กทม.เคาะกรอบวงเงิน 2.3 หมื่นล้าน เคลียร์หนี้ BTS เร่งทำข้อบัญญัติงบประมาณ
กทม. เห็นชอบกรอบวงเงินชำระค่า E&M รถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยาย 2 พร้อมนำเข้าสภา กทม. พิจารณาข้อบัญญัติงบประมาณ 2.3 หมื่นล้านบาท
การพิจารณาชำระหนี้ งานติดตั้งระบบไฟฟ้าและเครื่องกล (E&M) โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต มีความคืบหน้าเพิ่มมากขึ้น หลังจากสภากรุงเทพมหานคร เห็นชอบในหลักการเมื่อวันที่ 17 ม.ค.2567
ทั้งนี้ เพื่อชำระให้ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ผู้รับสัมปทานและให้บริการเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว หรือรถไฟฟ้า BTS
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 19 ม.ค.2567 เพื่อพิจารณาวาระขอความเห็นชอบกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 พ.ศ. .... และเห็นชอบรายการเพื่อขอจัดตั้งงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมฯ ในวงเงินไม่เกิน 23,488 ล้านบาท โดยจ่ายขาดเงินสะสมกรุงเทพมหานคร
ตามมติที่ประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยแรก (ครั้งที่ 3) เมื่อวันที่ 17 ม.ค. ที่ผ่านมา มีมติเห็นชอบในโครงการการรับมอบงานทรัพย์สินระบบการเดินรถ (ไฟฟ้าและเครื่องกล) (ELECTRICAL AND MECHANICAL WORKS : E&M) โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 2
โดยให้กรุงเทพมหานครเร่งจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 รายการ ระบบเดินรถ (ไฟฟ้าและเครื่องกล) โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 2 จำนวน 1 ระบบ วงเงิน 23,488 ล้านบาท โดยจ่ายขาดเงินสะสม
ในที่ประชุมสำนักงบประมาณ สำนักการคลัง และสำนักการจราจรและขนส่ง ได้รายงานภาพรวมของโครงการ คาดการณ์ฐานะเงินสะสมของกรุงเทพมหานคร ประจำปี 2567 ณ วันที่ 16 มค.2567 ซึ่งมีเงินสะสมที่ปลอดภาระผูกพัน จำนวน 51,000 ล้านบาท
รวมทั้งหลักเกณฑ์การพิจารณางบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ได้แก่ ต้องเป็นกิจการที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจของกรุงเทพมหานคร มีความจำเป็นเร่งด่วน เกี่ยวกับการบริการชุมชนและสังคม เป็นกิจการซึ่งแก้ไขความเดือดร้อนของประชาชนโดยตรง เป็นกิจการที่เป็นการเพิ่มรายได้ให้กรุงเทพมหานคร ต้องเป็นไปตามแผนพัฒนากรุงเทพมหานคร หรือตามที่กฎหมายกำหนด และคำนึงถึงฐานะเงินสะสมของกรุงเทพมหานคร
นายชัชชาติ กล่าวในที่ประชุม ว่าโครงการนี้ยังไม่เคยผ่านความเห็นชอบจากสภา กทม. มาก่อน ขณะนี้สภา กทม. ได้เห็นชอบโครงการโอนทรัพย์สินแล้ว การดำเนินการต่อไปจึงถือว่ามีความรอบคอบมากขึ้น ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการโดยยึดหลักให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อกรุงเทพมหานครและประชาชน
จากนั้น ที่ประชุมคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานครมีมติเห็นชอบกรอบวงเงิน และเห็นชอบรายการเพื่อขอจัดตั้งงบประมาณดังกล่าว และมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งจัดทำร่างข้อบัญญัติงบประมาณ เพื่อนำเข้าสู่ที่ประชุมสภากรุงเทพมหานครพิจารณาต่อไป