จับชีพจร ‘อิตาเลียนไทย’ วิกฤติรับเหมา งานรัฐค้างท่อ
จับชีพจรธุรกิจ “อิตาเลียนไทย” ความคืบหน้างานรับเหมาในมือปี 2567 หลังเจอวิกฤติงานลงทุนภาครัฐค้างท่อ กระทบรับเหมาซบเซา ลุ้น 17 ม.ค.นี้ นัดชี้ชะตาหุ้นกู้ จ่อเลื่อนชำระไปอีก 2 ปี
เมื่อวันที่ 8 ม.ค.2567 บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ITD แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) และเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ รวมถึงธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ในฐานะ “นายทะเบียนหุ้นกู้” และ “ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้”
โดย ITD ในฐานะผู้ออกหุ้นกู้ เห็นสมควรให้มีการจัดประชุมผู้ถือหุ้นกู้ ครั้งที่ 1/2567 ซึ่งเป็นการประชุมหุ้นกู้ของบริษัททุกชุดร่วมกัน แต่แยกการนับองค์ประชุม และการลงมติ) ในวันพุธที่ 17 ม.ค.2567 เวลา 14.00 น. ในรูปแบบการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (E-Meeting) ซึ่งมีการปิดสมุดทะเบียนพักการโอนกรรมสิทธิ์วันที่ 3 ม.ค.2567 ทั้งนี้ วาระการประชุมผู้ถือหุ้นกู้ครั้งที่ 1/2567 มีดังนี้
วาระที่ 1 พิจารณาผ่อนผันการดำรงอัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (D/E Ratio)
ตามที่กำหนดในข้อกำหนดสิทธิ โดยให้มีผลตั้งแต่วันสิ้นสุดรอบปีบัญชีของปี 2566 จนถึงวันสิ้นสุดรอบปีบัญชีของปี 2568 และผ่อนผันให้ผู้ออกหุ้นกู้ดำเนินการเจรจา หรือเข้าทำสัญญาใดๆ กับเจ้าหนี้เพื่อปรับโครงสร้างหนี้ โดยไม่ถือเป็นเหตุผิดนัดตามข้อกำหนดสิทธิ
วาระที่ 2 พิจารณาอนุมัติการขยายวันครบกำหนดไถ่ถอนหุ้นกู้ไปอีก 2 ปี
และการเพิ่มอัตราดอกเบี้ยของหุ้นกู้อีกร้อยละ 0.25 ต่อปี (นับแต่วันถัดจากวันครบกำหนดไถ่ถอนหุ้นกู้เดิมจนถึงวันครบ 1 ปีจากวันครบกำหนดไถ่ถอนหุ้นกู้เดิม) และการเพิ่มอัตราดอกเบี้ยของหุ้นกู้อีกร้อยละ 0.50 ต่อปี (นับแต่วันถัดจากวันครบ 1 ปีจากวันครบกำหนดไถ่ถอนหุ้นกู้เดิมจนถึงวันครบกำหนดไถ่ถอนหุ้นกู้ใหม่) โดยจะชำระดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นทั้งหมดเพียงครั้งเดียว ในวันครบกำหนดไถ่ถอนหุ้นกู้ใหม่ (ที่ขยายออกไป)
อย่างไรก็ดี การแจ้ง “เลื่อน” จ่ายเงินต้นที่จะครบกำหนดในกลางเดือน ก.พ.นี้ ออกไปอีกอย่างน้อย 2 ปี สำหรับหุ้นกู้ทุกรุ่น ทำให้หลายฝ่ายกังวลถึงสถานการณ์ของ ITD เวลานี้ว่าอาจประสบปัญหาสภาพคล่องหรือไม่ อีกทั้ง หากย้อนกลับไปดูผลดำเนินงานของ ITD ในช่วงที่ผ่านมาพบว่า ในช่วงปี 2566 การรับงานรับเหมาก่อสร้างที่เป็นรายได้หลักของ ITD มีทิศทางลดลง
โดยปี 2566 รายงานตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เข้าลงนามในสัญญาการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพียง 1 โครงการ คือ
1.สัญญาก่อสร้างกับการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เพื่อดำเนินการก่อสร้างโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูง เพื่อเชื่อมโยงภูมิภาคช่วงกรุงเทพมหานคร-หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร-นครราชสีมา) งานสัญญาที่ 3-1 งานโยธา สำหรับช่วงแก่งคอย-กลางดง และช่วงปางอโศก-บันไดม้า ในนามกิจการร่วมค้า ITD-CREC No.10 วงเงิน 9,348 ล้านบาท
ขณะที่ปัจจุบัน ITD มีโครงการก่อสร้างในมือ อาทิ
- โครงการรถไฟสายใหม่ สายเด่นชัยเชียงราย-เชียงของ สัญญา 1 (ช่วงเด่นชัย-งาว) โดยโครงการนี้บริษัทฯ ได้ร่วมมือกับ บมจ.เนาวรัตน์พัฒนาการ มูลค่า 24,822 ล้านบาท
- โครงการรถไฟความเร็วสูง ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลจีน เส้นทางกรุงเทพฯ-หนองคาย ระยะ (เฟส) ที่ 1 สัญญาที่ 3-4 ช่วงลำตะคอง-สีคิ้ว และช่วงกุดจิก-โคกกรวด มูลค่า 10,397 ล้านบาท
- โครงการทางยกระดับบนทางหลวง หมายเลข 35 ถนนพระราม 2 ตอนที่ 3 มูลค่า 2,328 ล้านบาท
- โครงการทางพิเศษพระราม 3 ดาวคะนองวงแหวนตะวันตก (สัญญา 3) ซึ่งบริษัทฯ ได้ดำเนินการในนามกิจการร่วมค้าไอทีดี-วีซีบี ร่วมกับพันธมิตรคือ บจก. วิจิตรภัณฑ์ก่อสร้าง มูลค่า 6,877 ล้านบาท
- โครงการทางหลวงพิเศษหมายเลข 82 สายบางขุนเทียน-บ้านแพ้ว ช่วงเอกชัย-บ้านแพ้ว ตอนที่ 7 มูลค่า 1,746 ล้านบาท
- โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน–ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก)
- สัญญาที่ 3 งานออกแบบและก่อสร้างอุโมงค์ทางวิ่งและสถานีใต้ดิน ช่วงผ่านฟ้า–สะพานพุทธ โดยบริษัทฯ ได้ร่วมมือกับ บมจ. เนาวรัตน์พัฒนาการ มูลค่า 14,120 ล้านบาท
- สัญญาที่ 5 งานก่อสร้างโครงสร้างทางวิ่งและสถานียกระดับ ช่วงดาวคะนอง–ครุใน อาคารจอดรถไฟฟ้าและอาคารจอดแล้วจร มูลค่า 12,238 ล้านบาท
- สัญญาที่ 6 งานออกแบบและก่อสร้างระบบรางตลอดแนวเส้นทางโครงการ มูลค่า 3,354 ล้านบาท
ทั้งนี้โครงการก่อสร้างในนาม ITD นั้น พบว่าส่วนใหญ่เป็นโครงการประมูลที่ได้ดำเนินการ 2 – 3 ปีก่อน ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างและมีสถานะใกล้แล้วเสร็จ ขณะที่ในปี 2566 ที่ผ่านมาต้องยอมรับว่ามีการประมูลและลงนามสัญญางานโครงสร้างพื้นฐานเพียงโครงการเดียว ซึ่งส่วนหนึ่งอาจเกิดจากปัจจัยภาครัฐไม่มีการผลักดันโครงการลงทุน เนื่องจากเป็นช่วงของการเปลี่ยนผ่านรัฐบาล
แหล่งข่าวจากธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ระบุว่า หากประเมินสถานการณ์ของธุรกิจรับเหมาในปี 2567 ต้องยอมรับว่าเอกชนที่ส่วนใหญ่ยังพึ่งพารายได้จากการประมูลงานภาครัฐที่คงได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่องจากการเบิกจ่ายงบประมาณล่าช้า และเชื่อว่าสถานการณ์น่าจะกลับเข้าสู่สภาวะปกติในปี 2568
“ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัจจัยการประมูลงานภาครัฐที่ลดลงนั้น มีส่วนทำให้มีเอกชนกลุ่มรับเหมาบางรายได้รับผลกระทบและต้องขาดสภาพคล่อง” แหล่งข่าว กล่าว
นายสุเมธ สุรบถโสภณ รองประธานบริหารอาวุโส ITD เคยระบุก่อนหน้านี้ว่า “ช่วงปลายปี 2564 จนถึงต้นปี 2565 บริษัทฯ ได้รับงานใหม่เข้ามามากกว่า 1.2 แสนล้านบาท ทำให้งานในมือ (Backlog) เพิ่มเป็นกว่า 1.5 แสนล้านบาท ซึ่งจะรองรับรายได้ในช่วง 5 ปีนี้”