ส่อง 'เทรนด์งานปี 67' 5 อาชีพดาวรุ่ง - 5 อาชีพดาวร่วง

ส่อง 'เทรนด์งานปี 67'  5 อาชีพดาวรุ่ง - 5 อาชีพดาวร่วง

นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ชี้ทิศทางอาชีพดาวรุ่ง - ดาวร่วงปี 67 ท่องเที่ยว - สุขภาพความงามติดโผดาวรุ่ง ส่วนดาวร่วงน้กบัญชี - แรงงานอุตสาหกรรมที่ถูกแทนด้วย AI พนักงานตรวจสต็อกสินค้า ขายของออฟไลน์ เสี่ยงถูกเทรนด์ใหม่แทนที่

ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ประธานสถาบันการสร้างชาติ (NBI) ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา(IFD) เปิดเผยว่าเป็นที่ทราบกันดีว่า ประเทศไทยต้องเผชิญหน้ากับการเปลี่ยนแปลงในหลากหลายด้าน โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นตัวชี้วัดความเป็นอยู่ของคนในสังคม ในภาวะที่เศรษฐกิจโลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ผู้คนจึงต้องเพียรพยายามอย่างหนักเพื่อให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ในขณะที่ผู้ประกอบการได้นำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อให้สามารถทำการผลิตได้อย่างรวดเร็วและใช้แรงงานน้อยลง จำนวนเม็ดเงินมหาศาลถูกนำไปลงทุนกับเครื่องจักรกลมากขึ้นเมื่อเทียบกับการลงทุนกับมนุษย์ เพราะเครื่องจักรกลสามารถทำงานได้เร็วกว่า ยาวนานกว่า มีความผิดพลาดน้อยกว่า และสามารถควบคุมต้นทุนในระยะยาวได้ดีกว่า

การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยี ส่งผลกระทบอย่างสำคัญต่อการทำงานของผู้คน การเลือกประกอบอาชีพใดนั้น จึงจำเป็นต้องศึกษาอย่างรอบคอบ เพราะหลายอาชีพมีความเสี่ยงต่อการตกงาน การเรียนรู้แนวโน้มและทิศทางการเปลี่ยนแปลงของโลกในด้านต่าง ๆ จึงจำเป็นสำหรับการอยู่รอดในอนาคต ในบทความนี้ ผมจึงขอเสนอแนวโน้ม 5 อาชีพที่ทำแล้วรุ่ง และ 5 อาชีพที่ทำแล้วร่วง ในปี 2567 เพื่อเป็นแนวทางสำหรับการปรับตัวของผู้ประกอบการและคนทำงานในปีข้างหน้า

เปิดข้อมูล 5 อาชีพรุ่ง

1.อาชีพที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว หลังจากผ่านวิกฤตการณ์โควิด 19 เศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัวขึ้น และคาดว่า จีดีพีของโลกในปี 2567 จะกลับมาสู่ระดับเดิมก่อนโควิดระบาด แม้ว่าเศรษฐกิจโลกจะยังคงเติบโตช้า ถึงกระนั้นกลับเป็นโอกาสสำหรับประเทศไทยที่มีข้อได้เปรียบเรื่องความคุ้มค่าของการท่องเที่ยว  นอกจากนี้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ยังตั้งเป้าผลักดันการท่องเที่ยวตลอดทั้งปี 2567 ผ่านจุดขาย Soft Power ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวไทยได้มากขึ้น การท่องเที่ยวจะยังคงเป็นเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปีหน้า ดังนั้นอาชีพด้านการท่องเที่ยวในประเทศจึงยังคงสดใส เช่น ผู้จัดทัวร์ มัคคุเทศก์ บล็อกเกอร์การท่องเที่ยว ผู้ทำงานโรงแรม ร้านอาหาร ร้านค้าของที่ระลึก ช่างภาพท่องเที่ยว เป็นต้น

2. อาชีพเกี่ยวกับสุขภาพและความงาม การให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพและความงามยังคงเป็นกระแสมาแรงต่อเนื่อง การสำรวจพบว่า หลังสถานการณ์โควิด 19 คนทั่วโลกหันมาใส่ใจสุขภาพมากถึงร้อยละ 93 ดังนั้นอาชีพที่เกี่ยวกับสุขภาพและความงามจึงเป็นที่ต้องการอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การผลิตและจำหน่ายสินค้าและบริการเกี่ยวกับ   สุขสภาพ (wellness) ที่เน้นการป้องกันและดูแลสุขภาพ เช่น นักโภชนาการ บิวตี้ บล็อกเกอร์ Fitness Trainer เจ้าของผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ เป็นต้น

 

3. อาชีพเกี่ยวกับเทคโนโลยี ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและนวัตกรรม มีอิทธิพลต่อวิธีการผลิต พฤติกรรมการบริโภค วิธีการทำงานและวิถีการดำเนินชีวิตของมนุษย์ เทคโนโลยีใหม่จะเข้ามากระชากเปลี่ยน (disruption) ทุกแวดวง ทุกอุตสาหกรรม และทุกกิจกรรมในสังคม องค์กรทุกประเภทจำเป็นต้องปรับตัวโดยนำเทคโนโลยีใหม่มาประยุกต์ใช้ เพื่อให้อยู่รอดและแข่งขันได้ ดังนั้นอาชีพที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีใหม่จึงเป็นอาชีพที่ไม่ตกกระแส และยังเป็นที่ต้องการของตลาดมาก เช่น ผู้จัดหาเทคโนโลยี นักพัฒนาซอฟต์แวร์ นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล วิศวกรปัญญาประดิษฐ์ เป็นต้น

4. อาชีพเกี่ยวกับการตลาดดิจิทัล (Digital Marketing) การระบาดของโควิด 19 ทำให้ความต้องการซื้อสินค้าและบริการผ่านระบบออนไลน์เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ภาคธุรกิจจำเป็นต้องปรับตัวสู่การทำตลาดและการขายแบบออนไลน์เพื่อความอยู่รอด และไม่สามารถใช้แผนการตลาดแบบเดิมได้อีกต่อไป อาชีพเกี่ยวกับการตลาดดิจิทัลจะมีบทบาทสำคัญในการจูงใจผู้บริโภคให้มาใช้บริการ เช่น นักพัฒนาเว็บไซต์ ผู้ผลิตสื่อประชาสัมพันธ์ออนไลน์ นักวิเคราะห์ข้อมูลการตลาดออนไลน์ เป็นต้น

และ 5. อาชีพเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม คนทั่วโลกต่างให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ปัจจุบันทั่วโลกกำลังปฏิรูปเศรษฐกิจสู่เศรษฐกิจสีเขียว และกำหนดเป้าหมายไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน โดยเฉพาะสหภาพยุโรปได้บรรลุข้อตกลงการเก็บภาษีคาร์บอนข้ามแดน ขณะที่ประเทศไทยมีนโยบายพัฒนาโมเดลเศรษฐกิจแบบใหม่ หรือ BCG Model ซึ่งให้น้ำหนักกับการพัฒนาเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และได้ผลักดันมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาที่ยั่งยืน จึงเกิดอาชีพด้านสิ่งแวดล้อมมากมายตามมา เช่น ผู้จัดหาเทคโนโลยีสีเขียว นักวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม วิศวกรด้านพลังงานสะอาด นักพัฒนาระบบบำบัดอากาศและน้ำเสีย ผู้ประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ เป็นต้น

 

ส่อง \'เทรนด์งานปี 67\'  5 อาชีพดาวรุ่ง - 5 อาชีพดาวร่วง

ส่อง 5 อาชีพดาวร่วง

1. อาชีพเกี่ยวกับการจัดทำบัญชี ปัจจุบัน การดำเนินงานของธุรกิจ ตั้งแต่การจัดซื้อ การรับคำสั่งซื้อ การขาย ระบบการจัดเก็บข้อมูลการผลิต วัตถุดิบ และสินค้าคงคลัง การบริหารบุคลากร และระบบการเงินขององค์กร ถูกดำเนินการผ่านระบบออนไลน์แทบทั้งสิ้น รวมทั้งยังมีการพัฒนาโปรแกรมเพื่อนำมาใช้ในการจัดทำบัญชีขององค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพและได้มาตรฐานทางบัญชี ช่วยประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย จึงทำให้อาชีพที่เกี่ยวกับการจัดทำบัญชีมีความต้องการลดลง เช่น เสมียนจัดทำบัญชี พนักงานธุรการ เป็นต้น

2. อาชีพเกี่ยวกับแรงงานอุตสาหกรรม การพัฒนาเทคโนโลยีอัตโนมัติ หุ่นยนต์ และปัญญาประดิษฐ์ จะทำให้วิธีการทำงานเปลี่ยน โดยมีการนำเครื่องจักรกลมาใช้งานแทนมนุษย์มากขึ้น โดยไม่ต้องจ่ายเงินเดือน ทำงานได้เร็วกว่า และไม่มีวันเหนื่อย ในขณะที่ค่าจ้างแรงงานกำลังจะเพิ่มสูงขึ้น ด้วยเหตุนี้อุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานไร้ฝีมือจะมีสัดส่วนลดลง และแรงงานที่ทำงานไม่ซับซ้อน หรือพนักงานที่มีรูปแบบการทำงานที่เป็นรูปแบบตายตัว มีความเสี่ยงจะตกงานมากขึ้น เช่น แรงงานในโรงงาน พนักงานประกอบชิ้นส่วนที่ไม่ซับซ้อน พนักงานรับโทรศัพท์ หรือ call center เป็นต้น

3. อาชีพเกี่ยวกับบริการทางการเงิน พฤติกรรมของผู้คนในการทำธุรกรรมทางการเงินเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว โดยมีการทำธุรกรรมผ่านระบบออนไลน์ หรือดำเนินการผ่านตู้ ATM มากขึ้น เพราะรวดเร็ว ทันใจ ไม่ใช้เวลานาน และสามารถทำธุรกรรมได้ทุกเวลา ทั้งการฝาก ถอน โอนเงิน หรือแม้แต่การสมัครสินเชื่อ โดยไม่จำเป็นต้องเดินทางมายังสาขาของธนาคาร  แนวโน้มอาชีพที่คาดการณ์ว่าจะมีความต้องการจ้างงานลดลง เช่น พนักงานธนาคาร พนักงานขายประกันภัย เป็นต้น

4. อาชีพเกี่ยวกับการบันทึกและนับสินค้า การบันทึกข้อมูลและนับจำนวนสินค้าที่มีจำนวนมากอาจใช้เวลานาน และอาจเกิดความผิดพลาดได้ง่าย แต่ด้วยนวัตกรรมเกี่ยวกับการตรวจนับจำนวนและบันทึกข้อมูลของสิ่งต่าง ๆ โดยเฉพาะจำนวนสินค้าในสต็อกหรือในร้านค้า ทำให้ผู้ประกอบการได้รับความสะดวกมากขึ้น และทำให้ความต้องการแรงงานในงานดังกล่าวลดลง เช่น เจ้าหน้าที่บันทึกวัสดุและจัดเก็บสต็อก เป็นต้น

และ 5. อาชีพเกี่ยวกับการขายออฟไลน์ เนื่องจากผู้คนนิยมซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น มากกว่านั้น การตลาดยังมี chat bot ที่ช่วยตอบคำถามให้บริการลูกค้าแบบอัตโนมัติอีกด้วย ดังนั้น อาชีพที่เกี่ยวข้องกับการขายหน้าร้านหรือการเสนอขายแบบหน้าต่อหน้าจึงมีความเสี่ยงตกงานมากขึ้น เช่น พนักงานขายหน้าร้าน พนักงานขายตรง เป็นต้น

จากที่กล่าวมาข้างต้นจะเห็นได้ว่า การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี และพฤติกรรมของผู้บริโภค เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อโอกาสและความเสี่ยงของอาชีพต่าง ๆ ทำให้มีบางอาชีพที่รุ่งเรืองมากขึ้น แต่บางอาชีพที่ถดถอยลง การปรับตัวและพัฒนาตนเองให้พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงจึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ หวังว่าทุกท่านจะเตรียมตัวรับมือกันอย่างดีที่สุดนะครับ