เหรียญอีกด้านการส่งออก พลิกเกมรับเศรษฐกิจจีนไม่สดใส
“จีน” เป็นคู่ค้าที่มีสัดส่วนต่อการส่งออกของไทยสูงถึง 12% และเป็นคู่ค้าสำคัญ 1 ใน 3 ของตลาดหลักของไทย ดังนั้นเศรษฐกิจจีนปีนี้ที่หลายสำนักคาดการณ์ว่าไม่น่าจะสดใสซึ่งอาจจะส่งผลต่อการส่งออกของไทยซึ่งมีสัดส่วนต่อจีดีพีประเทศถึง 70%
พูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กล่าวว่า แนวโน้มเศรษฐกิจจีน ในปี 2567 มีแนวโน้มขยายตัวที่ 4.5% (ธนาคารโลก ธ.ค.2566) ซึ่งเป็นการขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงจากปี 2566 ที่เติบโต 5.2%
โดยปัจจัยสนับหนุน ได้แก่ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งการเพิ่มการใช้จ่ายทางการคลัง การผ่อนคลายนโยบายการเงิน และการปฏิรูปโครงสร้างเชิงลึก อาทิ การออกพันธบัตรรัฐบาลมูลค่า 1 ล้านล้านหยวน การเพิ่มสภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจผ่านการปล่อยสินเชื่อระยะสั้น 1 ปี รวมถึงการยกระดับมาตรการควบคุมอุตสาหกรรมทางการเงิน เพื่อกระตุ้นในเกิดความเชื่อมั่น ซึ่งจะนำไปสู่การขยายตัวของการอุปโภคบริโภค และการลงทุน
การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในภาพรวม ซึ่งคาดว่าจะส่งผลดีกับจีนที่เศรษฐกิจพึ่งพาการส่งออกไปต่างประเทศสูง นอกจากนี้ อัตราเงินเฟ้อที่ชะลอลงในหลายภูมิภาคทั่วโลก คาดว่าจะทำให้ธนาคารกลางในหลายประเทศมีแนวโน้มหยุดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เป็นแรงหนุนต่ออุปสงค์ทางการค้า และความเชื่อมั่นในการบริโภคของประเทศต่างๆ รวมถึงประเทศคู่ค้าสำคัญของจีนด้วย
อย่างไรก็ตาม ด้านความเสี่ยงในการเข้าสู่ภาวะเงินฝืด และปัญหาอุปสงค์ภายในประเทศที่อ่อนแอ จากดัชนีผู้บริโภคของจีนที่ชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง (อัตราเงินเฟ้อเดือนธ.ค.2566 หดตัว 0.3% หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3) อาจส่งผลให้ประชาชนคาดการณ์ว่าราคาสินค้า และบริการจะลดลงต่อไปอีกในอนาคต จึงชะลอการใช้จ่ายภายในประเทศไปก่อน ซึ่งจะทำให้อุปสงค์อ่อนแอ
การชะลอตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ยืดเยื้อต่อเนื่องมาจากปีก่อน แม้ว่าจะมีการออกนโยบายสนับสนุนจากภาครัฐมาโดยตลอด แต่ยังไม่มีสัญญาณการฟื้นตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์จีนอย่างชัดเจน อีกทั้งนักวิเคราะห์คาดว่าในปี 2567 จะยังพบการผิดนัดชำระหนี้ของบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์จีนอีก
ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์โลกที่ยังคงดำเนินอยู่ ทำให้การค้าระหว่างจีนและสหรัฐ ค่อยๆ ลดลง การใช้มาตรการจำกัดการส่งออกสินค้าที่เป็นเทคโนโลยีขั้นสูงของสหรัฐ และพันธมิตรกับจีน นอกจากการใช้มาตรการภาษีเดิมที่มีอยู่แล้ว อาจเป็นอุปสรรคทางการค้า และทำให้เกิดการกระจายในห่วงโซ่อุปทานออกจากจีน ตลอดจนเหตุการณ์ความขัดแย้งของอิสราเอล และฮามาสที่เริ่มกระจายวงกว้างกระทบต่อการค้า อาจส่งผลต่อต้นทุนค่าระวางเรือ และราคาน้ำมันโลกให้เกิดความผันผวนได้
สำหรับการส่งออกของไทยปี 2567 คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นกว่าปี 2566 ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก หลังจากที่เงินเฟ้อชะลอลงกลับสู่เป้าหมาย วัฏจักรการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มจะยุติลง กิจกรรมทางเศรษฐกิจของภาคเอกชนค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้น
“ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด อาทิ ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ จากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐ และจีน สงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยังคงดำเนินอยู่ สงครามอิสราเอล-ฮามาส และล่าสุดการโจมตีเรือสินค้าของกลุ่มกบฏฮูตีในเยเมน ที่อาจเป็นอุปสรรคทางการค้าทำให้ต้องเปลี่ยนไปใช้เส้นทางเดินเรือผ่านแหลมกู๊ดโฮปซึ่งใช้ระยะเวลาและต้นทุนที่แพงขึ้น ”
นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงต่อห่วงโซ่อุปทานชะงักงัน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และอาจส่งผลกระทบทั้งทางตรง และทางอ้อมต่อการส่งออกของไทยจากราคาค่าระวางเรือ ราคาน้ำมันโลก และตลาดการเงินโลกที่ผันผวน ผลกระทบจากภัยแล้งในหลายพื้นที่ทั่วโลก อาจทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกผันผวนมากขึ้น รวมถึงอาจส่งผลกระทบต่อปริมาณการส่งออกสินค้าเกษตรของไทย
ขณะที่การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของตลาดเกิดใหม่เป็นไปอย่างล่าช้า เนื่องจากเผชิญกับปัญหาวิกฤติทางการเงิน และหนี้สาธารณะเพิ่มสูง กิจกรรมทางเศรษฐกิจชะลอลง อย่างกรณีจีนซึ่งเป็นคู่ค้ารายสำคัญของไทย แม้ว่าหลายหน่วยงานจะปรับเพิ่มค่าคาดการณ์ โดยคาดว่าเศรษฐกิจจีนปี 2567 จะขยายตัวได้มากขึ้น แต่ยังต้องจับตาตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่ซบเซา รวมถึงอุปสงค์การอุปโภคบริโภค และการลงทุนของภาคเอกชนยังคงอ่อนแอ
จัดทำกลยุทธ์สำหรับสินค้าส่งออกไทยที่มีศักยภาพ พัฒนาเศรษฐกิจใหม่ อาทิ การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล การค้าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ การส่งเสริมอุตสาหกรรมสีเขียว เป็นต้น ผลักดันการใช้ประโยชน์จาก FTA นโยบายช่วยเหลือ SMEs ให้ส่งออกได้มากขึ้น แก้ไขปัญหาและอุปสรรคทางการค้า เร่งขับเคลื่อนระบบสารสนเทศดิจิทัลเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการส่งออก พร้อมทำแผนขยายตลาดโดยเน้นเจาะเมืองรองเพื่อกระจายสินค้าไทยในวงกว้าง การใช้ประโยชน์จาก Soft Power
เศรษฐกิจจีนกำลังจะเป็นความเสี่ยงต่อการส่งออกไทย แต่อีกด้านหนึ่งของเหรียญแห่งการค้าไทยระหว่างประเทศไทยยังแสวงหาประโยชน์ความพยายามผลักดันการส่งออกที่ไม่แค่ให้เป็นไปตามเป้าหมายแต่คือ การวางรากฐานการค้า และการลงทุนในอนาคตซึ่งไม่เพียงแค่การพึ่งพาแต่ตลาดจีนเท่านั้น
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์