ปี 66 คนไทยใช้จ่ายครัวเรือนเฉลี่ย 1.8 หมื่นบาทต่อครัวเรือน
สนค.เปิดค่าใช้จ่ายครัวเรือนเดือนธ.ค. 1.7 หมื่นบาทต่อคน “ค่าโดยสาร-ยานพาหนะ-โทรศัพท์มือถือ” ยังครองแชมป์จ่ายสูงสุด 4,110 บาท ขณะที่ภาพรวมทั้งปี 66 เฉลี่ยอยู่ที่ 18,123 บาท เพิ่มขึ้น 219 บาท
สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ รายงาน ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือน ธ.ค.2566 ลดลง 0.83% ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน และต่ำสุดในรอบ 34 เดือน นับจาก ก.พ.2564 โดยมีปัจจัยสำคัญมาจากการลดลงของราคาสินค้าในกลุ่มพลังงาน ได้แก่ น้ำมันเชื้อเพลิง และค่ากระแสไฟฟ้า และเงินเฟ้อเฉลี่ย 12 เดือนของปี 2566 (ม.ค.-ธ.ค.) เพิ่มขึ้น 1.23% อยู่ในเป้าหมายที่กำหนดไว้ที่ 1.0–1.7% ค่ากลาง 1.35% ทางด้านเงินเฟ้อพื้นฐานเดือน ธ.ค.2566 เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออก เพิ่มขึ้น 0.06% เมื่อเทียบกับเดือน พ.ย.2566 และเพิ่มขึ้น 0.58% เมื่อเทียบกับเดือน ธ.ค.2565 รวม 12 เดือนเพิ่มขึ้น 1.27%
แนวโน้มเงินเฟ้อทั่วไป เดือน ม.ค.2567 คาดว่า ยังมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำ และมีโอกาสติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 โดยมีปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญมาจากมาตรการตรึงราคาน้ำมันดีเซล และตรึงค่ากระแสไฟฟ้าสำหรับครัวเรือนที่ใช้ไฟฟ้าต่ำกว่า 300 หน่วย ราคาน้ำมันในตลาดโลกมีแนวโน้มลดลง ซึ่งจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินในประเทศปรับลดลงตาม ผลกระทบจากปรากฎการณ์เอลนีโญ มีแนวโน้มลดลง และมาตรการส่งเสริมการขายของผู้ประกอบการ เพื่อรองรับการใช้จ่ายของประชาชนที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นตามมาตรการ Easy E-Receipt
เมื่อโฟกัสมาดูค่าใช้จ่ายของครัวเรือนเดือน ธ.ค. 66 พบว่า ค่าใช้จ่ายครัวเรือนเฉลี่ย 17,984 บาท โดยสัดส่วนของการใช้จ่ายยังคงเป็นสินค้าที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีสัดส่วนที่ 58.21% ขณะที่หมวดอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์สัดส่วนอยู่ที่ 41.79%
แยกตามหมวดสินค้า 14 รายการ พบว่า ค่าใช้จ่ายค่าโดยสารสาธารณะ ค่าซื้อยานพาหนะ ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง ค่าบริการโทรศัพท์มือถือ 4,110 บาท ซึ่งยังเป็นส่วนที่มีค่าใช้จ่ายสูงสุด ตามด้วยค่าเช่าบ้าน ค่าวัสดุก่อสร้าง ค่าไฟฟ้า ก๊าซหุงต้ม เครื่องใช้ในบ้าน 3,989 บาท,ค่าอาหารบริโภคในบ้าน ดิลิเวอรี่ 1,650 บาท, เนื้อสัตว์ เป็ด ไก่ สัตว์น้ำ 1,647บาท ท อาหารบริโภคนอกบ้าน 1,259 บาท ผักและผลไม้ 1,005 บาท
ค่าแพทย์ ค่ายา และค่าบริการส่วนบุคคล 987 บาท ค่าหนังสือ ค่าสันทนาการ ค่าเล่าเรียนและการกุศลต่างๆ 765 บาท, ข้าว แป้ง และผลิตภัณฑ์จากแป้ง 707 บาท, เครื่องปรุงอาหาร 430 บาท ไข่และผลิตภัณฑ์นม 412 บาท เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ,ค่าเสื้อผ้า เครื่องนุ่งหุ่มและรองเท้า 375 บาทและ ค่าบุหรี่ ค่าเหล้า ค่าเบียร์ 243 บาท
ค่าใช้จ่ายครัวเรือนเดือนธ.ค.66 เมื่อเทียบกับเดือนพ.ย. ลดลง 174 บาท โดยเดือนพ.ย.อยู่ที่ 18,068 บาท ซึ่งลดลงตามการลดลงของค่าพลังงานและมาตรการค่าครองชีพของรัฐบาล เมื่อเจาะค่าใช้ใช้จ่ายค่าโดยสารสาธารณะ ค่าซื้อยานพาหนะ ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง ค่าบริการโทรศัพท์มือถือ ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายสูงสูดอันดับ 1 ของครัวเรือนจะพบว่าเฉลี่ยทั้งปีจะอยู่ 4,210 บาท รองลงเป็นหมวดเคหะสถาน เช่น ค่าเช่าบ้าน ค่าวัสดุก่อสร้าง ก๊าซหุงตุ้ม เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน 4,011 บาท
เมื่อเทียบค่าใช้จ่ายครัวเรือนในปี 65 จะพบว่า เฉลี่ยค่าใช้จ่ายครัวเรือนรวมทุกรายการจะอยู่ที่ 17,904 บาท ขณะที่ปี 66 ค่าใช้จ่ายครัวเรือนเฉลี่ยปี 66 อยู่ที่ 18,123 บาท เพิ่มขึ้น 219 บาท ซึ่งคงต้องจับตาว่าค่าใช้จ่ายในครัวเรือนของไทยจะขึ้นเพิ่มขึ้นอีกหรือไม่ตามค่าครองชีพที่สูงขึ้นขณะที่รายได้ลดลง