8 เหตุผลควรเร่งเจรจาแหล่งพลังงาน 'พื้นที่ทับซ้อน' ไทย-กัมพูชา
"พิชัย นริพทะพันธุ์" อดีตรมว.พลังงาน เปิด 8 เหตุผลที่ประเทศไทยควรเร่งเจรจาแหล่งพลังงานบนพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล "ไทย-กัมพูชา"
นายพิชัย นริพทะพันธุ์ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี รองประธานยุทธศาสตร์และการเมืองของพรรคเพื่อไทย เป็นอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวถึงเหตุผลที่ประเทศไทยจำเป็นจะต้องเร่งเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชา 8 ข้อดังนี้
1. ก๊าซธรรมชาติจากแหล่งพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล ไทย-กัมพูชา มีปริมาณมาก ซึ่งจะมีมากกว่าหรือเท่ากับแหล่งเดิมในอ่าวไทยที่ไทยใช้มาแล้วกว่า 30 ปี คาดกันว่ามีมูลค่ากว่า 10 ล้านล้านบาท ทั้งนี้จะเจรจาเฉพาะการแบ่งพลังงานเท่านั้น ไม่มีการพูดถึงการแบ่งดินแดน เพื่อหลีกเลี่ยงข้อขัดแย้งที่คงหาข้อยุติไม่ได้
2. ปริมาณก๊าซที่ได้จากอ่าวไทยและจากประเทศเมียนมาลดลง โดยในปัจจุบันแหล่งพลังงานของไทยในอ่าวไทยเริ่มลดลงมาก แถมยังมีปัญหาการส่งมอบสัปทานยิ่งทำให้ปริมาณก๊าซที่ส่งมอบยิ่งลดลง อีกทั้งประเทศเมียนมาร์มีความขัดแย้งอย่างมากภายในประเทศและมีการวางระเบิดท่อส่งก๊าซ จึงยิ่งทำให้ปริมาณก๊าซจากเมียนมายิ่งลดลง ทั้งนี้ ราคาก๊าซจากอ่าวไทยและราคากํ๊าซจากเมียนมามีราคาถูกกว่าราคาก๊าซ LNG ที่นำเข้ามามาก ซึ่งทำให้ได้ต้นทุนพลังงานที่ถูกกว่า โดยเฉพาะราคาไฟฟ้า กีาซจากพื้นที่ทับซ้อนจะแก้ปัญหานี้ได้ แถมยังมีปริมาณมากเกินพอที่จะไม่ต้องนำเข้าก๊าซเพิ่ม
3. ก๊าซจากพื้นที่ทับซ้อนจะทำให้ประเทศไทยสามารถผลิตไฟฟ้าได้ในราคาที่ถูกลง ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายของประชาชนอีกทั้งเพิ่มความสามารถแข่งขันของประเทศ เพราะในปัจจุบันราคาค่าไฟฟ้าประเทศไทยแพงกว่าราคาค่าไฟฟ้าของประเทศเวียดนามมาก ต้นทุนค่าไฟฟ้าที่ผลิตจากก๊าซในพื้นที่อ่าวไทยอยู่หน่วยละ 2-3 บาทเท่านั้น ต่ำกว่าราคาไฟฟ้าปัจจุบันที่หน่วยละ 4.70 บาท ที่ทำให้ประชาชนเดือดร้อนกันมาก
4. ในอนาคตการใข้พลังงานจากฟอสซิลทั้งก๊าซ น้ำมัน และ ถ่านหิน จะใช้ลดลงมากเนื่องจากปัญหาโลกร้อน อีกทั้งคนจะใข้พลังงานทดแทน พลังงานหมุนเวียน และ พลังงานสะอาด พลังงานสีเขียวกันมากขึ้น ก๊าซและน้ำมันในอนาคตอาจจะไม่มีราคาเลยก็เป็นได้
5. ก๊าซธรรมชาติในพื้นที่ทับซ้อนเป็นก๊าซเปียก (Wet Gas) ที่สามารถนำมาเข้าโรงแยกก๊าซและนำไปทำธุรกิจปิโตรเคมีได้ ซึ่งไทยมีโรงแยกก๊าซอยู่แล้ว 6 โรง อีกทั้ง มีอุตสาหกรรมปิโตรเคมีขนาดใหญ่รองรับอยู่แล้ว การนำก๊าซธรรมชาติจากพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชา ขึ้นมาได้ ไทยจะสร้างมูลค่าเพิ่มได้ 6-20 เท่า ซึ่งไทยจะได้ประโยชน์อย่างมาก
6. นอกจากจะได้ก๊าซในราคาถูกเพื่อลดต้นทุนพลังงานแล้ว รัฐยังจะได้ค่าภาคหลวงมาแบ่งกันระหว่าง ไทย และ กัมพูชา โดยในอดีตรัฐเคยเก็บค่าภาคหลวงได้ถึงปีละเกือบ 2 แสนล้านบาท และยังไม่นับธุรกิจต่อเนื่องทั้งธุรกิจขายก๊าซ ธุรกิจปิโตรเคมี โรงงานพลาสติก ฯลฯ ซึ่งสร้างมูลค่าเพิ่ม จ้างงาน และ จ่ายภาษีให้รัฐทั้งภาษีมูลค่าเพิ่ม และ ภาษีรายได้นิติบุคคล และ บุคตลธรรมดา ให้กับรัฐได้อย่างมหาศาล ซึ่งรัฐสามารถนำไปใช้ในโครงการสวัสดิการช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง และ ผู้สูงอายุได้
7. ค่าภาคหลวงที่จะได้รับน่าจะได้ในอัตราส่วนที่มากกว่าเดิม เนื่องจากบริเวณดังกล่าวพิสูจน์แล้วว่ามีก๊าซธรรมชาติอยู่ในปริมาณมากอย่างแน่นอน ทำให้สามารถปรับค่าภาคหลวงให้มากกว่าเดิมได้ ซึ่งจะทำให้รัฐได้เงินมากขึ้น
8. การสำรวจและขุดเจาะก๊าซธรรมชาติที่จะนำขึ้นมาใช้ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2-8 ปี ไม่ใช่เจรจาจบแล้วจะได้ก๊าซธรรมชาติขึ้นมาในทันที ดังนั้นจึงควรเร่งเจรจาให้จบตั้งแต่ตอนนี้