'เศรษฐา' เตรียมถกคณะกรรมการดิจิทัลวอลเล็ต 'กฤษฎีกา' ย้ำไม่มีคำว่าไฟเขียว
นายกฯ เผย “ดิจิทัลวอลเล็ต“ ยังไม่พิจารณาใน ครม. เตรียมถกคณะกรรมการดิจิทัลวอลเล็ตก่อน มั่นใจออกตามไทม์ไลน์เดิม พ.ค.นี้ ย้ำต้องออก พรบ.กู้เงิน ด้าน “กฤษฎีกา” ย้ำไม่มีคำว่าไฟเขียว ชี้ออกเป็น พ.ร.บ.หรือ พ.ร.ก.ก็ได้ แต่ต้องยึดกฎหมายวินัยการเงินการคลัง
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ (9 ม.ค.) โดยระบุว่า วันนี้ยังไม่มีการพิจารณาเรื่องนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต เพราะจำเป็นต้องเสนอเข้าคณะกรรมการดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งตนเป็นประธานก่อน ซึ่งขณะนี้กำลังรอดูเวลาอยู่ อย่างไรก็ดี ยืนยันว่าทางกฤษฎีกามีความเห็นตอบกลับให้มีการรับฟังความเห็นจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งเลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งมีตัวแทนอยู่ในคณะกรรมการดิจิทัลวอลเล็ตอยู่แล้ว
“กฤษฎีกาท่านไม่ได้บอกว่าทำไม่ได้ หรือทำได้ เป็นเรื่องของดุลพินิจ และเป็นเรื่องที่ต้องฟังความคิดเห็น ถึงบอกว่าต้องมีการประชุมคณะกรรมการดิจิทัลวอลเล็ตเพื่อสอบถามความเห็นเรื่องนี้”
อย่างไรก็ดี ตนยืนยันว่านโยบายเรื่องนี้ไปต่อได้แน่นอน และยังยืนยันในไทม์ไลน์เดิมภายในเดือน พ.ค.2567 แต่ขอประชุมรับฟังความเห็นของทุกฝ่ายก่อน เพราะถ้าเกิดท่านผู้ทรงคุณวุฒิหรือคณะกรรมการมีข้อสงสัย มีข้อเสนอแนะอีกก็ต้องตอบทุกคำถามให้รอบคอบ แต่เบื้องต้นแนวทางดำเนินการหากจะเกิดนโยบายนี้ก็จะต้องออกเป็น พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท ตามกำหนดเดิม
ด้านนายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา กล่าวว่า คณะกรรมการกฤษฎีกาได้ส่งคำตอบเรื่องการออกพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กู้เงิน 5 แสนล้านบาท เพื่อใช้ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท มาให้รัฐบาลแล้ว ส่วนรายละเอียดคงจะต้องไปเข้าในคณะกรรมการดิจิทัลวอลเล็ตก่อน และเรื่องนี้เป็นเรื่องลับ อาจจะต้องนำไปให้กระทรวงการคลังเป็นคนชี้แจงในรายละเอียด แต่ยืนยันว่าทางกฤษฎีกาไม่ได้มีคำว่าไฟเขียว
“กฤษฎีกาตอบเป็นข้อกฎหมายอย่างเดียวเลย เพราะกฤษฎีกาเป็นนักกฎหมาย แต่เงื่อนไขตามกฎหมายที่กำหนดไว้ในมาตรา 53 พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง พ.ศ.2561 มีอะไรบ้าง ซึ่งในเงื่อนไขในนั้นจะบอกว่าเป็นกรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วน ต้องแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง เพื่อแก้ไขวิกฤติของประเทศ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องมาดูกันว่ามันเข้าเงื่อนไขนั้นหรือไม่”
อย่างไรก็ดี หากจะถามว่าออกเป็นกฎหมายได้หรือไม่นั้น มาตรา 53 ระบุว่าให้ออกเป็นกฎหมายได้ ส่วนจะเป็น พ.ร.บ.หรือพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ก็แล้วแต่ เพราะทั้งสองอย่างเป็นการออกกฎหมายเหมือนกัน ขณะที่ทางกฤษฎีกาไม่มีข้อเสนอแนะอะไรเพิ่มเติม เพียงแต่เป็นการอธิบายถึงมาตรา 53 และบอกว่าคงจะต้องรับฟังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีข้อมูลเชิงประจักษ์ยืนยันได้เท่านั้น
นายปกรณ์ กล่าวด้วยว่า ความเห็นของกฤษฎีกาสามารถใช้อ้างอิงได้ เพราะยืนตามมาตรา 53 มาตรา 6 มาตรา 7 และมาตรา 9 ของ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง โดยยืนยันได้ว่าหากรัฐบาลทำตามคำแนะนำของกฤษฎีกาแล้วจะปลอดภัยแน่นอน หากมีปัญหารัฐบาลสามารถอ้างอิงความเห็นของกฤษฎีกาเป็นเกราะป้องกันตัวเองได้ แต่ถ้าเป็นไปตามเงื่อนไขทุกอย่างก็จะไม่มีปัญหาอะไร
ทั้งนี้ ในกรณีการออกเป็น พ.ร.บ. หรือ พ.ร.ก. แบบไหนจะมีความเสี่ยงน้อยกว่ากันนั้น เลขาธิการกฤษฎีกาแจงว่า ถ้าเรียกว่าปลอดภัยก็ปลอดภัยทั้งคู่ หากถูกเงื่อนไขมันก็ปลอดภัยหมด ส่วนกรณีนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ออกมาระบุว่ากฤษฎีกาไฟเขียว ตนมองว่ารัฐมนตรีช่วยไม่ได้ใช้คำว่าไฟเขียว เพราะผมเองก็ไม่ใช่ตำรวจจราจร แต่ถ้าเป็นไปตามเงื่อนไขก็ทำได้ ไม่เป็นปัญหาอะไร ขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงในเชิงประจักษ์ว่าเป็นไปตามกฎหมายหรือไม่