‘เศรษฐา‘ ยก ’แลนด์บริดจ์’ เทียบ ‘สนามบินสุวรรณภูมิ’ โครงการลงทุนใหญ่ทุน 20 ปี

‘เศรษฐา‘ ยก ’แลนด์บริดจ์’ เทียบ ‘สนามบินสุวรรณภูมิ’ โครงการลงทุนใหญ่ทุน 20 ปี

"เศรษฐา" ลงพื้นที่ จุดก่อสร้างแลนด์บริดจ์ ระนอง ยันรับฟังความเห็นทุกฝ่าย ยกโครงการแลนด์บริดจ์ เป็นเมกะโปรเจกต์ใหญ่สุดรอบ 20 ปี เหมือนที่เคยลงทุนสนามบินสุวรรณภูมิ สมัย "ทักษิณ"

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า วันนี้ (22 มกราคม 2567) เวลา 13.30 น. นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ลงพื้นที่ติดตามโครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมฝั่งทะเล อ่าวไทย - อันดามัน (Landbridge ชุมพร - ระนอง) ณ อุทยานแห่งชาติแหลมสน อ.กะเปอร์ จ.ระนอง โดยมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และนางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เข้าร่วมด้วย

ภายหลังการรับฟังบรรยายสรุปโครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมฝั่งทะเล อ่าวไทย - อันดามัน (Landbridge ชุมพร - ระนอง) จากทางสำนักงานนโยบาย และแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กระทรวงคมนาคม นายกรัฐมนตรีได้เปิดเผยต่อสื่อมวลชนว่า วันนี้เป็นครั้งแรกที่ได้ลงพื้นที่บริเวณนี้ พร้อมได้รับฟังการนำเสนอถึงวิธีการโดยภาพรวม รวมทั้งการคาดการณ์ว่าจะมีการถมทะเลเท่าไร มีระยะห่างออกไปเท่าไร และยังมีการสร้างสะพานที่มีตอม่อ ทำให้เรือประมงของพี่น้องประชาชนยังคงสามารถประกอบอาชีพได้ ทั้งนี้ ในการริเริ่มโครงการใหญ่ๆ เป็นเรื่องธรรมดาที่จะต้องมีคนเห็นด้วย และไม่เห็นด้วย รัฐบาลมีหน้าที่ต้องรับฟังความเห็น และชี้แจงประชาชนทั้งในพื้นที่ และนอกพื้นที่ ซึ่งในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยไม่มีโครงการใหญ่ Mega Project เลย

โดยในช่วงอดีต นายกรัฐมนตรี ดร.ทักษิณ มีโครงการขนาดใหญ่ที่สำเร็จ และสร้างประโยชน์ให้ประเทศมหาศาลคือ สนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของการพัฒนาประเทศทำให้ไทยพัฒนาถึงทุกวันนี้ได้ 

ทั้งนี้ โครงการ Landbridge เป็นโครงการเชื่อมโยงท่าเรือฝั่งอันดามัน บริเวณแหลมอ่าวอ่าง จังหวัดระนอง และอ่าวไทย บริเวณแหลมริ่ว จังหวัดชุมพร ด้วยเส้นทางมอเตอร์เวย์ และรถไฟทางคู่ที่สามารถเชื่อมต่อไปยังระบบรถไฟในประเทศได้ เพิ่มศักยภาพการขนส่งของไทย ร่นระยะเวลาขนส่งข้ามช่องแคบมะละกาที่แออัด รองรับปริมาณสินค้าที่เพิ่มขึ้นในอนาคต และสามารถขยายท่าเรือ เพื่อรองรับการท่องเที่ยวด้วยเรือสำราญ โครงการนี้จึงถือว่าสำคัญ เพราะจะนำความเจริญมาสู่ประเทศ สร้างแรงจูงใจให้บริษัทขนาดใหญ่ระหว่างประเทศมาตั้งฐานผลิตรถยนต์ เครื่องจักรกล อุปกรณ์ทางอิเล็กทรอนิกส์ ในไทย สร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจให้ประเทศ

อย่างไรก็ดี สำหรับข้อกังวลเรื่องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รัฐบาลจะมีการศึกษาถึงผลกระทบในขั้นต้น และต่อไปจะเริ่มศึกษาลงไปที่แหล่งน้ำพุร้อน แหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ ต่อไป ในส่วนของการจ้างงาน ให้มองว่าเป็นเรื่องของโอกาส โดยท่าเรือที่สร้างขึ้นมาไม่ใช่แค่ท่าเรือขนสินค้าเท่านั้น แต่รวมถึงเรือสำราญ ซึ่งถือเป็นโอกาสสำคัญทั้งเป็นของชาวระนอง และจังหวัดแถบอันดามัน ควบคู่ไปกับการพัฒนาภาคใต้ทั้งภูมิภาค ช่วยยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ซึ่งในตอนท้าย นายกรัฐมนตรียืนยันว่า ในการทำ Mega Project นี้เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องทำการศึกษาอย่างละเอียดในทุกมิติควบคู่กันไป

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์