การท่าเรือฯ โชว์คืบหน้า ‘แหลมฉบังเฟส3’ ถมทะเลเสร็จ มิ.ย.นี้
การท่าเรือฯ โชว์คืบหน้าสร้างท่าเรือแหลมฉบังเฟส3 เร่งงานถมทะเลคาดแล้วเสร็จ มิ.ย.นี้ ยันส่งมอบพื้นที่ให้กลุ่ม GPC เริ่มบริหารตามสัญญา พ.ย.2568
นายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการก่อสร้างโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 โดยระบุว่า ปัจจุบัน กทท. อยู่ระหว่างดำเนินงานก่อสร้างทางทะเล ซึ่งภาพรวมช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา (พ.ย. - ธ.ค. 2566) งานเดินหน้าได้อย่างต่อเนื่อง โดยเดือน พ.ย. 2566 ตามแผนการปฏิบัติงานปัจจุบัน 1.90% ต่อเดือน ทำได้ 2.08% ต่อเดือน
ส่วนเดือน ธ.ค. 2566 ตามแผนการปฏิบัติงานปัจจุบัน 1.99% ต่อเดือน ทำได้ 2.00% ต่อเดือน นับเป็นสัญญาณที่ดีขึ้นที่การก่อสร้างมีความคืบหน้ามากกว่าแผนงานประจำเดือน ส่งผลให้ภาพรวมความคืบหน้าของโครงการฯ ณ เดือน ธ.ค. 2566 กิจการร่วมค้าฯ สามารถดำเนินงานได้แล้วที่ 17.34% ซึ่งล่าช้ากว่าแผนในภาพรวมโครงการอยู่ 1.67%
อย่างไรก็ตามทางกิจการร่วมค้า CNNC ได้ติดตามเร่งรัดดำเนินงานให้แล้วเสร็จเพื่อให้สามารถส่งมอบงานพื้นที่ถมทะเลพื้นที่ 3 ให้ กทท.ได้ภายในเดือนมิ.ย.2567 ตามที่กำหนด โดยทางกิจการร่วมค้าฯ ได้นำเครื่องจักรทางน้ำเข้ามาปฏิบัตงานเพิ่มเติมอีกจำนวน 30 ลำ จากเดิมที่มีอยู่แล้วจำนวน 37 ลำ รวมเป็นจำนวนทั้งสิ้น 67 ลำในปัจจุบัน อีกทั้งได้นำบุคลากรเข้ามาปฏิบัติงานเพิ่มเติมอีก จำนวน 120 คน จากเดิมมีบุคลากรจำนวน 400 คน รวมมีบุคลากรปฏิบัติงานทั้งสิ้นจำนวน 520 คน
“ตอนนี้เรามั่นใจว่าภาพรวมงานจะไม่กระทบต่อสัญญาสัมปทานของกลุ่มกิจการร่วมค้า GPC เพราะเมื่องานถมทะเลแล้วเสร็จส่งมอบในเดือน มิ.ย.นี้ การท่าเรือฯ ยังมีเวลามากกว่า 1 ปีในการปรับหน้าดิน เตรียมงานโครงสร้างพื้นฐาน สาธารณูปโภคต่างๆ เพื่อส่งมอบพื้นที่ให้กับ GPC เข้ามาดำเนินการในเดือน พ.ย.2568 และเปิดให้บริการท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 ส่วนท่าเรือ F1 ในปี 2570“
สำหรับโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 ถือเป็นหนึ่งในโครงการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน ที่สำคัญตามแผนพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) มูลค่าโครงการรวมประมาณ 114,000 ล้านบาท แบ่งเป็น กทท. 47% และเอกชน 53% โดยเป็นการพัฒนาและดำเนินการในส่วนของท่าเทียบเรือ F เป็นลำดับแรก ระยะเวลาสัมปทาน 5 ปี เมื่อพัฒนาโครงการแล้วเสร็จจะเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับตู้สินค้าจาก 11 ล้าน ทีอียูต่อปี เป็น 18 ล้าน ทีอียูต่อปี
นอกจากนี้ยังเพิ่มสัดส่วนสินค้าผ่านท่าทางรถไฟของท่าเรือแหลมฉบังจากร้อยละ 7 เป็นร้อยละ 30 เพิ่มขีดความสามารถในการรองรับรถยนต์จาก 2 ล้านคันต่อปี เป็น 3 ล้านคันต่อปี ช่วยสนับสนุนการลดต้นทุน การขนส่งโดยรวมของประเทศจากร้อยละ 14 ของ GDP เหลือร้อยละ 12 ของ GDP ประหยัดค่าขนส่งประมาณ 250,000 ล้านบาท อีกทั้งยังผลักดันท่าเรือแหลมฉบังเป็นประตูสู่การค้าการลงทุน และเสริมยุทธศาสตร์ให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านการขนส่งทางน้ำของภูมิภาค