คลังเร่งมาตรการภาษีหนุน”ประชาชน-ธุรกิจ”รับกระแส ESG
ปลัดคลังเผย เตรียมมาตรการภาษีส่งเสริมประชาชนและภาคธุรกิจหันมาให้ความสำคัญกับ ESG ด้านสรรพสามิตพร้อมดัน 4 มาตรการหนุนชูภาษีต่ำจูงใจ อาทิ การผลิตและใช้แบตเตอรี่ไฟฟ้าประสิทธิภาพสูง ลดปล่อยก๊าซคาร์บอน หนุนการผลิตไบโอพลาสติก และ รถยนต์เพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ
นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า ขณะนี้ กระทรวงการคลัง อยู่ระหว่างการจัดทำมาตรการส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development ) รวมถึง การดำเนินการตามมาตรการด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environment, Social, Governance: ESG) ซึ่งเป็นไปตามเทรนด์การลงทุนของโลก เนื่องจาก ธุรกิจที่มี ESG ที่ดีจะสะท้อนให้เห็นถึงความสามารถในการแข่งขันและศักยภาพของการเติบโตในระยะยาว
ปัจจุบันมีมาตรการหลากหลายในการส่งเสริมและจูงใจที่จะพัฒนาประเทศไปสู่ความยั่งยืน ซึ่งในส่วนของกระทรวงการคลังนั้น จะพิจารณามาตรการภาษีคาร์บอน เพื่อจูงใจให้เกิดการลงทุนในธุรกิจสีเขียวใช้พลังงานหมุนเวียน และพลังงานสะอาดมากขึ้น ขณะเดียวกัน ต้องมีมาตรการลดหย่อนภาษี สำหรับการชำระภาษีบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลสำหรับการสนับสนุนด้าน ESG ด้วย นอกจากนี้ ยังมีมาตรการสินเชื่อธุรกิจสีเขียวดอกเบี้ยต่ำ เพื่อสนับสนุนการดำเนินธุรกิจสีเขียว หรือการติดตั้งแผงโซล่าร์ตามบ้านเรือน ซึ่งสถาบันการเงินของรัฐ ได้ดำเนินการไปแล้ว
“มาตรการใดพร้อมก็จะเดินหน้าไปก่อนได้เลย ไม่ต้องรอให้ออกมาเป็นแพคเกจ เพราะหากรออาจใช้เวลาในการดำเนินการ และไม่ทันต่อสถานการณ์ได้ ซึ่งที่ผ่านมา สถาบันการเงินของรัฐ ได้ปล่อยสินเชื่อธุรกิจสีเขียวไปแล้ว มาตรการภาษีอื่นๆ กำลังจะทยอยออกมา เพื่อสนับสนุนการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน”
ด้านนายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิตเผยว่า ในปีนี้ กรมฯมีแผนที่จะผลักดันมาตรการทางภาษีเพื่อดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อมใน 4 รายการ ประกอบด้วย1. มาตรการสนับสนุนการผลิตและใช้แบตเตอรี่ในรถยนต์ไฟฟ้า (BEV) และรวมถึงแบตเตอรี่ที่ใช้ในอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น โซล่าร์เซล2.มาตรการภาษีลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน 3.มาตรการสนับสนุนการผลิตไบโอพลาสติก และ 4. มาตรการภาษีเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ โดยกรมฯอยู่ระหว่างการศึกษาและเร่งหาข้อสรุปเพื่อเสนอให้กระทรวงการคลังพิจารณาต่อไป
สำหรับมาตรการสนับสนุนการผลิตและใช้แบตเตอรี่ BEV จะผูกกับเงื่อนไขกับการมีระบบรีไซเคิลแบตเตอรี่ที่ใช้แล้ว เพื่อไม่ให้เป็นปัญหาต่อสิ่งแวดล้อมในอนาคต ทั้งนี้ ในปีที่ 2566 ยอดการจดทะเบียนรถ BEV สูงกว่าปีก่อนหน้าถึง 700% และคาดว่าในอีก 10 ปีข้างหน้า การใช้รถ BEV จะสูงขึ้นกว่านี้ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องวางแผนการกำจัดซากแบตเตอรี่ในอนาคตด้วย ทั้งนี้ กรมฯจะได้วางระบบ Track and Test เพื่อติดตามแบตเตอรี่ลูกนั้นๆว่าปัจจุบันอยู่ที่ไหนด้วย
ทั้งนี้ หลักคิดในการจัดเก็บภาษีแบตเตอรี่ คือ ปัจจุบันกรมสรรพสามิต เก็บภาษีสรรพสามิตแบตเตอรี่ ในอัตรา 8% แต่หากมีการรีไซเคิลแบตเตอรี่ที่ใช้แล้ว หรือเป็นแบตเตอรี่ ที่มีประสิทธิภาพการให้พลังงานได้สูง และ มีน้ำหนักเบา เป็นต้น อัตราภาษีที่กรมฯจะคิดนั้น ก็จะต่ำลง โดยอาจกำหนดอัตราภาษีเป็นหลายอัตรา ตามประสิทธิภาพของแบตเตอรี่ เช่น 1 % ,3% ,5% และ 8 %
ขณะเดียวกัน กรมฯอาจต้องทบทวนเงื่อนไขการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับแบตเตอรี่ ที่ผูกติดกับเงื่อนไขที่ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า จะต้องมีแผนการรีไซเคิลแบตเตอรี่ที่ขายออกไปด้วย เนื่องจาก ผู้ประกอบการเห็นว่า แนวทางนี้ มีความยุ่งยาก เพราะเมื่อกรมฯให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่ผู้ประกอบการไปแล้วจะต้องติดตามไปตลอดอายุการใช้งานของแบตเตอรี่ลูกนั้น ซึ่งอาจนานถึง 20 ปี หากผู้ประกอบการไม่ได้รีไซเคิลตามที่ตกลง กรมฯจะต้องเรียกสิทธิประโยชน์ทางภาษีคืนและต้องมีค่าปรับทางภาษีด้วย ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้นผู้ประกอบการรายดังกล่าวอาจเลิกกิจการไปแล้วก็ได้ การติดตามทวงภาษีคืนก็อาจทำไม่ได้
“กรมฯจะต้องทบทวนระบบการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีที่ผูกกับการรีไซเคิล ซึ่งมีหลายรูปแบบ โดยในบางประเทศ ใช้ระบบ Deposit Refund โดยตั้งเป็นกองทุนเพื่อการนี้ ซึ่งเมื่อมีการนำซากแบตเตอรี่มาคืน กองทุนนี้ก็จะจ่ายเงินให้จำนวนหนึ่ง สำหรับแนวทางหนึ่งที่กรมฯกำลังพิจารณา คือ การมอบให้คนกลาง หรือบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญด้านรีไซเคิลแบตเตอรี่ มาทำหน้าที่รีไซเคิลแทนผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น”
ส่วนมาตรการภาษีคาร์บอนนั้น หลักคิด คือ นอกเหนือจากมีเป้าหมายจะลดการปล่อยก๊าซคอร์บอนในประเทศแล้ว ยังเพื่อรองรับการค้าระหว่างประเทศที่ให้ความสำคัญเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยกลุ่มประเทศอียูได้เริ่มให้ประเทศที่ส่งสินค้าไปขายในอียู ต้องรายงานว่า สินค้าชนิดนั้นมีกระบวนการผลิตที่ปล่อยคาร์บอนมากน้อยเพียงใด โดยเริ่มจาก 5 ประเภทสินค้า คือ เหล็ก,อะลูมิเนียม,ปุ๋ย,การผลิตไฟฟ้าและซีเมนต์ และอียูจะเริ่มเก็บภาษีคาร์บอนจากสินค้านำเข้า ตั้งแต่ปี 2569 เป็นต้นไป
ทั้งนี้ การเก็บภาษีจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนนั้น ทั่วโลกได้ใช้วิธีการจัดเก็บจากวัตถุดิบที่เป็นต้นน้ำของกระบวนการผลิตสินค้า นั่นคือ น้ำมัน โดยสินค้าใดใช้น้ำมันในกระบวนการผลิตสูง หมายความว่า จะต้องปล่อยคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศสูงตามไปด้วย อัตราภาษีก็จะสูงขึ้นกว่าสินค้าที่ปล่อยคาร์บอนต่ำกว่าอย่างไรก็ตาม ในระยะแรกของการนำระบบภาษีคาร์บอนมาใช้นั้น กรมฯจะไม่ทำให้เป็นภาระแก่ประชาชนเพิ่มขึ้น กล่าวคือ อัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันยังอยู่ในอัตราเดิม คือ ภาษีเบนซิน อัตราภาษีอยู่ที่ 6.50 บาท/ลิตร ,ดีเซล อยู่ที่ 6.44 บาท/ลิตร แต่ภายใต้อัตราภาษีดังกล่าว จะแบ่งส่วนหนึ่งออกมาเป็นภาษีคาร์บอน เป็นต้น
ด้านมาตรการภาษีเพื่อผลักดันการผลิตไบโอ เอทีลีน หรือ ไบโอพลาสติก เพื่อทดแทน เอทีลีนที่ทำมาจากน้ำมันนั้น กรมฯจะกำหนดอัตราภาษีไบโอ เอทีลีน ในอัตรา 0% ซึ่งนอกจากการช่วยลดการปล่อยคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศแล้ว ยังเป็นการช่วยภาคการเกษตรอีกด้วย
สำหรับมาตรการภาษีสรรพสามิตรองรับสังคมสูงอายุ กรมฯกำลังพิจารณาในเรื่องรถยนต์ที่ออกแบบหรือติดตั้งอุปกรณ์ที่อำนวยความสะดวกให้กับคนสูงอายุ หรือคนพิการ ซึ่งจะได้อัตราภาษีสรรพสามิตรถยนต์ในอัตราพิเศษ เป็นต้น
“ในปัจจุบันโลกให้ความสำคัญในประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ทั้งนี้ จากการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมนั้น ประเทศไทยได้รับข้อตกลงว่าจะลดการปล่อยคาร์บอนลงจากปัจจุบัน 40 % ภายในปี 2573 และภายในปี 2597 ประเทศไทยจะปล่อยคาร์บอนเป็น 0%