เปิดธุรกิจตั้งใหม่ปี 66ในกทม. "ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ –สถานบันเทิง "มาแรง
กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เผย ปี 66 เขตธนบุรี -ห้วยขวาง-พระโขนง เป็นเขตที่มีอัตราเติบโตสูงสุด เหตุเป็นพื้นที่เศรษฐกิจ นักท่องเที่ยวและการลงทุนสูง ขณะที่ธุรกิจผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ -ผับบาร์สถานบันเทิง เป็นธุรกิจที่จัดตั้งสูงสุดในกรุงเทพฯสูงสุด
กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ใช้ข้อมูลจากคลังข้อมูลธุรกิจที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย DBD DataWarehouse+ วิเคราะห์และประมวลผลภาพรวมการลงทุนของคนไทยและชาวต่างชาติตลอดปี นำเสนอออกมาเป็น ‘ที่สุดแห่งปี 2566 ด้านการลงทุนในประเทศไทย’ แสดงถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่มีต่อเศรษฐกิจไทย โดยนักลงทุนไทยแห่จัดตั้งธุรกิจใหม่ ทะลุ 8.5 หมื่นราย ซึ่งเป็นยอดการจัดตั้งธุรกิจสูงสุดในรอบ 10 ปี (2557 - 2566) ทุนจดทะเบียนรวมกว่า 5.6 แสนล้านบาท 3 ประเภทธุรกิจที่ได้รับความนิยมสูงสุด ได้แก่ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป และธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร
เมื่อเจาะลึก"ที่สุด"แห่งการจัดตั้งธุรกิจในกรุงเทพมหานคร ภูมิภาค จังหวัด และธุรกิจที่ได้รับความสนใจ พบว่า การจัดตั้งธุรกิจทั่วประเทศมีจำนวนทั้งสิ้น 85,300 ราย เป็นการจัดตั้งธุรกิจในพื้นที่กรุงเทพมหานคร 25,120 ราย (29%) และ ภูมิภาค 60,180 ราย (71%) หากพิจารณาตามเขตภูมิภาค แบ่งออกเป็น 6 ภาค คือ ภาคกลาง มีสัดส่วนการจัดตั้งธุรกิจสูงสุด 17,581 ราย (20.61%) ภาคใต้ 11,675 ราย (13.69%) ภาคตะวันออก 10,948 ราย (12.83%) ภาคตะะวันออกเฉียงเหนือ 8,942 ราย (10.48%) ภาคเหนือ 8,604 ราย (10.09%) และภาคตะวันตก 2,430 ราย (2.85%)
โดยทุกภาคมีอัตราการเติบโตของจำนวนการจัดตั้งที่เพิ่มสูงขึ้นจากปี 2565 ที่ผ่านมา ยกเว้น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มีอัตราการเติบโตลดลงในปี 2566
เมื่อโฟกัสเฉพาะกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นศูนย์กลางการบริหารประเทศ พบว่า พื้นที่การจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจในกรุงเทพมหานคร ปี 2566 เขตที่มีการจัดตั้งนิติบุคคลสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ 1. เขตวัฒนา 1,632 ราย 2. เขตห้วยขวาง 1,277 ราย และ 3. เขตคลองสามวา 993 ราย โดย 3 อันดับที่มีอัตราการเติบโตสูงสุดเมื่อเทียบกับปี 2565 ได้แก่ 1. เขตธนบุรี เติบโต 51.61% 2. เขตห้วยขวาง เติบโต 51.48% และ 3. เขตพระโขนง เติบโต 32.01%
ทั้งนี้ 5 ธุรกิจที่น่าสนใจและมีการอัตราการเติบโตของการจัดตั้งสูงสุด 5 อันดับแรกในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ได้แก่ 1. ธุรกิจผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ 2. ธุรกิจผับบาร์สถานบันเทิง 3. ธุรกิจขนมอบและเบเกอรี่ 4. ธุรกิจเกม ของเล่น รวมถึงโมเดลสะสม และ 5. ธุรกิจจัดหางาน
ส่วนพื้นที่การจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจในเขตภูมิภาค ปี 2566 จังหวัดที่มีการจัดตั้งนิติบุคคลสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ จ.ชลบุรี 7,370 ราย จ.ภูเก็ต 4,983 ราย และจ.นนทบุรี 4,583 ราย
โดยจังหวัดที่มีอัตราการเติบโตของจำนวนการจัดตั้งสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ จ.ภูเก็ต เติบโต 40.82% จ.สุราษฎร์ธานี เติบโต 32.16% และ จ.พังงา เติบโต 21.99% ซึ่ง 3 จังหวัดดังกล่าวอยู่ในพื้นที่เศรษฐกิจที่สำคัญ ทั้งด้านการท่องเที่ยว การลงทุน และจังหวัดที่มีกำลังซื้อค่อนข้างสูงเช่นเดียวกับกรุงเทพมหานคร
ธุรกิจที่น่าสนใจและมีอัตราการเติบโตของการจัดตั้งสูงสุด 5 อันดับแรกในเขตภูมิภาค ได้แก่ 1. ธุรกิจขายส่งชิ้นส่วนและอุปกรณ์จักรยานยนต์ 2. ธุรกิจเช่าจักรยานยนต์ 3. ธุรกิจแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ 4. ธุรกิจขนส่งทางน้ำ และ 5. ธุรกิจการเรียนการสอนด้านเทคโนโลยี
สำหรับปี 2567 กรมพัฒนาธุรกิจการค้า คาดว่า ในภาพรวมการจัดตั้งธุรกิจใหม่ทั่วประเทศจะแตะ 9.5 หมื่นราย เพิ่มขึ้นประมาณ 5 - 10% จากปี 2566 ขณะที่ต่างชาตินำเงินเข้าลงทุนในไทย ทะลุ 1.4 แสนล้าน และยังประเมินว่า ในปี 2567 กระแสความนิยมหรือเทรนด์ (Trend) ต่างๆ จะเข้ามาเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้รูปแบบการดำเนินธุรกิจเปลี่ยนแปลงไป ได้แก่
เทรนด์สินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องกับนวัตกรรมและเทคโนโลยี สินค้าและบริการที่มีเทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้อง ส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่สามารถตอบสนองความสะดวกสบายให้กับผู้คนในยุคปัจจุบัน ซึ่งมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องจนเข้ามามีบทบาทในการดำรงชีวิตแทบทุกด้าน เห็นได้จากสินค้าและบริการเหล่านี้มีอยู่ในเกือบทุกบ้าน ซึ่งการผลิตสินค้าและบริการด้วยนวัตกรรมใหม่ๆ ยังคงเป็นที่สนใจของผู้บริโภคอยู่เสมอ
เทรนด์การใส่ใจสังคมและการรักษาสิ่งแวดล้อม ที่ผู้บริโภคในปัจจุบันให้ความสำคัญกับการใช้ทรัพยากรต่างๆ ตั้งแต่กระบวนการผลิต การใช้งานซ้ำ หรือการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ล้วนเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญมากขึ้น การที่ผู้ดำเนินธุรกิจให้ความใส่ใจในกระบวนการดังกล่าว ถือเป็นสิ่งที่สร้างความยั่งยืนในการประกอบธุรกิจ
เทรนด์สังคมผู้สูงอายุ ปัจจุบันธุรกิจไม่อาจมองข้ามกลุ่มผู้สูงอายุ ที่ปัจจุบันถือว่าเป็นกลุ่มที่มีขนาดใหญ่ และขยายตัวเพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่งกลุ่มดังกล่าวเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อ และมีอิทธิพลต่อคนในครอบครัว หากธุรกิจสามารถตอบสนองความต้องการของสินค้าและบริการกลุ่มนี้ได้ จึงถือเป็นโอกาสสำหรับธุรกิจในการขยายกลุ่มลูกค้าและเพิ่มสัดส่วนแบ่งตลาดของธุรกิจได้
อย่างไรก็ตามภายใต้สภาวะทางเศรษฐกิจ สังคม และรูปแบบการดำเนินธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว รวมทั้ง สภาวะตลาดที่มีการแข่งขันสูง กรมพัฒนาธุรกิจการค้าให้ข้อแนะนำว่า ภาคธุรกิจควรตั้งรับและปรับตัวให้ทันต่อสภาวะการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น โดยอาจขยายตลาดและหากลุ่มลูกค้าใหม่ เพิ่มกลุ่มเป้าหมายทั้งในประเทศและต่างประเทศรวมทั้งรักษาฐานลูกค้าเดิม บริหารจัดการค่าใช้จ่ายและลดต้นทุนในการผลิต
โดยการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการดำเนินการ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า ปรับเปลี่ยนหรือเพิ่มผลิตภัณฑ์และบริการให้เข้ากับความต้องการของตลาดมากขึ้น เพื่อลดผลกระทบ จากกำลังซื้อภาคครัวเรือนที่อาจลดลง จากความผันผวนทางเศรษฐกิจ
นอกจากนี้ผู้ประกอบธุรกิจควรดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม ธรรมาภิบาล หรือ ESG เพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือให้กับธุรกิจ สร้างความสามารถในการแข่งขันให้ธุรกิจเติบโตได้อย่างยั่งยืนทั้งในประเทศและในระดับสากล