'กรมราง' เตรียมดึงรถไฟฟ้าสายสีชมพู - เหลือง ร่วมนโยบาย 20 บาทตลอดสาย

'กรมราง' เตรียมดึงรถไฟฟ้าสายสีชมพู - เหลือง ร่วมนโยบาย 20 บาทตลอดสาย

กรมการขนส่งทางรางเตรียมเสนอคมนาคม ดึงรถไฟฟ้าสายสีชมพู – เหลือง เข้านโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายปีนี้ พร้อมเผยผลรับฟังความคิดเห็นประชาชน ขีดเส้นเพดานอัตราค่าโดยสารที่รับได้ 45 บาทต่อเที่ยว

นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) เปิดเผยภายหลังการสัมมนารับฟังความคิดเห็น ครั้งที่ 3 โครงการศึกษากำหนดอัตราค่าโดยสารขั้นสูง ค่าแรกเข้าและหลักเกณฑ์การขึ้นอัตราค่าโดยสารขนส่งมวลชนระบบราง โดยระบุว่า การสัมมนาครั้งนี้ถือว่าเป็นครั้งสุดท้าย หลังจากนี้จะสรุปผลการเปิดรับฟังความคิดเห็นทั้งหมด เสนอต่อกระทรวงคมนาคม เพื่อพิจารณาเห็นชอบภายในเดือน ก.พ.นี้ แต่จะสามารถใช้ได้หลังจากร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ขนส่งทางราง พ.ศ.... ที่ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ผ่านการพิจารณา

โดยเบื้องต้นการศึกษากำหนดอัตราค่าโดยสารขั้นสูง จากการสำรวจความเห็นของประชาชนที่ใช้รถไฟฟ้า ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ยอมรับการจ่ายค่าโดยสารสูงสุดไม่เกิน 42 บาทต่อเที่ยว เฉลี่ยการเดินทางต่อเที่ยวอยู่ 13 กิโลเมตร ดังนั้นกรมฯ จะนำผลสำรวจของประชาชนเป็นที่ตั้งในการกำหนดอัตราค่าโดยสาร ซึ่งจะมีผลต่อโครงการรถไฟฟ้าของภาครัฐ รวมไปถึงโครงการรถไฟฟ้าสายใหม่ที่จะเปิดให้บริการ ต้องกำหนดราคาค่าโดยสารสูงสุดอยู่ที่ไม่เกิน 42 บาทต่อเที่ยว รวมกรณีการเดินทางเชื่อมต่อระบบรถไฟฟ้าด้วย

\'กรมราง\' เตรียมดึงรถไฟฟ้าสายสีชมพู - เหลือง ร่วมนโยบาย 20 บาทตลอดสาย

อย่างไรก็ดี ปัจจุบันนโยบายรัฐบาลได้ผลักดันอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ซึ่งถือว่าอยู่ในกรอบอัตราราคาที่ประชาชนรับได้อยู่แล้ว และพบว่าผลจากการใช้มาตรการดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 16 ต.ค.2566 ถึงปัจจุบันมีปริมาณผู้โดยสาร 2 โครงการนำร่อง คือ โครงการรถไฟฟ้ามหานคร (MRT) (สายสีม่วง) ช่วงเตาปูน-คลองบางไผ่ ช่วงวันทำงานเพิ่มขึ้น 4.17% และช่วงวันหยุดมีผู้โดยสารใช้บริการเพิ่มขึ้น 13.41% และโครงการรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ - รังสิต และช่วงบางซื่อ - ตลิ่งชัน ในช่วงวันทำงานเพิ่มขึ้น 11.01% และช่วงวันหยุดมีผู้โดยสารใช้บริการเพิ่มขึ้น 24.85%

สำหรับค่าเฉลี่ยการเดินทางดังกล่าว ถือว่ามียอดผู้โดยสารใช้งานเกิดคาดกว่าที่กรมฯ ประเมินไว้ ส่งผลให้รถไฟฟ้าทั้ง 2 เส้นทาง สูญเสียรายได้ลดลง 25% จากที่คาดการณ์ไว้ว่าจะสูญเสียรายได้ทั้งหมดประมาณ 300 ล้านบาทต่อปี โดยมั่นใจว่าหากหลังจากนี้ 9 เดือนที่เหลือมีผู้โดยสารใช้บริการมากขึ้น จะทำให้ชดเชยน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ และกรมฯ จะมีการเสนอให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาต่อมาตรการในช่วงปลายปีนี้

\'กรมราง\' เตรียมดึงรถไฟฟ้าสายสีชมพู - เหลือง ร่วมนโยบาย 20 บาทตลอดสาย

นอกจากนี้ กรมฯ คาดว่าภายในปี 2567 จะเสนอขยายนโยบายค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสาย กับรถไฟฟ้าเพิ่มอีก 2 เส้นทาง ได้แก่ โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง และโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี เนื่องจากพบว่าปริมาณผู้โดยสารของทั้ง 2 เส้นทาง ยังมีไม่มาก หรือยังมีจำนวนไม่เกิน 3-4 แสนคนต่อวัน ทำให้สามารถกำหนดอัตราค่าโดยสารได้ง่าย ซึ่งจะใช้วิธีให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ชดเชยรายได้ให้แก่เอกชนเช่นเดิม

นอกจากนี้ เพื่อแก้ไขปัญหาค่าโดยสารรถไฟฟ้าในระยะยาว กรมฯ มีข้อเสนอว่าหากในอนาคตการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้ารัฐบาลควรเป็นเจ้าของโครงการ เป็นคนลงทุนเอง 100% โดยอาจจัดทำในรูปแบบ PPP Gross Cost รัฐเป็นเจ้าของรายได้หรือมอบหมายให้เอกชนเป็นตัวแทนในการจัดเก็บรายได้นำส่งรัฐ คล้ายกับรูปแบบที่ รฟม.บริหารรถไฟฟ้าสายสีม่วงในปัจจุบัน เพื่อกำหนดอัตราค่าโดยสารเองได้และบริหารต้นทุนให้ถูกลง จะมีผลต่อการกำหนดราคาค่าโดยสารให้ถูกลง

ส่วนกรณีที่กระทรวงคมนาคมมีแผนจัดเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันเบนซิน ในอัตราเพิ่มขึ้น 0.50 บาท เฉพาะสถานีมันในพื้นที่กรุงเทพฯ และปีมณฑล เพื่อนำเงินมาสนับสนุนเข้ากองทุนตั๋วร่วม ซึ่งจะทำให้อัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าเหลือ 20 บาทตลอดสายนั้น กรมฯ มองว่าสามารถดำเนินการได้ เนื่องจากเรื่องนี้เป็นแผนระยะยาว ของ พ.ร.บ.ตั๋วร่วม โดยใช้วิธีการให้ รฟม.ชดเชยรายได้ให้กับเอกชนต่อไป