โอกาส ‘แลนด์บริดจ์‘ เจาะตลาด ’BIMSTEC’ 6 ประเทศ ประชากร 1,730 ล้านคน
โฆษกรัฐบาลชี้โครงการ "แลนด์บริดจ์" คือจุดยุทธศาสตร์การขนส่งทั่วโลก เปิดตลาดกลุ่ม BIMSTEC ประชากรกว่า 1.7 พันล้านคน ต่อยอดปัจจัยภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งไทยมีความพร้อม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยในเวทีโลก
นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ชี้แจงเพิ่มเติมต่อประเด็นโครงการ Landbridge ซึ่งเป็นโครงการที่รัฐบาลให้ความสำคัญว่า รัฐบาลมุ่งต่อยอดใช้ประโยชน์ ในฐานะที่ไทยมีจุดแข็ง เป็นพื้นที่ทางผ่านหลักของโครงข่ายความร่วมมือต่างๆ ในทวีปเอเชียและเป็นจุดศูนย์กลางความเชื่อมโยงระหว่างภาคพื้นทวีปกับมหาสมุทรของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากข้อได้เปรียบด้านปัจจัยภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitical Factor) นี้ จึงเป็นโอกาสการพัฒนาให้ไทยเป็นจุดศูนย์กลางลงทุนอุตสาหกรรมและการขนส่งของภูมิภาคและของโลกในการผลิตและกระจายสินค้าสู่นานาประเทศอย่างแท้จริง
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีระบุว่า โครงการ Landbridge จะสามารถเชื่อมต่อการขนส่งสินค้าที่ผลิตในไทยไปสู่ประเทศสมาชิกความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ (Bay of Bengal Initiative for Multi-Sectoral Technical and Economic Cooperation: BIMSTEC) ภูมิภาคเบงกอลอีก 6 ประเทศ ได้แก่ บังกลาเทศ เมียนมา เนปาล ภูฏาน ศรีลังกา และอินเดีย ที่มีประชากรจำนวนประมาณ 1,730 ล้านคน
โดยภูมิภาคนี้ถือว่าเป็น Missing Market หรือตลาดใหม่ที่มีศักยภาพสำหรับการลงทุน คาดการณ์ว่าจะมีแนวโน้มการเติบโตที่สูงขึ้น อีกทั้งยังสามารถเชื่อมต่อสินค้าไปยังตลาดในกลุ่มประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Great Mekong Subregion: GMS) ได้แก่ ลาว กัมพูชา เมียนมา เวียดนาม และ จีน พื้นที่ทางธุรกิจแบบ Blue Ocean ที่มีการแข่งขันไม่สูงมากและมีคู่แข่งน้อย
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า การเชื่อมอ่าวไทย-อันดามันด้วยโครงการ Landbridge จะนำไปสู่การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่ทั้งสองฝั่ง สร้างความเจริญ กระจายรายได้ให้พื้นที่ ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนไทยและส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจภาคใต้ รวมทั้ง Landbridge อยู่ในพื้นที่ที่สมบูรณ์แบบสามารถลดความเสี่ยงต่อเหตุไม่คาดคิดหากเกิดกับเส้นทางการเดินเรือเส้นทางอื่น
“รัฐบาลมองวิสัยทัศน์ต่อโครงการ Landbridge ในภาพกว้าง ว่าจะเป็นแม่เหล็กดึงดูดนักลงทุน ที่ต้องการบริหารความเสี่ยง เห็นประโยชน์จากโอกาส และเชื่อมั่นว่าจะเป็นอีกปัจจัยขับเคลื่อนให้ไทยเป็นจุดยุทธศาสตร์ด้านอุตสาหกรรมการผลิตและการขนส่งของภูมิภาคและของโลกอย่างแท้จริง รวมทั้ง ถือเป็นการเพิ่มช่องทางการขนส่งทางเรือของโลกเพื่อการขนส่งสินค้าได้เร็ว คล่องตัว
และปลอดภัย ด้วยการแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์’ (Geopolitical Competition) ของโลกทำให้เกิดประโยชน์จากปัจจัยภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitical Factor) ของไทย” นายชัย กล่าว