เกิดอะไรขึ้นกับ ITD บริษัทรับเหมายักษ์ใหญ่เบี้ยวจ่ายหนี้ ‘หุ้นกู้’
ITD ยักษ์ใหญ่บริษัทรับเหมาก่อสร้าง เลื่อนชำระหนี้หุ้นกู้ออกไป 2 ปี เผยงานประมูลโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐปี 66 หายไปเหลือแค่ 1 โครงการ ขณะที่การร่วมลงทุนรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ยังไม่มีผลตอบแทนกลับมา พร้อมกับการขาดผู้กุมบังเหียนอย่าง “เปรมชัย” ในช่วงที่ผ่านมา
Key Points
- ITD ขอเลื่อนการชำระหุ้นกู้ออกไป 2 ปี และทยอยแจ้งผู้ถือหุ้นกู้ให้รับทราบตั้งแต่วันที่ 8 ม.ค.2567
- ในปี 2566 ITD ประมูลงานรัฐได้เพียงเดียว คือ รถไฟไทย-จีน งานโยธาสัญญาที่ 3-1 วงเงิน 9,348 ล้านบาท
- การลงทุนหลายโครงการไม่มีผลตอบแทนกลับมา เช่น นิคมอุตสาหกรรมทวาย , รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน
- บทบาทของ ‘เปรมชัย’ ที่หายไป 2 ปี มีผลต่อผลดำเนินงานทันที โดยในปี 2565 ขาดทุนสุทธิถึง 4,759 ล้านบาท
การชำระคืนหุ้นกู้ของ บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) เริ่มออกอาการไม่ดีมาระยะหนึ่งแล้ว โดยล่าสุดมีกระแสข่าวในโลกโซเชียลมีเดียว่า ITD เตรียมทำหนังสือส่งถึงเจ้าหนี้ผู้ถือหุ้นกู้เพื่อขอเลื่อนจ่ายเงินต้นหุ้นกู้ทุกรุ่นออกไปอีก 2 ปี แต่ระหว่างทางจะยังจ่ายดอกเบี้ยให้ตามปกติ
ทีมข่าวกรุงเทพธุรกิจได้สอบถามเรื่องนี้ไปยังทาง ITD ซึ่งยอมรับว่า จะมีการส่งหนังสือแจ้งรายละเอียดการเลื่อนชำระหนี้ให้กับผู้ถือหุ้นกู้ในวันที่ 8 ม.ค.2567 ซึ่งผู้ถือหุ้นกู้จะรับทราบรายละเอียด โดยเฉพาะรุ่นที่กำลังจะครบกำหนดในวันที่ 15 ก.พ.2567
ทั้งนี้หากย้อนกลับไปดูผลดำเนินงานของ ITD ในช่วงที่ผ่านมาพบว่า ในช่วงปี 2566 การรับงานรับเหมาก่อสร้างที่เป็นรายได้หลักของ ITD มีทิศทางลดลง
สำหรับ ITD ปัจจุบันเป็นคู่สัญญางานก่อสร้างหลายโครงการของภาครัฐ โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม ซึ่งพบว่าในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ระหว่างปี 2565-2566 ได้รายงานตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เข้าลงนามในสัญญาการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน 9 โครงการ วงเงินรวมกว่า 6.8 หมื่นล้านบาท แบ่งได้ ดังนี้
ปี 2565 รวม 8 โครงการ
1.สัญญาก่อสร้างกับการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ในนามกิจการร่วมค้า ไอทีดี-เนาวรัตน์ เพื่อดำเนินการโครงการก่อสร้างทางรถไฟสายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ สัญญาที่ 1 ช่วงเด่นชัยงาว วงเงิน 26,560 ล้านบาท
2.สัญญาก่อสร้างทางยกระดับกับสำนักก่อสร้างสะพาน กรมทางหลวง เพื่อดำเนินการก่อสร้างโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษหมายเลข 82 สายทางยกระดับบางขุนเทียน - บ้านแพ้วช่วงเอกชัย - บ้านแพ้ว ตอน 7 วงเงิน 1,868 ล้านบาท
3.สัญญาก่อสร้างกับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เพื่อดำเนินการก่อสร้างโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วงช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) จำนวน 3 สัญญา ประกอบด้วย
สัญญาที่ 3 ช่วงผ่านฟ้า-สะพานพุทธ ในนามกิจการร่วมค้า ไอทีดี-เอ็นดับเบิ้ลยูอาร์ เอ็มอาร์ที วงเงิน 15,109 ล้านบาท
สัญญาที่ 5 งานก่อสร้างโครงสร้างทางวิ่ง และสถานียกระดับ ช่วงดาวคะนอง - ครุใน อาคารจอดรถไฟฟ้า (Stabling Yard) และอาคารจอดแล้วจร (Park & Ride) วงเงิน 13,094 ล้านบาท
สัญญาที่ 6 งานระบบรางช่วงเตาปูน-ครุใน วงเงิน 3,589 ล้านบาท
4.สัญญาก่อสร้างกับกรุงเทพมหานคร เพื่อดำเนินการก่อสร้างโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณแยกเกียกกาย ช่วงที่ 2 ก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา รวมทางขึ้น – ลง วงเงิน 1,059 ล้านบาท
5.สัญญาก่อสร้างกับกรมราชทัณฑ์ เพื่อดำเนินการก่อสร้างโครงการอาคารโรงพยาบาลราชทัณฑ์แห่งที่ 2 พร้อมสิ่งประกอบ 1 แห่ง วงเงิน 1,725 ล้านบาท
6.สัญญาก่อสร้างกับมูลนิธิรามาธิบดี เพื่อดำเนินการก่อสร้างโครงการก่อสร้างศูนย์การแพทย์รามาธิบดีศรีอยุธยา วงเงิน 1,520 ล้านบาท
7.สัญญาก่อสร้างกับ บริษัท ทีอาร์เอ แลนด์ ดีเวลลอปเม้นต์ จำกัด เพื่อดำเนินการงานก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) โครงการสมุทรปราการ 4.0 วงเงิน 1,390 ล้านบาท เช่น งานก่อสร้างถนนคอนกรีต , งานก่อสร้างสะพานคอนกรีต
8.สัญญาก่อสร้างกับการประปานครหลวง (กปน.) เพื่อดำเนินการก่อสร้างโครงการงานก่อสร้างขยายกำลังการผลิตน้ำที่โรงงานผลิตน้ำ มหาสวัสดิ์ขนาด 800,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน พร้อมงานที่เกี่ยวข้อง ในนามกิจการค้าร่วมไอทีเอ (ITA Consortium) วงเงิน 6,390 ล้านบาท
ปี 2566 รวม 1 โครงการ
1.สัญญาก่อสร้างกับการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เพื่อดำเนินการก่อสร้างโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูง เพื่อเชื่อมโยงภูมิภาคช่วงกรุงเทพมหานคร-หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร-นครราชสีมา) งานสัญญาที่ 3-1 งานโยธา สำหรับช่วงแก่งคอย-กลางดง และช่วงปางอโศก-บันไดม้า ในนามกิจการร่วมค้า ITD-CREC No.10 วงเงิน 9,348 ล้านบาท
ทั้งนี้ หากย้อนดูงบการเงินของ ITD ช่วง 5 ปีที่ผ่านมา พบว่า ขาดทุนสุทธิต่อเนื่อง ยกเว้นช่วง 9 เดือนปี 2566 ซึ่งมีกำไรสุทธิราว 379 ล้านบาท แต่ถ้าดูไส้ในของงบการเงินในงวดนี้จะพบว่า ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการขายสินทรัพย์ออกไปจึงทำให้งบดูดีมีกำไร ขณะที่งบปีอื่นๆ ขาดทุนสุทธิทุกปี
- ปี 2566 (ม.ค.-ก.ย.) กำไรสุทธิ 379 ล้านบาท
- ปี 2565 ขาดทุนสุทธิ 4,759 ล้านบาท
- ปี 2564 ขาดทุนสุทธิ 155 ล้านบาท
- ปี 2563 ขาดทุนสุทธิ 1,104 ล้านบาท
- ปี 2562 ขาดทุนสุทธิ 37.34 ล้านบาท
นอกจากนี้ หนึ่งในจุดเปลี่ยนสำคัญของการบริหารงาน ITD เริ่มต้นเมื่อวันที่ 8 ธ.ค.2564 เมื่อที่ศาลทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาคดีกล่าวหานายเปรมชัย กรรณสูต ประธานบริหารและกรรมการ ITD กรณีล่าสัตว์ป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ด้านตะวันตก หรือ “คดีเสือดำ” มีคำพิพากษาจำคุก 2 ปี 14 เดือน โดยไม่รอลงอาญา
การขาดนายเปรมชัย ที่กุมบังเหียน ITD ย่อมมีผลต่อการเจรจาธุรกิจถึงแม้ว่าจะมีการออกแถลงการณ์ออกมาว่า คำพิพากษาดังกล่าวไม่มีผลกระทบต่อการดำเนินงาน โดยมีการจัดตั้งคณะกรรมการบริหาร (Executive Committee) ประกอบด้วยผู้บริหารระดับสูง16 คน เพื่อดำเนินงานและบริหารมาตั้งแต่เดือน พ.ค.2555 รวมเวลา 9 ปี
รวมทั้ง ITD ได้มีการแต่งตั้ง “นายธรณิศ กรรณสูต” เป็นรักษาการประธานบริหาร ITD
สำหรับนายธรณิศ เป็นบุตรชายคนเล็กของนายเปรมชัย จากบุตรทั้งหมด 3 คน ซึ่งทั้งหมดเป็นกรรมการ ITD แต่นายเปรมชัย วางตัวนายธรณิศ เป็นผู้ทำหน้าที่บริหารต่อจากนายเปรมชัย โดยมีคำสั่งแต่งตั้งให้ปฏิบัติหน้าที่ประธานบริหาร ก่อนที่จะมีคำพิพากษาศาลฎีกาเพียง 6 วัน
“คุณเปรมชัยวางตัวคุณธรณิศไว้นานแล้ว เวลาไปเจรจาธุรกิจจะพาไปด้วยตลอดเพื่อให้เรียนรู้งานของบริษัท เมื่อ 5 ปีที่ผ่านมา โดยถูกมอบหมายให้ดูงานทั้งหมดรวมถึงการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมทวาย ประเทศเมียนมา” แหล่งข่าวจาก ITD ให้สัมภาษณ์กรุงเทพธุรกิจ เมื่อเดือน ธ.ค.2564
ทั้งนี้ การดำเนินงานที่ผ่านมาของ ITD มีโครงการลงทุนบางโครงการที่ไม่เป็นไปตามแผน โดยเฉพาะการลงทุนโครงการ "เขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย" ที่เมียนมา ที่ ITD ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานไปถึง 8 พันล้านบาท เช่น การก่อสร้างถนนจากชายแดนพุน้ำร้อน จ.กาญจนบุรี ไปถึงทวาย รวมถึงพัฒนานิคมอุตสาหกรรมทวาย ที่มีการอพยพประชาชนออกจากพื้นที่
รวมถึงการร่วมลงทุนโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) เกือบ 4 พันล้านบาท โดยที่ ITD ไม่ได้มีรีเทิร์นจากโครงการเหล่านี้กลับเข้ามาเลย
ดังนั้นเมื่อหลายสถานการณ์ทั้งการลงทุนที่ไม่มีรีเทิร์น รวมถึงบทบาทนายเปรมชัยในการขับเคลื่อนธุรกิจหายไป และงานประมูลโครงสร้างพื้นที่ภาครัฐที่ลดลงไปมากในปี 2566 จึงปฏิเสธไม่ได้ที่ปัจจัยดังกล่าวกระทบการดำเนินงานของ ITD
อย่างไรก็ตาม ITD คาดหวังกับโครงการเหมืองโปแตซ ที่พยายามขอให้รัฐบาลช่วยเร่งขับเคลื่อนโครงการเหล่านี้ออกมาโดยเร็ว ด้วยหวังว่าโครงการนี้จะถือเป็นแหล่งรายได้ใหม่ที่สร้างการเติบโตให้กับ ITD ในระยะข้างหน้า