วิกฤติหุ้นกู้ ITD สะเทือนวงการรับเหมาก่อสร้าง
ธุรกิจรับเหมายังไม่ฟื้นตัว หลังงานประมูลภาครัฐอืด หลายบริษัทพึ่งงานรัฐเป็นหลักได้รับผลกระทบ เป็นเหตุต้องออกหุ้นกู้เสริมสภาพคล่อง ลั่นหากเกิดเหตุเบี้ยวหนี้สะเทือนความน่าเชื่อถือทั้งวงการ
Key points
- บริษัทรับเหมาก่อสร้างหลายแห่งทยอยออกหุ้นกู้ในช่วงที่ผ่านมาเพื่อใช้ในการดำเนินธุรกิจ
- รายได้จากการประมูลงานของภาครัฐลดลงมาตั้งแต่ปี 2566 จากปัญหาการจัดทำงบประมาณล่าช้า
- ปัญหาการเลื่อนชำระหุ้นกู้ในธุรกิจรับเหมาก่อสร้างส่งผลกระทบต่อการออกหุ้นกู้ชุดใหม่
- ITD ทำหนังสือแจ้งผู้ถือหุ้นกู้ขอเลื่อนการชำระหุ้นกู้ออกไป 2 ปี โดยเฉพาะชุดที่ครบกำหนด ก.พ.นี้
ในช่วงปี 2566 มีบริษัทรับเหมาที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ได้ทยายออกหุ้นกู้เพื่อระดมทุนมาใช้ในการดำเนินธุรกิจ อาทิ
บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) หรือ CK ขายหุ้นกู้ชนิดระบุชื่อผู้ถือ ประเภทไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีประกัน และมีผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ เสนอขายให้แก่ผู้ลงทุนประชาชนทั่วไปและผู้ลงทุนสถาบัน ระหว่างวันที่ 22-24 พ.ค.2566 โดยมีหุ้นกู้ 4 รุ่น ประกอบด้วย
หุ้นกู้รุ่นอายุ 3 ปี อัตราดอกเบี้ย 3.20% ต่อปี จำนวน 3,800 ล้านบาท รุ่นอายุ 5 ปี ดอกเบี้ย 3.50% ต่อปี จำนวน 1,000 ล้านบาท รุ่นอายุ 7 ปี ดอกเบี้ย 3.80% ต่อปี จำนวน 1,000 ล้านบาท และรุ่นอายุ 10 ปี อัตราดอกเบี้ย 4.15% ต่อปี จำนวน 3,200 ล้านบาท กำหนดจ่ายดอกเบี้ยทุก 6 เดือน
โดยบริษัทมีเป้าหมายเดินหน้าขยายธุรกิจและแสวงหาโอกาสในการเติบโตอย่างยั่งยืน ในฐานะบริษัทชั้นนำของประเทศที่ดำเนินธุรกิจก่อสร้างและบริหารโครงการสัมปทานระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานขนาดใหญ่ ทั้งในประเทศและในระดับภูมิภาคอย่างครบวงจร
บริษัท เนาวรัตน์พัฒนาการ จำกัด (มหาชน) หรือ NWR เสนอขายหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน อายุ 2 ปี ดอกเบี้ย 6.95% ต่อปี จ่ายดอกเบี้ยทุก 3 เดือน เสนอขายให้แก่ผู้ลงทุนสถาบัน และ/หรือ ผู้ลงทุนรายใหญ่ เมื่อเดือน พ.ค.2566
สำหรับหุ้นกู้ของ NWR ไม่จัดอันดับความน่าเชื่อถือ เงินที่ได้จากการขายหุ้นกู้ บริษัทจะนำไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในกิจการ และชำระคืนเงินกู้สถาบันการเงินและบุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องกัน
บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD ในปัจจุบันมีหุ้นกู้ 5 รุ่น รวมมูลค่า 14,455 ล้านบาท แบ่งเป็น หุ้นกู้ที่จะครบกำหนดในปีนี้ 3 รุ่น ได้แก่
รุ่น ITD242A ครบกำหนด 15 ก.พ.2567 มูลค่า 2,000 ล้านบาท
รุ่น ITD242DA ครบกำหนด 4 ธ.ค.2567 มูลค่า 2,455 ล้านบาท
รุ่น ITD24DB ครบกำหนด 4 ธ.ค.2567 มูลค่า 1,215 ล้านบาท
ส่วนที่เหลืออีก 2 รุ่น ครบกำหนดในปี 2568 และ 2569 ตามลำดับ ได้แก่
รุ่น ITD254A ครบกำหนด 29 เม.ย.2568 มูลค่า 6,000 ล้านบาท
รุ่น ITD266A ครบกำหนด 2 มิ.ย.2568 มูลค่า 2,785 ล้านบาท
ทั้งนี้ ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา มีการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับหุ้นกู้ของ ITD ในการชำระคืนหุ้นกู้ที่ครบกำหนด โดยจะมีข้อเสนอขอเลื่อนจ่ายจ่ายเงินต้นหุ้นกู้ทุกรุ่นไปอีก 2 ปี โดยที่ระหว่างทางจะยังจ่ายดอกเบี้ยอยู่
แหล่งข่าวจาก ITD ระบุกับกรุงเทพธุรกิจว่า จะมีการส่งหนังสือแจ้งรายละเอียดการเลื่อนชำระให้กับผู้ถือหุ้นกู้ตั้งแต่วันที่ 8 ม.ค.2567 เป็นต้นไป ซึ่งผู้ถือหุ้นกู้จะรับทราบรายละเอียด โดยเฉพาะรุ่นที่กำลังจะครบกำหนดในวันที่ 15 ก.พ.2567
แหล่งข่าวจากธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ระบุว่า กรณีที่บริษัทรับเหมาก่อสร้างออกหุ้นกู้และจ่ายคืนหุ้นกู้ไม่เป็นไปตามกำหนดนั้น ส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง
อย่างไรก็ดี หากประเมินสถานการณ์ของธุรกิจรับเหมาในปี 2567 จึงต้องยอมรับว่าเอกชนที่ส่วนใหญ่ยังพึ่งพารายได้จากการประมูลงานภาครัฐที่คงได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่องจากการเบิกจ่ายงบประมาณล่าช้า และเชื่อว่าสถานการณ์น่าจะกลับเข้าสู่สภาวะปกติในปี 2568
“ดังนั้นปฏิเสธไม่ได้ว่าปัจจัยการประมูลงานภาครัฐที่ลดลงนั้น มีส่วนทำให้มีเอกชนกลุ่มรับเหมาบางรายได้รับผลกระทบและต้องขาดสภาพคล่อง”แหล่งข่าว กล่าว
นายปิยะดิษฐ์ อัศวศิริสุข ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีวิลเอนจีเนียริง จำกัด (มหาชน) หรือ CIVIL เปิดเผยว่า ขณะนี้บริษัทมี Backlog ในมือจำนวนมาก และไม่มีแผนออกหุ้นกู้เพื่อเสริมสภาพคล่อง
นายภาคภูมิ ศรีชำนิ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STEC เปิดเผยว่า การดำเนินธุรกิจของบริษัทรับเหมาก่อสร้างในช่วงที่ผ่านมามีหลายบริษัทบริหารสภาพคล่องด้วยการออกหุ้นกู้ แต่ในส่วนของ STEC ไม่มีแผนจะออกหุ้นกู้ เพราะมี Backlog ในมือจำนวนมาก และไม่ได้พึ่งพารายได้จากการประมูลงานภาครัฐเป็นหลัก
สำหรับภาพรวมธุรกิจในขณะนี้มีงานที่รอรับรู้รายได้ (Backlog) กว่า 1 แสนล้านบาท ส่งผลให้ปี 2567 แม้ว่างานภาครัฐจะมีไม่มากจากการติดขัดเบิกจ่ายงบประมาณที่ล่าช้าก็ไม่เป็นผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัท ประกอบกับขณะนี้บริษัทได้ปรับโครงสร้างธุรกิจมุ่งหารายได้ในกลุ่มธุรกิจอื่นมากขึ้น
“สัดส่วนรายได้ธุรกิจรับเหมาตอนนี้เราได้ปรับแผนมารับงานภาคเอกชนมากขึ้น ทำให้มีสัดส่วนรายได้ตอนนี้แบ่งเป็นงานภาคเอกชน 60-70% และงานภาครัฐราว 30% ดังนั้นจึงไม่ได้รับผลกระทบจากงานภาครัฐที่ลดลงไป แต่ต้องยอมรับว่าภาคเอกชนรายอื่นที่พึ่งพางานภาครัฐน่าจะได้รับกระทบชัดเจนตั้งแต่ปีก่อน เพราะไม่มีงานใหม่ประมูล อีกทั้งในปีนี้ก็ยังมีการเบิกจ่ายงบที่ล่าช้าอีก”