‘เศรษฐา’ เตรียมประกาศแผนใหญ่ มี.ค.นี้ อัปเกรดไทยสู่ ‘ฮับการบินภูมิภาค’

‘เศรษฐา’ เตรียมประกาศแผนใหญ่ มี.ค.นี้  อัปเกรดไทยสู่ ‘ฮับการบินภูมิภาค’

"เศรษฐา" เตรียมประกาศแผนใหญ่ไทยฮับการบิน มี.ค.นี้ เล็งลดค่าแลนด์ดิ้งฟรี เพิ่มค่าปรับไฟลต์ดีเลย์ เพิ่มอัตราการต่อเครื่อง พร้อมประกาศแผนลงทุนเพิ่มเติมหลายสนามบินในประเทศ

เมื่อเวลา 18.45 น. วันที่ (29 ม.ค.67) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษในงาน TNN DINNER TALK Thailand Level Up อัปเกรดประเทศไทย ณ ห้องแมกโนเลีย บอลรูม ชั้น 10 โรงแรมวอลดอร์ฟ แอสโทเรีย ถนนราชดำริ เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ  ตอนหนึ่งว่าในเดือนมี.ค.นี้รัฐบาลจะประกาศแผนยกระดับประเทศไทยสู่การเป็น “ฮับการบินของภูมิภาค” (Aviation upgrade) ครั้งใหญ่

ซึ่งประกอบไปด้วยแผนการก่อสร้างสนามบินใหม่ และปรับปรุงสนามบินเดิมทั่วประเทศทั้งสนามบินในภาคใต้ เช่น สนามบินภูเก็ต และสนามบินภาคเหนือที่ จ.เชียงใหม่ รวมไปถึงการก่อสร้างรันเวย์ที่ 3 และ 4 ของสนามบินสุวรรณภูมิ รวมไปถึงการเปิดใช้เทอร์มินอล สุวรรณภูมิ ของสนามบินสุวรรณภูมิที่เริ่มเปิดใช้ อาคารผู้โดยสารใหม่ SAT-1 สนามบินสุวรรณภูมิ ที่เปิดใช้ 2566 รวมไปถึงการปรับปรุงระบบซอฟต์แวร์ของสนามบินอีกหลายแห่งในการให้บริการแก่ผู้โดยสารด้วย

 

“สนามบินสุวรรณภูมิได้มีการออกแบบให้มีอุโมงค์ไว้ 2 อุโมงค์ที่จะเชื่อมไปยังอาคารผู้โดยสารใหม่ ซึ่งทำให้เวลามีการก่อสร้างเส้นทางที่จะเดินทางผ่านรันเวย์มาไม่ต้องมีการปิดรันเวย์เพื่อก่อสร้าง ซึ่งเป็นวิสัยทัศน์ที่รัฐบาลไทยรักไทยได้วางไว้ ทำให้ไม่สูญเสียรายได้ในการที่เครื่องบินจะขึ้นลงในเวลาที่มีการก่อสร้าง จึงมีความพร้อมที่จะก่อสร้างอาคารผู้โดยสารเพิ่มเติมตามแผนที่วางไว้”

สำหรับการวางแผนให้มีนักท่องเที่ยว และผู้โดยสารมาใช้บริการสนามบินในประเทศไทยเพิ่มขึ้นตนได้ให้แนวคิดกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้วว่าต้องมีการปรับเปลี่ยนนโยบายในส่วนของค่าลงจอดอากาศยาน (Landing Fee) กับค่าปรับกรณีลงจอดล่าช้า ซึ่งประเทศไทยคิดค่า Landing Fee สูงแต่ค่าปรับการลงจอดช้าต่ำ ซึ่งตรงนี้ต้องปรับเปลี่ยนสลับกันเป็นการคิดค่า Landing Fee ให้ต่ำ แต่คิดค่าปรับลงจอดช้าหรือดีเลย์ให้แพงขึ้น ซึ่งตรงนี้ก็สามารถดึงดูดเครื่องบินมาลงที่สนามบินเพิ่มขึ้น และจูงใจให้คนมาใช้บริการสนามบินในไทยมากขึ้น

อีกส่วนหนึ่งคือ การเพิ่มอัตราการเปลี่ยนเครื่องต่อเที่ยวบิน (Transit) ของผู้โดยสาร ซึ่งการ Transit ของผู้โดยสารในไทยยังน้อยอยู่มาก เช่น ที่สนามบินสุวรรณภูมิ ในปีที่มีผู้โดยสารสูงถึง 40 ล้านคน มีอัตราการ Transit แค่ 1.5% ขณะที่สนามบินชั้นนำอื่นๆ อยู่ที่ 20 – 30% มากกว่าหลายเท่าตัว

ซึ่งหากทำให้มีการมาต่อเครื่องบินในบ้านเรามากขึ้น ก็จะเห็นความคืบหน้าในการพัฒนาสนามบินของเรา เห็นการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ในสนามบินของเรา เห็นเทคโนโลยีที่จะมาใช้ในสนามบินมากขึ้น ในที่สุดในการแพลนการเดินทางครั้งต่อไปก็จะอยากเดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทย ซึ่งตรงนี้เป็นเรื่องที่เราสามารถทำได้ และรัฐบาลจะประกาศแผนภาพรวมให้ได้เห็นทั้งหมดในเดือนมี.ค.นี้  

           

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์