จับตา 4 ประเด็น ‘แลนด์บริดจ์‘ ‘เศรษฐา’ พา ครม.ลงพื้นที่ 'สัญจร จ.ระนอง'
“เศรษฐา” ลงพื้นที่ตรวจราชการ - ครม.สัญจร จ.ระนอง 22 – 23 ม.ค.นี้ ลงพื้นที่อุทยานแห่งชาติแหลมสน พื้นที่สร้างท่าเรือในโครงการแลนด์บริดจ์ฝั่งระนองครั้งแรก ติดตาม 4 ประเด็น จับตาเสียงหนุน - ค้าน จากชุมชน เดินหน้าโรดโชว์โครงการกว่า 4 เดือน พบปะผู้แทนชาวประมงถกแก้ไขปัญหา IUU
Key Points
- “เศรษฐา” ได้ลงพื้นที่เพื่อตรวจราชการและประชุม ครม.สัญจร จ.ระนอง ระหว่างวันที่ 22-23 ม.ค.2567 จะติดตามพื้นที่สร้างท่าเรือโครงการแลนด์บริดจ์ฝั่งระนองครั้งแรก
- นายกรัฐมนตรี ต้องการติดตามหลายประเด็น เช่น พื้นที่การก่อสร้าง พื้นที่การพัฒนาหลังท่าเพื่อรองรับอุตสาหกรรมต่อเนื่อง
- การผลักดันโครงการแลนด์บริดจ์มีประเด็นที่รัฐบาลต้องพิจารณาหลายข้อ โดยเฉพาะเสียงคัดค้านของประชาชนในพื้นที่ ซึ่งนายกรัฐมนตรีต้องการรับฟังเสียงคัดค้านดังกล่าว
รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่าวันนี้ (22 ม.ค.) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง และคณะรัฐมนตรี มีกำหนดการเดินทางไปตรวจราชการจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน และประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่อย่างเป็นทางการ (ครม.สัญจร) ณ จ.ระนอง ระหว่างวันที่ 22 – 23 มกราคม 2567
ทั้งนี้ในวันนี้ (22 ม.ค.) เวลา 14.00 น. นายกรัฐมนตรี และคณะมีกำหนดการเดินทาง ไปยังพื้นที่โครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมฝั่งทะเล อ่าวไทย - อันดามัน (โครงการแลนด์บริดจ์ชุมพร - ระนอง) ณ อุทยานแห่งชาติแหลมสน ต.ม่วงกลวง อ.กะเปอร์จ.ระนอง ซึ่งถือว่าเป็นครั้งแรกที่นายกรัฐมนตรีเดินทางลงพื้นที่ซึ่งเป็นจุดที่จะสร้างโครงการแลนด์บริดจ์ ภายหลังจากที่รัฐบาลมีการโรดโชว์โครงการนี้ในต่างประเทศอย่างต่อเนื่องตลอดการทำงานตลอด 4 เดือนที่ผ่านมา
สำหรับประเด็นการลงพื้นที่ก่อสร้างโครงการแลนด์บริดจ์ของนายกรัฐมนตรีในครั้งนี้ มีประเด็นที่นายกรัฐมนตรีต้องติดตาม 4 ประเด็นด้วยกัน ได้แก่
1.การผลักดันให้แลนด์บริดจ์เป็นประตูการค้า (Gateway) โดยเป็นประตูการค้ารองรับการนำเข้า - ส่งออกของไทย และเป็นประตูการค้ารองรับการนำเข้า - ส่งออกของประเทศในภูมิภาคอาเซียน ประเทศในกลุ่ม GMS รวมถึงจีนตอนใต้
2.การถ่ายลำเรือสินค้า (Transshipment) โดยพัฒนาให้แลนด์บริดจ์เป็นทางเลือกในการถ่ายลำการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ ในมหาสมุทรอินเดีย (BIMSTEC) และประเทศในมหาสมุทรแปซิฟิก ได้แก่ ญี่ปุ่น เกาหลี จีน ใต้หวัน เป็นต้น โดยเชื่อมต่อทางรางและทางถนน
3.การพัฒนาอุตสาหกรรมหลังท่า (Port Industry) โดยมีการตั้งเขตพื้นที่เศรษฐกิจเสรี ดึงดูดนักลงทุน เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมหลังท่าเรือระนอง และท่าเรือชุมพร ส่งเสริมแลนด์บริดจ์ และเพิ่มศักยภาพการแข่งขันด้านเศรษฐกิจในพื้นที่ภาคใต้
4.การรับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาชนในพื้นที่ และการทำความเข้าใจกับคนในพื้นที่ รวมทั้งขั้นตอนการดำเนินงานทางกฎหมาย และแผนงานที่เกี่ยวข้องกับโครงการ เช่น การประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) การประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA) และการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ (HIA) เป็นต้น
- จับตาเสียงหนุน - ค้านโครงการ
ทั้งนี้ปัจจุบันมีในพื้นที่ จ.ระนอง มีประชาชนที่คัดค้านและสนับสนุนโครงการแลนด์บริดจ์ โดยผู้ที่ประกอบอาชีพประมงพื้นบ้าน ไม่ต้องการให้มีการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกที่อ่าวอ่าง ต.ราชกรูด อ.เมืองระนอง เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าว เป็นแหล่งทำประมงพื้นบ้าน หากก่อสร้างท่าเรือแล้วจะไม่มีที่ทำมาหากิน นอกจากนี้ผู้ที่อยู่ในแนวเส้นทางโครงการ ก็จะได้รับผลกระทบด้วย โดยเฉพาะเรื่องที่อยู่อาศัย จึงอยากให้รัฐบาลเยียวยาและจัดหาที่อยู่ให้ใหม่ ขณะที่บางคนเห็นด้วยกับโครงการแลนด์บริดจ์ เพราะบ้านเมืองจะได้เจริญ ลูกหลานจะได้มีงานทำ
ก่อนหน้านี้นายพรศักดิ์ แก้วถาวร ประธานหอการค้าจังหวัดระนอง ระบุว่า ทุกโครงการย่อมมีผลกระทบ จะเห็นได้ว่าประเทศไทยไม่ว่าโครงการเกิดขึ้นที่ไหน โครงการอะไรก็แล้วแต่ย่อมมีคนเห็นด้วยและคนคัดค้าน ซึ่งการคัดค้านไม่ใช่สิ่งที่ผิดปกติ แต่เราต้องคัดค้านด้วยเหตุด้วยผลถึงผลได้ผลเสีย ทุกคนอยากให้ประเทศไทย เดินไปข้างหน้า
"ผมเชื่อว่าโครงการแลนด์บริดจ์มีประโยชน์ต่อจังหวัดระนอง ส่วนกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดน่าจะเป็นกลุ่มประมงพื้นบ้าน ฉะนั้น เมื่อโครงการแล้วเสร็จต้องตั้งกองทุนเพื่อชดเชยรายได้ให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบให้สามารถเลี้ยงดูครอบครัวได้ไม่น้อยกว่าเดิม"
รวมทั้งต้องเทรนคนเหล่านี้เพื่อรองรับงานที่จะเกิดขึ้นในอนาคตกว่า 2 แสนตำแหน่ง ให้ลูกหลานเขาได้ทำงานและเพิ่มพื้นที่ในการจับปลาให้เขาด้วย ฉะนั้นโดยรวมโครงการแลนด์บริดจ์ มีประโยชน์ต่อจังหวัดระนอง แต่สิ่งที่ประชาชนเป็นห่วง คือ รัฐบาลจะดูแลผู้ได้รับผลกระทบอย่างไร การคัดค้าน ในอีกมุมก็เป็นเรื่องที่ดี ซึ่งต้องตอบด้วยเหตุด้วยผลว่าควรจะแก้ไขให้เขาได้อย่างไร
มติ ครม.ปี 61 ที่มาโครงการแลนด์บริดจ์
สำหรับความเป็นมาของโครงการแลนด์บริดจ์ สืบเนื่องมาจากมติ ครม.เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2561ได้เห็นชอบกรอบแนวคิดการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ในพื้นที่จังหวัดชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช
กระทรวงคมนาคม จึงได้มอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร ศึกษาความเหมาะสม ออกแบบเบื้องต้น ประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และวิเคราะห์รูปแบบโมเดลการลงทุน (Business Development Model) โครงการแลนด์บริดจ์
โดยผลการศึกษาที่ออกมาระบุถึงความได้เปรียบเชิงยุทธศาสตร์จากตำแหน่งที่ตั้งโครงการ 4 ข้อคือ
1.ประเทศไทยเป็นจุดศูนย์กลางของภูมิภาคอาเซียน ด้วยความได้เปรียบของที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ ประเทศไทยสามารถเป็นประตูในการขนส่ง และแลกเปลี่ยนสินค้าของประเทศในภูมิภาค และระหว่างทวีปต่าง ๆ ของโลก
2.ลดเวลาและระยะทางการขนส่งจากเดิมที่ต้องผ่านช่องแคบมะละกา ทำให้ประหยัดต้นทุน และระยะเวลาในการขนส่งของเส้นทางเดินเรือโลก
3.ลดปัญหาการติดขัดของช่องแคบมะละกา ของสายการเดินเรือโลก ซึ่งปัจจุบันมีการเติบโต อยู่ตลอดเวลา คาดว่าอีก 10 ปีข้างหน้า ปัญหาจะหนักหนามากขึ้น
4.มีแนวโน้มในการจูงใจผู้ประกอบการขนส่งและนักลงทุน ให้ใช้ประโยชน์จากเส้นทางนี้
องค์ประกอบที่สำคัญของโครงการแลนด์บริดจ์ ประกอบด้วย
- ท่าเรือน้ำลึกฝั่งทะเลอันดามัน ที่แหลมอ่าวอ่าง อำเภอเมืองระนอง จังหวัดระนอง
- ท่าเรือน้ำลึกฝั่งอ่าวไทย ที่แหลมริ่ว อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร
- เส้นทางเชื่อมโยงท่าเรือทั้ง 2 ฝั่ง มีระยะทางประมาณ 90 กิโลเมตร ประกอบด้วย ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) ทางรถไฟขนาดราง 1.435 เมตร (Standard Gauge) และทางรถไฟขนาดราง 1.0 เมตร (Meter Gauge)
- การพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์หลังท่าโดยการถมทะเลเพื่อพัฒนากิจการสนับสนุนท่าเรือ
ส่วนรูปแบบการพัฒนาโครงการ เป็นการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (Public Private Partnership : PPP) โดยให้ภาคเอกชนเป็นผู้ลงทุนโครงการทั้งโครงการในลักษณะท่าเรือเดียวเชื่อม 2 ฝั่ง (One Port Two Sides) โดยมีองค์ประกอบ ได้แก่ ท่าเรือน้ำลึกฝั่งทะเลอันดามัน ท่าเรือน้ำลึกฝั่งอ่าวไทย เส้นทางเชื่อมโยงท่าเรือทั้ง 2 ฝั่ง และการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์หลังท่า
นายกฯถกชาวประมงหารือแก้ IUU
สำหรับกำหนดการอื่นๆของนายกรัฐมนตรีตลอดทั้งวันนี้นอกจากเดินทางไปดูที่ตั้งโครงการแลนด์บริดจ์ฝั่งจ.ระนอง นายกรัฐมนตรี จะเดินทางไปสักการะศาลหลักเมืองระนองและอนุสาวรีย์พระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี (คอซู้เจียง) ณ ศาลหลักเมืองระนอง ตำบลเขานิเวศน์ อำเภอเมืองระนอง จังหวัดระนอง
จากนั้นเดินทางไป ติดตามประเด็นการค้าผ่านแดน แรงงานข้ามชาติ พิธีการศุลกากร และประมง และพบปะผู้แทนชาวประมงในการแก้ไขปัญหา IUU ณ ท่าเรือระนอง - เกาะสอง ตำบลปากน้ำ อำเภอเมืองระนอง จังหวัดระนอง
โดยในช่วงเย็นนายกรัฐมนตรี และคณะจะเดินทางไปเยี่ยมชมการบริหารจัดการบ่อน้ำแร่ร้อนรักษะวาริน ณ บ่อน้ำแร่ร้อนรักษะวาริน ตำบลบางริ้น อำเภอเมืองระนอง จังหวัดระนอง