบ่งในตลาดส่งออกหลักอย่างจีนควบคู่ไปด้วย”นายนภินทร กล่าว
ปัจจุบันสำนักงานศุลกากรจีน (GACC) อนุญาตให้นำเข้าผลไม้จากไทยกว่า 22 ชนิด ได้แก่ มะขาม น้อยหน่า มะละกอ มะเฟือง ฝรั่ง เงาะ ลองกอง ละมุด เสาวรส ส้มเปลือกล่อน ส้ม ส้มโอ สับปะรด กล้วย มะพร้าว ขนุน ลำไย ทุเรียน มะม่วง ลิ้นจี่ มังคุด และชมพู่
“ผลไม้ไทย” กำลังจะเผชิญกับความท้าทายที่มากขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะ”ตลาดจีน”ที่ถือเป็นตลาดใหญ่และตลาดของไทย เพราะจะต้องเจอกับ”คู่แข่ง”อีกหลายประเทศ ที่ต้องการส่วนแบ่งการตลาด โดยเฉพาะราชาผลไม้อย่าง “ทุเรียน”