วิกฤติ ‘ทะเลแดง’สะเทือนส่งออกไทยไปยุโรป

วิกฤติ ‘ทะเลแดง’สะเทือนส่งออกไทยไปยุโรป

รัฐบาลจับตาสมรภูมิใหญ่เขย่าภูมิรัฐศาสตร์โลก“หอการค้า” ชี้ ป๊ญหาภูมิรัฐศาสตร์ ทำผู้ส่งออกมีต้นทุนสูงขึ้น “พาณิชย์” เผย ส่งออกไปยุโรป เริ่มได้รับผลกระทบ เส้นทางขนส่งอิตาลี ค่าระวางเรือ ม.ค.พุ่ง 200-300% ส่งมอบสินค้าล่าช้า 1 เดือน ส่งผลให้สินค้าไทยขาดตลาด

ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์กลายเป็นปัจจัยที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษ เพราะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย โดยมีความขัดแย้งหลายส่วนที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะสงครามอิสราเอลและกลุ่มฮามาสที่นำไปสู่การโจมตีเรือสินค้าในบริเวณคลองสุเอซและทะเลแดง ซึ่งทำให้ค่าระวางเรือมีความผันผวนและกดดันต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น 

ส่วนสงครามรัสเซียและยูเครนที่เริ่มต้นมาตั้งแต่เดือน ก.พ.2565 จนถึงปัจจุบันยังไม่ยุติลง รวมทั้งมีความไม่แน่นอนในการดำเนินนโยบายการเมืองภายหลังการเลือกตั้งของหลายประเทศที่จะเกิดขึ้นในปี 2567 เช่น การเลือกตั้งประธานาธิบดีไต้หวัน รัสเซียและสหรัฐ โดยปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวจะเป็นการซ้ำเติมเศรษฐกิจโลกที่อยู่ในภาวะชะลอตัว 

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า กระทรวงการต่างประเทศ หน่วยงานเศรษฐกิจและความมั่นคงได้รายงานสถานการณ์ภูมิรัฐศาสตร์โลกให้นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีรับทราบเป็นระยะถึงความขัดแย้งและความตึงเครียดที่มากขึ้น ซึ่งปี 2567กระทบทั่วโลกรวมถึงไทยโดยพื้นที่ความขัดแย้งและสถานการณ์ที่ต้องจับตาเป็นพิเศษหลังจากมีความตรึงเครียดเพิ่มมากขึ้นดังนี้

1.พื้นที่ทะเลจีนใต้ที่มีความอ่อนไหวมากขึ้นหลังจากที่การเลือกตั้งในไต้หวันได้รัฐบาลที่มีความแข็งกร้าวกับจีน ประกอบกับต้นปีได้มีการตั้งกลุ่มไตรภาคีอินโด-แปซิฟิก (Trilateral United States-Japan-Republic of Korea Indo-Pacific Dialogue) ที่มีสหรัฐและพันธมิตร ได้แก่ เกาหลีใต้ และได้ออกแถลงการณ์ร่วมในประเด็นอ่อนไหวอย่างไต้หวันและทะเลจีนใต้ ซึ่งทำให้จีนไม่พอใจและทำให้สถานการณ์ความขัดแย้งในทะเลจีนใต้อาจบานปลายได้

2.พื้นที่ยุโรปโดยนอกจากสงครามรัสเซียและยูเครนที่ดำเนินต่อเนื่องมากว่า 2 ปี และยังไม่มีท่าทีจะยุติโดยมีการเตรียมพร้อมทำสงครามขององค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ(NATO) ซึ่งประกาศการซ้อมรบของกำลังพลเกือบ 1 แสนนายถือว่าเป็นการซ้อมรบครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่ยุคสงครามเย็น และจะใช้เวลาซ้อมรบนานหลายเดือน

“การเตรียมพร้อมของหลายประเทศขณะนี้ไม่ใช่สถานการณ์ปกติ แต่เป็นสถานการณ์การเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าสู่สงคราม ซึ่งไทยต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด” แหล่งข่าวระบุ

รวมทั้งก่อนหน้านี้หน่วยงานเศรษฐกิจได้เสนอผลกระทบจากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ต่อรัฐบาล โดยกระทรวงการคลังระบุระหว่างการแถลงประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2566-2567

กระทรวงการคลังเห็นว่าในปี 2567 ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์โลกในภูมิภาคต่างๆ มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น อาจเป็นข้อจำกัดและกระทบการเติบโตของเศรษฐกิจไทยระยะถัดไปดังนี้

1.การแข่งขันเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างจีนและสหรัฐ2.สถานการณ์สู้รบระหว่างอิสราเอลและฮามาสที่อาจส่งผลกระทบต่อราคาพลังงานให้ปรับตัวสูงขึ้น3.ความยืดเยื้อของสงครามระหว่างรัสเชียและยูเครน

ขณะที่สถานการณ์การเลือกตั้งผู้นำและสภานิติบัญญัติของประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย เช่นสหรัฐรัสเซียอินเดียซึ่งอาจส่งผลต่อการดำเนินนโยบายระหว่างประเทศของไทยเช่นกัน

 

ขณะที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ระบุในการแถลงภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาส 3 ปี 2566 และแนวโน้มปี 2566-2567 ว่าการบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคปี 2567 รัฐบาลต้องเตรียมมาตรการรองรับผลกระทบและใช้ประโยชน์จากความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการขยายตัวของความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ การชะลอตัวของประเทศเศรษฐกิจหลัก และความผันผวนในตลาดเงินตลาดทุนโลก

รวมทั้งควรให้ความสำคัญต่อมาตรการเพื่อรองรับผลกระทบจากความขัดแย้งในตะวันออกกลางอาจกระทบเศรษฐกิจทั้งด้านแรงงาน ความผันผวนของราคาพลังงานราคาสินค้าโภคภัณฑ์และต้นทุนภาคเกษตร

ขณะเดียวกันต้องดำเนินนโยบายการเงินการคลังอย่างเหมาะสมสอดคล้องเงื่อนไขทางเศรษฐกิจของประเทศที่อยู่ช่วงฟื้นตัวท่ามกลางความเสี่ยงจากความผันผวนในระบบเศรษฐกิจที่อยู่ในเกณฑ์สูงและแรงกดดันทางด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจที่สูงขึ้นมาก โดยควรให้ควำมสำคัญต่อการเพิ่มพื้นที่การดำเนินนโยบาย (Policy space) ให้เพียงพอเพื่อรองรับ “ความเสี่ยง” ที่อาจเกิดขึ้นในระยะต่อไป

นายพิชัย นริพทะพันธุ์ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี กล่าวว่าขณะนี้ไทยต้องเฝ้าระวังเพราะสถานการณ์มีความไม่แน่นอนมาก ซึ่งแม้ไม่กระทบไทยโดยตรงแต่อาจกระทบทางอ้อมขณะเดียวกันหากไทยเตรียมความพร้อมจะมีโอกาสที่ดีเกิดขึ้นกับไทยได้โดยสถานการณ์ความขัดแย้งที่ต้องติดตามผลกระทบกับไทยมีดังนี้

1.การสู้รบระหว่างรัสเซียและยูเครน ที่ยังไม่ยุติและยืดเยื้อออกไป 2.ความขัดแย้งระหว่างจีนและไต้หวัน ภายหลังการเลือกตั้งของไต้หวัน 3.สถานการณ์ในคาบสมุทรเกาหลี ระหว่างเกาหลีใต้ และเกาหลีเหนือ ที่มีความตึงเครียดมากขึ้นตามลำดับ

4.สถานการณ์การสู้รบในเมียนมา ระหว่างทหารรัฐบาลกลางและกองกำลังชาติพันธุ์ที่ปัจจุบันรัฐบาลกลางเพลี่ยงพล้ำหลายสมรภูมิรบ ซึ่งทำให้อำนาจของมิน ออง ล่าย ลดทอนลงและเหตุการณ์ในเมียนมาต้องจับตาเป็นพิเศษเพราะเป็นประเทศเพื่อนบ้านไทยที่มีธุรกิจและการค้าชายแดน และที่สำคัญมีแหล่งก๊าซธรรมชาติในเมียนมาที่ส่งมาขายให้ไทยเพื่อผลิตไฟฟ้า

“สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในต่างประเทศตอนนี้มีหลายพื้นที่ในโลกที่ต้องติดตามว่าจะเกิดผลกระทบกับไทย และเศรษฐกิจไทยอย่างไร แต่ตอนนี้ผลกระทบยังจำกัด ยกเว้นจะเกิดสงครามขนาดใหญ่และลามจนเป็นสงครามโลก แบบนั้นจะกระทบวงกว้างทุกประเทศ”

นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ได้รับรายงานจากสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองมิลาน (สคต.) ประเทศอิตาลี ที่รายงานสถานการณ์การโจมตีเรือขนส่งสินค้าที่ผ่านทะเลแดงเริ่มกระทบการค้าไทยไปอิตาลี โดยสินค้าส่วนใหญ่ที่ส่งไปอิตาลีจะใช้เส้นทางทะเลแดงและคลองสุเอซ แต่ได้เปลี่ยนเส้นทางตั้งแต่เกิดเหตุการโจมตี

รวมทั้งได้ส่งผลให้บริษัทให้บริการขนส่งสินค้าทางเรือขึ้นค่าระวางตั้งแต่เดือน ม.ค.2567 จากราคาเดิมกว่า 200-300% และระยะเวลาการส่งมอบสินค้าที่เกิดความล่าช้ากว่า 1 เดือน ซึ่งอาจส่งผลให้สินค้าไทยขาดตลาดสำหรับใช้ในด้านการผลิตและจำหน่ายในตลาด

นอกจากนี้ผลกระทบมากไปกว่านั้นคือ ผู้นำเข้าอิตาลีที่นำเข้าสินค้าจากไทย อาจพิจารณาปรับลดการนำเข้า หรือชะลอการนำเข้าสินค้าไทยในช่วงเดือน ม.ค.-ก.พ.2567 หรือจนกว่าสถานการณ์การโจมตีดังกล่าวจะเริ่มคลี่คลาย โดยผู้นำเข้าอิตาลีอาจหันไปนำเข้าสินค้าจากประเทศอื่นที่ไม่ต้องใช้เส้นทางเดินเรือข้ามคลองสุเอซ ซึ่งอาจส่งผลให้มูลค่าการส่งออกสินค้าไทยมายังอิตาลีในช่วงไตรมาสแรกลดลง

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยกล่าวว่า ปี 2567 ก็ถือป็นอีกปีที่ท้าทายมาก โดยเฉพาะประเด็นความขัดแย้งทางภูมิศาสตร์ ทั้งสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐ สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ยังไม่มีข้อยุติ หรือแม้แต่สงครามระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ 

รวมไปกรณีล่าสุดที่กองทัพฮูติโจมตีเรือขนส่งสินค้าเส้นทางทะเลแดง ส่งผลให้มีเรือขนส่งสินค้าจำนวนมากต้องเปลี่ยนเส้นทางเดินเรืออ้อมผ่านแหลมกู๊ดโฮปทางตอนใต้ของทวีปแอฟริกา ส่งผลให้อัตราค่าระวางเรือพุ่งสูเฉลี่ย 200-400%

นอกจากนี้มีปัจจัยสำคัญคือการเลือกตั้งจากทั่วโลกกว่า 50 ประเทศ โดยเฉพาะประเทศสำคัญอย่าง สหรัฐ ไต้หวัน รัสเซีย อินเดีย สหภาพยุโรป และแอฟริกาใต้ ที่ล้วนแต่เป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจขนาดใหญ่และมีอิทธิพลต่อนโยบายเศรษฐกิจโลก

ประเด็นความขัดแย้งทางภูมิศาสตร์ จะมีส่วนกระทบกับประเทศไทยโดยเฉพาะในภาคการส่งออกที่ผู้ประกอบการจะมีต้นทุนที่สูงขึ้น

ทั้งนี้ ในจำนวนการเลือกตั้งดังกล่าวจะมีการเลือกตั้งในระดับประธานาธิบดี ประกอบด้วย ไต้หวันที่ได้ข้อสรุปแล้ว หลังจากนี้จะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐและรัสซีย