พีระพันธุ์ ‘โต้’ ฝ่ายค้านลดค่าไฟสะเทือน กฟผ.

พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงาน ได้โพสต์เฟซบุ๊กชี้แจง ข้อมูลคาดการณ์ที่นายศุภโชติ  ไชยสัจ ส.ส.พรรคก้าวไกล นำมาอภิปรายเป็นการคาดการณ์ล่วงหน้าตั้งแต่ต.ค. 66 เพื่อแสดงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นเท่านั้น และไม่ได้แปลว่าจะเกิดขึ้นจริงตามนั้น

นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงาน ได้โพสต์เฟซบุ๊กชี้แจงว่า ข้อมูลคาดการณ์ ที่นายศุภโชติ ไชยสัจ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล นำมาอภิปรายเป็นการคาดการณ์ล่วงหน้าตั้งแต่ต.ค. 66 เพื่อแสดงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นเท่านั้น และไม่ได้แปลว่าจะเกิดขึ้นจริงตามนั้น เพราะ กฟผ. จะต้องบริหารจัดการมิให้เกิดสถานการณ์เช่นนั้น

 

อย่างไรก็ตาม กฟผ. ต้องประมาณการแบบร้าย (Worst case scenario) ไว้ก่อน และตารางหรือกราฟนั้นก็เป็นเพียงเอกสารภายในที่ใช้เพื่อชี้แจงพนักงานของ กฟผ. ไม่มีวัตถุประสงค์เพื่อนำไปใช้เป็นข้อมูลจริงในการบริหาร และไม่อาจใช้อ้างอิงได้ เพราะไม่ใช่ข้อมูลที่จะเกิดขึ้นจริง

     ขณะที่มีปัจจัยที่เป็นข้อมูลจริงอื่นๆ ที่ทำให้ กฟผ. มีรายได้และกำไรเพิ่มขึ้นจากที่คาดการณ์ไว้ตามตารางที่นำมาแสดงอีกประมาณเกือบ 15,000 ล้านบาท เช่น กำไรจากการขายไฟฟ้าเพิ่มขึ้นประมาณ 4,000 ล้านบาท กำไรจากการรับงานภายนอกองค์กรประมาณ 1,000 ล้านบาท กำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนประมาณ 2,600 ล้านบาท ต้นทุนลดลงจากการบริหารจัดการประมาณ 5,000 ล้านบาท และกำไรจากรายได้อื่นๆ ประมาณ 2,100 ล้านบาท เป็นต้น ทำให้ ณ สิ้นปี 66 กฟผ. มีเงินสดคงเหลือจริงประมาณ 91,000 ล้านบาท ไม่ใช่ 63,623.6 ล้านบาท 
          นายพีระพันธุ์ ระบุว่า อัตราค่าไฟฟ้าที่จะเรียกเก็บจากประชาชนตามการคาดการณ์ในตารางจะอยู่ที่ 3.99 บาท/หน่วย ตลอดปี 67 และคาดการณ์ว่าเป็นภาระของ กฟผ. เองทั้งหมดแต่เพียงหน่วยงานเดียว แต่ข้อมูลจริง ค่าไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้นอยู่ระหว่าง 4.15-4.20 บาท/หน่วย ตั้งแต่ม.ค.-เม.ย. 67 ส่วนค่าไฟฟ้าสำหรับผู้ที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกินเดือนละ 300 หน่วย ที่รัฐบาลคงไว้ที่ 3.99 บาท/หน่วยนั้น รัฐบาลเป็นผู้แบกรับภาระจากเงินงบกลางเป็นเงินประมาณ 1,995 ล้านบาท จึงไม่เป็นภาระของ กฟผ. ฝ่ายเดียว ตามข้อมูลคาดการณ์ที่นำมาแสดง

     การแบกรับภาระอัตราค่าไฟฟ้าที่ลดลงทั้งสองครั้งนี้ ตามข้อมูลคาดการณ์ เป็นการคาดการณ์ว่า กฟผ. จะเป็นผู้แบกรับภาระเองทั้งหมดแต่เพียงหน่วยงานเดียว แต่ตามข้อมูลจริง รัฐบาลมีการบริหารจัดการและช่วยดำเนินการในหลายรูปแบบ โดยในครั้งนี้รัฐบาลมีการปรับโครงสร้าง Pool Gas และให้สำนักงานคณะกรรมการ กำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เรียกเก็บค่า Shortfall มาลดภาระ รวมทั้งใช้เงินงบกลางเข้ามาช่วยลดภาระ กฟผ. ด้วย
          ทั้งนี้ ข้อมูล อัตราค่าไฟฟ้าที่จะเรียกเก็บจากประชาชนและการแบกรับภาระอัตราค่าไฟฟ้าที่ลดลงนี้ก็ไม่ปรากฎในตารางที่เป็นข้อมูลคาดการณ์ที่นำมาพูด เพราะในเวลาที่ทำตารางเมื่อเดือนต.ค. 66 นั้น ข้อมูลจริงนี้ยังไม่เกิดขึ้น
          ทั้งนี้ จากสถานะการเงินที่เป็นข้อมูลจริง ณ สิ้นปี 66 กฟผ. มีเงินสดในมือประมาณ 91,000 ล้านบาท จึงเป็นไปไม่ได้ที่ ณ เดือนม.ค. 67 เพียงหนึ่งเดือนให้หลังกระแสเงินสดของ กฟผ. ก่อนหักค่าใช้จ่ายจะเหลือเพียง 39,234 ล้านบาท ตามข้อมูลคาดการณ์ที่นำมาแสดง 
          นอกจากนี้ มาตรฐานทางการเงินของ กฟผ. จะต้องคงสถานะเงินสดไม่ให้ต่ำกว่า 60,000 ล้านบาท หากเมื่อใดมีแนวโน้มว่าจะลดต่ำลงกว่ามาตรฐานนี้ กฟผ. จะดำเนินการแก้ไขสถานการณ์ทันที และที่ผ่านมา กฟผ. ก็ดำเนินการตามนี้จึงเป็นไปไม่ได้ในความเป็นจริงที่สถานะการเงินจริงของ กฟผ. ในปี 67 จะลดลงเรื่อยๆ จนถึงขั้นติดลบในเดือนก.ค.,ต.ค. และธ.ค. 67 ตามข้อมูลคาดการณ์ที่นำมาแสดง
          ตามข้อมูลจริงนั้น กฟผ. ชำระหนี้เดิมที่มีกับ ปตท. หมดสิ้นแล้วตั้งแต่ม.ค. 66 สำหรับปี 66 ทั้งปีนั้น กฟผ. ไม่ได้ติดหนี้ ปตท. โดยมีการชำระหนี้ให้ ปตท. ตามกำหนดเวลาตลอดมา ณ วันนี้ กฟผ. จึงไม่มีหนี้สินกับ ปตท. อีก
          สำหรับการส่งรายได้ให้รัฐของ กฟผ. กำหนดมาตรฐานไว้ที่ประมาณ 50% ของกำไรในแต่ละปี สำหรับปี 66 ที่ผ่านมา ตามข้อมูลคาดการณ์ ที่คาดการณ์ไว้ล่วงหน้าในปี 66 ว่า กฟผ. จะนำส่งรายได้ให้รัฐ 17,142 ล้านบาท แต่ตามข้อมูลจริง กฟผ. จะนำส่งรายได้ให้รัฐสำหรับปี 66 นี้ประมาณ 24,000 ล้านบาท ไม่ใช่ 17,142 ล้านบาท ตามข้อมูลคาดการณ์ที่นำมาพูด ข้อมูลที่นำมาพูดจึงผิดไปจากความจริงที่เป็นข้อมูลจริงถึง 28.575% และนี้ยังแสดงให้เห็นประสิทธิภาพของ กฟผ. ด้วยว่าขนาดอัตราค่าไฟฟ้าลดลง แต่ กฟผ. ยังสามารถนำส่งรายได้สูงกว่าข้อมูลคาดการณ์ ที่คาดการณ์ไว้ล่วงหน้า
          ส่วนปี 67 ล่าสุด กฟผ. คาดการณ์ว่าจะนำส่งเงินรายได้ประจำปี 67 ให้รัฐประมาณ 20,000 ล้านบาท ลดลงจากปี 66 ประมาณ 16.6666% ไม่ใช่จะนำส่งรายได้เพิ่มขึ้นจากปี 66 ถึง 65% จาก 17,142 ล้านบาท เป็น 28,386 ล้านบาท ตามข้อมูลคาดการณ์ ที่นำมาพูดอีกเช่นกัน อย่างไรก็ตาม กฟผ. อาจสามารถบริหารจัดการให้มีรายได้เพิ่มขึ้นมากกว่าที่คาดการณ์ไว้เช่นเดียวกับปี 66 ที่ผ่านมานี้ได้อีกก็เป็นไปได้ 
          "ฟังแล้วน่าตกใจว่า รัฐไปยัดปัญหาให้ กฟผ. เพิ่มทำไม ประชาชนทางบ้านและสื่อมวลชนที่ไม่รู้ข้อเท็จจริงก็จะตกใจตามไปด้วย ผมก็ตกใจครับ ไม่ได้ตกใจในข้อมูลและตัวเลขที่ท่านพูด แต่ตกใจว่าทำไมท่านเลือกเอาข้อมูลที่เป็นเพียงข้อมูลคาดการณ์ที่ทำล่วงหน้าก่อนของจริงตั้งแต่ต.ค. 66 ปีที่แล้วมาพูด แทนที่จะเอาข้อมูลจริงที่เกิดขึ้นจริง ณ เวลานี้ มาพูด" นายพีระพันธุ์ ระบุ