เปิด 5 ปัจจัยหลัก 'ลดค่าไฟ' งวดพ.ค.-ส.ค. 67 ต่ำกว่า 4.20 บาท
“กกพ.” เปิด 5 ปัจจัย หลัก กดกดค่าไฟฟ้างวดเดือนพ.ค.-ส.ค. 2567 ต่ำกว่าต้นทุน 4.20 บาท ด้านกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ มั่นใจ "ปตท.สผ." สามารถเร่งกำลังการผลิตแหล่งเอราวัณได้ตามสัญญา 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันทันเม.ย. นี้
Key Points
- ปริมาณก๊าซฯ อ่าวไทยกำลังผลิตตามสัญญา 1 เม.ย. 67 ช่วยกดต้นทุนผลิตไฟฟ้า
- กฟผ. รับภาระค่าเอฟทีคงค้างกว่า 1 แสนล้าน วัดใจรัฐบาลจะจ่ายคืนเท่าไหร่
- นโยบายภาครัฐอีกตัวแปรสำคัญในการอุ้มค่าไฟงวดเดือนพ.ค.-ส.ค. 2567 ต่ำกว่า 4.20 บาท
- "พลังงาน" ยัน "ปตท." เดินเครื่องเต็มกำลังดึงก๊าซฯ ในอ่าวไทยได้ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันตามสัญญา
นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษกคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยถึงแนวโน้มค่าไฟฟ้างวดเดือนพ.ค.-ส.ค. 2567 นี้ว่า หากใช้มาตรการปรับราคาก๊าซธรรมชาติเข้าและออกจากโรงแยกก๊าซธรรมชาติเป็นราคา Pool Gas
ทั้งนี้ จะเป็นราคารวมก๊าซธรรมชาติจากแหล่งอื่น ๆ ด้วย ยกเว้นก๊าซธรรมชาติที่นำไปใช้ใน การผลิตก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) สำหรับใช้เป็นเชื้อเพลิงให้ใช้ต้นทุนราคาก๊าซธรรมชาติเท่ากับราคาก๊าซธรรมชาติอ่าวไทย (Gulf Gas) ทำให้ราคา Pool Gas ลดลงจาก 365 บาทต่อล้านบีทียูเหลือ 343 บาทต่อล้านบีทียู
อย่างไรก็ตาม เมื่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้อิงราคาโครงสร้างนี้ไปจนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง จะส่งผลให้ค่าไฟฟ้างวดใหม่หากคำนวณต้นทุนราคาน้ำเข้า LNG spot ระดับ 10 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู และต้นทุนอื่น ๆ จะส่งผลให้ราคาค่าไฟจะอยู่ในระดับ 4.20 บาทต่อหน่วย
ดังนั้น จึงต้องดู 5 องค์ประกอบหลักที่จะช่วยให้ค่าไฟฟ้างวดเดือน พ.ค.-ส.ค. 2567 ต่ำกว่า 4.20 บาทต่อหน่วย ประกอบด้วย
1. กำลังการผลิตก๊าซในอ่าวไทย แปลง G1/61 (แหล่งก๊าซธรรมชาติเอราวัณ) ที่จะต้องผลิตให้ได้ตามสัญญา 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ซึ่งปัจจุบันก็ยังไม่มีความชัดเจน
2. ปริมาณก๊าซฯ จากแหล่งพม่าจะหายไปหรือไม่
3. ราคา LNG spot
4. การคืนหนี้ให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และ
5. นโยบายภาครัฐที่จะเข้ามาอุดหนุน
ทั้งนี้ ส่วนตัวมองว่าค่าไฟฟ้างวดปัจจุบัน ราคานำเข้า LNG spot ขณะนี้อยู่ในระดับ 10 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู และมีแนวโน้มลดลง จะทำให้ต้นทุนอื่น ๆ ต่ำกว่าที่ประมาณการ และ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จะได้เงินคืนด้วย ดังนั้น หากยืนราคานี้ในระยะยาวจะทำให้กฟผ. ได้เงินคืนซึ่งอาจจะเอาไปหักกับงวดเดือน ก.ย.-ธ.ค. 2566 ที่ยังไม่ได้เอาตัวเลขมากบวกลบ จึงทำให้หนี้คงค้างยังไม่ได้รับคืนอยู่ที่ 95,777 ล้านบาท
“ครม.ให้ไปศึกษาทั้งต้นทุน ปริมาณก๊าซฯ ว่าจะเป็นเท่าไหร่ และภาระที่ต้องคืนกฟผ.ด้วย จึงต้องหารือในภาคนโยบายกับกระทรวงพลังงานเพื่อให้ กฟผ. กระทบน้อยสุด ดังนั้น ตัวเลขภาระกฟผ. งวดเดือนก.ย.-ธ.ค. 2566 น่าจะออกในช่วงเดือนมี.ค. 2567 นี้ หากดูคร่าว ๆ น่าจะอยู่หลักหมื่นล้านบาท อาจส่งผลให้ภาระที่กฟผ. จะต้องรับสะสมในระดับ 1.1-1.2 แสนล้านบาท จากที่กฟผ. เคยรับภาระสูงสุดที่ 150,268 ล้านบาท ในงวดก.ย.-ธ.ค.2565”
นายวรากร พรหโมบล อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กล่าวว่า ขณะนี้ บริษัท ปตท.สผ. เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (ปตท.สผ. อีดี) ในฐานะคู่สัญญาผู้ซื้อขายปิโตรเลียมแหล่งเอราวัณ บริษัทในเครือ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. ได้เร่งเพิ่มกำลังการผลิตแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลข G1/61 (แหล่งก๊าซธรรมชาติเอราวัณ) ภายใต้ระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต (PSC) ได้ยืนยันว่าจะสามารถทำตามสัญญา 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันในเดือนเม.ย. 2567 นี้
ทั้งนี้ ส่วนตัวเชื่อว่าจะสามารถเพิ่มกำลังผลิตได้ตรงตามสัญญาได้แน่นอน เพราะเชื่อว่า ปตท.สผ. ไม่อยากที่จะต้องเสียเงินค่าปรับหากไม่สามารถดำเนินการได้ตามสัญญา ซึ่งเท่าที่ตรวจสอบพบว่าขณะนี้ ปตท.สผ. ได้เร่งนำอุปกรณ์ในการขุดเจาะ ฯลฯ เข้าไปทั่วทุกพื้นที่แล้ว และจะคงกำลังการผลิตตามสัญญาอย่างไม่มีปัญหาแน่นอน