‘TDRI’ แนะไทยใช้โอกาสสมัคร ‘OECD’ เร่งปฏิรูปเศรษฐกิจประเทศ  

‘TDRI’ แนะไทยใช้โอกาสสมัคร ‘OECD’  เร่งปฏิรูปเศรษฐกิจประเทศ  

"TDRI" ชี้โอกาสดีไทยสมัครสมาชิก OECD ช่วยยกระดับมาตรฐาน ภาพลักษณ์ประเทศ ชี้ใช้โอกาสในการปฏิรูปเศรษฐกิจ แก้ไขปัญหาการทุจริตที่เป็นปัญหามายาวนาน พร้อมยกระดับระบบนิติรัฐ นิติธรรม การคุ้มครองแรงงานให้ตรงตามหลักการสากล

มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อปลายปี 2566 ที่ผ่านมา ได้มีมติเห็นชอบให้ประเทศยื่นหนังสือแสดงเจตจำนงของรัฐบาลไทย ในการเข้าเป็นสมาชิก "องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและพัฒนา (Organisation for Economic Co-operation and Development)" หรือ “OECD” ตามที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอ โดยมอบหมายให้ สศช.และกระทรวงการต่างประเทศ เป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนให้ประเทศไทยสามารถเข้าเป็นสมาชิก OECD ได้ในระยะเวลาที่ใกล้ที่สุด

ทั้งนี้ปัจจุบัน ประเทศสมาชิกของ OECD ทั้งหมด 38 ประเทศ เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว อาทิ ยุโรป สหรัฐฯ เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น เป็นต้น โดยยังไม่มีประเทศในอาเซียนเข้าเป็นสมาชิก อย่างไรก็ตามนอกจากประเทศไทยที่จะยื่นเจตจำนงเข้าเป็นสมาชิก OECD แล้ว ยังมีอินโดนิเซีย อีกประเทศ ที่สนใจเข้าเป็นสมาชิกของ OECD เช่นกัน

 

ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวว่าการเข้าเป็นสมาชิก OECD ในปัจจุบันถือว่าเปิดกว้างขึ้นเมื่อเทียบกับในอดีต โดยแต่เดิมนั้นกลุ่มประเทศ OECD นั้นจำกัดการรับสมาชิกแต่ประเทศร่ำรวยที่ประชากรมีรายได้สูง แต่เวลาต่อมาได้มีการขยายการรับสมาชิกเพิ่มมากขึ้น และบางประเทศก็ไม่ได้เป็นประเทศร่ำรวย หรือเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วแต่ก็สามารถเป็นสมาชิก OECD ได้  เช่น ประเทศคอสตาริกาที่อยู่ในอเมริกากลาง และประเทศโคลัมเบียที่อยูในอเมริกาใต้ก็เป็นสมาชิกของ OECD เช่นกัน

โดยประเทศโยชน์ของการเข้าไปเป็นสมาชิก OECD นั้นมีหลายด้าน เช่น การเข้าไปอยู่ในกลุ่มของประเทศที่มีข้อมูลทางวิชาการ และมีการหารือกันเรื่องของการพัฒนาประเทศ และการพัฒนาเศรษฐกิจ  ก็จะมีโอกาสของประเทศไทยได้ประโยชน์ และสามารถเรียนรู้เรื่องต่างๆ เช่นการปฏิรูปการศึกษา การปฏิรูประบบบำนาญให้เพียงพอรอสังคมผู้สูงอายุ เป็นต้น

นอกจากนั้น OECD ยังมีบทบาทในการกำหนดมาตรฐานของบริษัทต่างๆในการเสียภาษีข้ามชาติ ซึ่งมาตรฐานตรงนี้ช่วยให้ประเทศไทยสามารถปรับตัวและปฏิบัติตาม และจะได้ข้อมูลมาก่อนสำหรับการที่จะดำเนินการปรับปรุงมาตรฐานทางภาษีทำให้สามารถเตรียมการรับมือได้เร็วมากขึ้น  

“การเป็นสมาชิก OECD ถือว่าช่วยเสริมภาพลักษณ์ที่ดีให้กับประเทศไทย ซึ่งภาพลักษณ์ของประเทศในเวทีนานาชาติก็จะดีขึ้น และการเป็นสมาชิก OECD ยังช่วยยกระดับมาตรฐานหลายๆด้าน ที่ต้องปฏิรูปประเทศให้ตรงตามหลักสากลมากขึ้นด้วย”นายสมเกียรติ กล่าว

อย่างไรก็ตามการที่จะเข้าเป็นสมาชิกของ OECD นั้นประเทศไทยต้องปฏิรูปประเทศในหลายๆด้านหลังจากยื่นสมัครสมาชิก OECD แล้วจึงจะสามารถได้รับการยอมรับให้เข้าเป็นสมาชิกได้ เช่น

การปฏิรูปประเทศในเรื่องของ การเปิดเสรีการลงทุน แต่การเปิดเสรีการลงทุนใน OECD นั้นไม่เหมือนกับการเจรจาการเปิดเขตการค้าเสรี (FTA) แต่มีการกำหนดข้อสงวนได้พอสมควร และการทำข้อตกลงกับ OECD ให้ประเทศต่างๆไม่อาจกล่าวหาประเทศไทยว่าผิดพันธกรณีระหว่างประเทศได้จากข้อตกลง OECD ได้

นอกจากนั้นยังต้องปฏิรูประบบนิติธรรม ระบบนิติรัฐ ที่ต้องเป็นไปตามมาตรฐานสากล  คุ้มครองสิทธิแรงงานให้ได้มาตรฐานสากล การยึดมั่นในระบบประชาธิปไตย  และการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่น ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่เป็นประโยชน์กับประเทศไทย เพราะในเรื่องนี้การสมัครเข้าเป็นสมาชิก OECD ที่ทำให้ไทยต้องเพิ่มความโปร่งใสของประเทศ เอาแรงกดดันจากนักลงทุนต่างประเทศมาช่วยให้เกิดการปรับปเปลี่ยนในทางที่ดีขึ้นได้

“การเข้าร่วม OECD ไม่ได้ทำให้เศรษฐกิจของประเทศไทยดีขึ้นได้โดยอัตโนมัติ เหมือนกับที่เราเข้าร่วมการวัดผลการสอบ PISA ซึ่งก็มีระบบวัดผลให้แต่ไม่ได้หมายความว่าผลคะแนนสอบของเด็กไทยจะดีขึ้นได้เลย เช่นเดียวกับเรื่องของเศรษฐกิจ ประเทศไทยต้องมีการเดินหน้าปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ ที่ช่วยให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศได้ในระยะยาว ซึ่งไม่สามารถทำเสร็จได้ภายใน 1 – 2 วัน แต่ต้องทำต่อเนื่องเพื่อแก้ปัญหาที่สั่งสมอยู่ในประเทศให้ได้ เพื่อให้สามารถยกระดับประเทศเข้าไปอยู่ในกลุ่ม OECD ได้ ”