กระทรวงเกษตร โชว์ฟอรัมอาหารโลก ที่เบอร์ลิน หนุนตั้งกองทุนพัฒนาเกษตรเอเชีย
เกษตรฯ เร่งการปฏิรูประบบเกษตรและอาหาร จัดตั้งสำนักงานภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของกองทุนระหว่างประเทศเพื่อพัฒนาเกษตรกรรม ดันส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารไทยในตลาดสหภาพยุโรป หลังร่วมประชุมGlobal Forum for Food and Agriculture
Key Point
.กระทรวงเกษตรฯเข้าร่วมงาน Global Forum for Food and Agriculture ครั้งที่ 16
.ผลักดันตั้งกองทุนระหว่างประเทศเพื่อพัฒนาเกษตรกรรม
.ศึกษาตลาดสินค้าเกษตรและอาหารไทย
ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเข้าร่วมการประชุม Global Forum for Food and Agriculture ครั้งที่ 16 ณ กรุงเบอร์ลิน สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ระหว่างวันที่ 17 – 22 มกราคม 2567 ว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้รับโจทย์ เพื่อนำกลับมาเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จอยู่หลายประเด็น ได้แก่
การปฏิรูประบบเกษตรและอาหารของไทยอย่างเป็นรูปธรรม การจัดตั้งสำนักงานภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของกองทุนระหว่างประเทศเพื่อพัฒนาเกษตรกรรมในไทย รวมถึงการเสริมสร้างความร่วมมือด้านการเกษตรระหว่างไทยกับประเทศคู่ภาคี และการเสริมสร้างการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารไทยในตลาดสหภาพยุโรป ไม่ว่าจะเป็นความสำเร็จของความร่วมมือระดับพหุภาคีหรือทวิภาคี ซึ่งได้ปิดฉากลงอย่างสวยงาม
นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกับรัฐมนตรีด้านการเกษตรของประเทศอื่น ๆ กว่า 80 ประเทศ ร่วมเห็นพ้องที่จะเร่งรัดการปฏิรูประบบเกษตรและอาหาร เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ ภายในปี 2573 (ค.ศ. 2030) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “เป้าหมายที่ 2 ว่าด้วยการยุติความหิวโหย” และการเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหาร ด้วยการ (1) ส่งเสริมการผลิตที่ยั่งยืน (2) การส่งเสริมห่วงโซ่อุปทานที่ยืดหยุ่นและยั่งยืน (3) การลดอาหารเหลือทิ้ง และ (4) การเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับกลุ่มเปาะบาง
โดยพิจารณาจากความต้องการของ “ประชาชนทุกคน” เป็นหลัก ซึ่งมีความสอดคล้องกับแนวทางการขับเคลื่อนภาคการเกษตรด้วย BCG Model ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อยู่แล้ว
ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีการหารือกับนาง Gerardine Mukeshimana รองประธานกองทุนระหว่างประเทศเพื่อพัฒนาเกษตรกรรม โดยนาง Gerardine Mukeshimana ได้ขอบคุณฝ่ายไทยที่ให้การสนับสนุนการเป็น “ประเทศเจ้าภาพ (host country)” ในการจัดตั้งสำนักงานภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของกองทุนระหว่างประเทศเพื่อพัฒนาเกษตรกรรม ซึ่งยังคงมีขั้นตอนการดำเนินงานอีกหลายขั้นตอนก่อนที่จะสามารถจัดตั้งสำนักงานภูมิภาคดังกล่าวในประเทศไทยได้
โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แจ้งให้ทราบว่า ฝ่ายไทยเห็นความสำคัญของกองทุนระหว่างประเทศเพื่อพัฒนาเกษตรกรรมอย่างมาก ซึ่งจะมีประโยชน์ต่อการพัฒนาภาคการเกษตรของไทยในมิติต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการเสริมสร้างศักยภาพของเกษตรกร ซึ่งการจัดตั้งสำนักงานดังกล่าว จะทำให้ไทยเป็นประเทศเจ้าภาพของ 3 หน่วยงานระดับโลกที่มาจากกรุงโรม สาธารณรัฐอิตาลี นอกเหนือจากสำนักงานภูมิภาคขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) และสำนักงานภูมิภาคของโครงการอาหารโลก (WFP)
ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหารือกับกองทุนระหว่างประเทศเพื่อพัฒนาเกษตรกรรมอย่างใกล้ชิดต่อไป เพื่อเร่งรัดการจัดตั้งสำนักงานภูมิภาคดังกล่าวให้แล้วเสร็จอย่างเป็นรูปธรรมและทันท่วงที
สำหรับในมิติทวิภาคี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้พบปะหารือกับผู้นำของประเทศคู่ภาคีต่าง ๆ อาทิ นาย Piet Adema รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร ธรรมชาติและคุณภาพอาหารแห่งราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ นาง Claudia Müller รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอาหารและการเกษตรแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี และนาย Harvick Hansnul Qalb รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรแห่งสาธารณรัฐอินโดนีเซีย เพื่อร่วมผลักดันให้เกิดความร่วมมือด้านการค้าสินค้าข้าว 2 ล้านตัน และความร่วมมือการเกษตรที่ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมระบบเกษตรและอาหารอย่างยั่งยืน และการเสริมสร้างความสามารถในการปรับตัวแก่เกษตรกรให้มีความยืดหยุ่นต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ เพื่อเป็นการยกระดับความเป็นอยู่ของประชากรและความมั่นคงทางอาหารของโลกต่อไป
อย่างไรก็ตาม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีโอกาสศึกษาตลาดสินค้าเกษตรและอาหารไทย ณ ร้านค้า Vinh-Loi กรุงเบอร์ลิน ซึ่งเป็นร้านค้าผู้นำเข้าและจำหน่ายสินค้าเกษตร อาหาร และเครื่องอุปโภคไทยรายใหญ่ของสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี โดยทราบข้อมูลเพิ่มเติมว่า สินค้าผักผลไม้สดและแช่แข็งได้รับความนิยมเป็นอย่างสูงจากผู้บริโภค
ท้องถิ่น เนื่องจากรสชาติและมีความเชื่อมั่นในคุณภาพที่มีมาตรฐานและความปลอดภัยสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกะเพรา โหระพา มะพร้าวน้ำหอม มะม่วงน้ำดอกไม้ เงาะ ลำไย และมังคุด นอกจากนี้ ตลาดเยอรมนียังมีความต้องการสินค้าไทยอีกจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นส้มโอสายพันธุ์ขาวน้ำผึ้ง มะพร้าว ลิ้นจี่ ทุเรียน และผลิตภัณฑ์อินทรีย์ ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันผลักดันการขยายตลาดสินค้าเกษตรและอาหารไทยให้ในสหภาพยุโรปมากขึ้น ซึ่งเป็นตลาดที่มีกำลังในการซื้อสูง พร้อมทั้งสนับสนุนการแก้ไขปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ ให้แก่ผู้ประกอบการส่งออกและนำเข้า เพื่อเสริมสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรไทย
สำหรับการเดินทางเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีเกษตรโลก ณ กรุงเบอร์ลิน สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า) ในครั้งนี้ นอกจากได้แสดงถึงศักยภาพและบทบาทของไทยด้านการเกษตรบนเวทีโลกแล้ว ภารกิจในการเยี่ยมชมหารือช่องทางในการประยุกต์นวัตกรรมและเทคโนโลยีการเกษตรรูปแบบใหม่เข้ากับรูปแบบการทำเกษตรของไทยเพื่อผลักดันสู่การทำการเกษตรแม่นยำ ลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต รวมทั้งการศึกษาตลาดสินค้าเกษตรและอาหารไทย ณ ร้านค้าท้องถิ่น ล้วนแสดงถึงความมุ่งมั่นที่จะขับเคลื่อนเพื่อบรรลุนโยบาย “เกษตรนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” ที่รัฐบาลและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้วางไว้